อึ้ง! เจอกินเหล้าในกีฬาน้องใหม่ ถึง 40 %

ชี้แอลกอฮอล์ ต้นเหตุรับน้องโหด

 

อึ้ง! เจอกินเหล้าในกีฬาน้องใหม่ ถึง 40 %            ประเพณีการรับน้องใหม่ ถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่สืบต่อกันมารุ่นต่อรุ่น ของสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ซึ่งรุ่นพี่มีหน้าที่นำรุ่นน้องไปร่วมทำกิจกรรมสานสัมพันธ์ในกลุ่มนักเรียนนักศึกษา การรับน้องจึงเป็นความเชื่อว่าจะสามารถสร้างความสมัครสมานสามัคคีในกลุ่มเยาวชนเหล่านี้ไป….

 

            แน่นอนว่าทุกปีประเพณีการรับน้องใหม่ อาจมีบางครั้งที่กระทำรุนแรงเกินเหตุหรือเลยเถิดไปบ้าง ดังเช่นกรณี นักศึกษาปี 1 ของคณะวิศวกรรมอุตสาหการ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตกรุงเทพ ที่ตกเป็นเหยื่อรุ่นพี่อย่างเจ็บปวดแสนสาหัสในปีนี้

 

            แต่ที่น่าตกใจกว่า … คือจากการสำรวจพบว่า กว่า 40 เปอร์เซ็นต์ ของการแข่งขันกีฬารับน้องใหม่ มีระดับการดื่มแอลกอฮอล์เพิ่มสูงขึ้น

 

            เกี่ยวกับกรณีดังกล่าว ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่อาจนิ่งนอนใจได้ เครือข่ายเยาวชนเฝ้าระวังเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ จึงร่วมมือกับสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ ส่งกำลังเข้าไปสำรวจความคิดเห็นของนักศึกษา 15 สถาบัน ในหัวข้อ กิจกรรมน้องใหม่ กีฬาน้องใหม่ ปี 51 กับพฤติกรรมการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พบว่า กลุ่มตัวอย่างกว่า 88.5 เปอร์เซ็นต์ คิดว่าการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นเรื่องปกติ

 

            ในเรื่องนี้ นายสุโศภะ เพ็ญสมโภช นายกสโมสรมหาวิทยาลัยรังสิต ได้ลงพื้นที่สำรวจอย่างใกล้ชิด เล่าให้เราฟังว่า กิจกรรมการรับน้อง เกือบ 60% เห็นว่าต้องเล่นเกมตื่นเต้นเชิงชู้สาวกันบ้าง 38.1% ยอมรับผู้ชายต้องถูกถอดเสื้อ ผู้หญิงต้องแสดงท่ายั่วยวน 24.9% ต้องมีตบ ตี ต่อย ให้น้องอดทน 37.5% กิจกรรมเสี่ยงอันตรายยังจำเป็น 55.3%  การดุด่า หยาบคาย เช่น กู มึง ไอ้ อี เป็นเรื่องธรรมดา

 

            ทั้งนี้ 77.2% ยอมรับว่าการดื่มเหล้ามีส่วนกระตุ้นให้อยากมีเพศสัมพันธ์ 92.4% เชื่อว่าจะทำให้ทะเลาะกันง่ายขึ้น และ 84.9% บอกว่าเหล้ามีส่วนทำให้รุ่นพี่สั่งรุ่นน้อง ทำสิ่งที่ไม่เหมาะสม เช่น ให้ผู้ชายถอดเสื้อ ทำสิ่งอันตราย ทำพฤติกรรมเชิงชู้สาว

 

            นายสุโศภะ บอกอีกว่า สิ่งที่น่าห่วงคือ เมื่อถามถึงการประชุมเชียร์ และซ้อมกีฬารับน้อง รุ่นพี่และน้องใหม่เกิน 40% บอกว่า มีการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในการประชุมเชียร์ เกือบ 40% เคยเห็นการดื่มเหล้าทั้งในการซ้อม และการแข่งขันกีฬาน้องใหม่ โดยนิสิตนักศึกษาปี 1- 4 ถึง 32% ยอมรับว่า ในการประชุมเชียร์ การซ้อม การแข่งขันกีฬาน้องใหม่ ถ้าถูกชวนให้ดื่มเหล้า จะดื่มทุกครั้ง ซึ่งประมาณ 40 % เคยพบเห็นการดื่มเหล้าในการแข่งกีฬาอื่นๆของมหาวิทยาลัย 

 

            นอกจากนี้กลุ่มตัวอย่างยังระบุว่าเคยเห็นบุคคลเหล่านี้ ดื่มเหล้าในสถานศึกษาคือ 12.8% อาจารย์ 71% รุ่นพี่ 31.4% รุ่นน้อง 65.5% เพื่อน คนที่มีอิทธิพลเมื่อเห็นดื่มเหล้าแล้วอยากดื่มตามคือ 1.เพื่อน 2.รุ่นพี่ 3.รุ่นน้อง 4.อาจารย์ เมื่อถามกลุ่มตัวอย่างชั้นปีที่ 1  ว่าหากรุ่นพี่ชวนดื่มจะดื่มหรือไม่  39.7 %  ตอบว่าไม่แน่ใจ  อาจดื่ม  และ 54%  ตอบว่าไม่ดื่มอย่างแน่นอน  แสดงว่านักศึกษาส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับการดื่มเหล้า  แต่ก็อาจเปลี่ยนพฤติกรรมได้ด้วยอิทธิพลของรุ่นพี่

 

            ด้าน นพ.บัณฑิต ศรไพศาล ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ บอกถึงสาเหตุของการเกิดความรุนแรงในการรับน้องว่าเกิดจากการดื่มสุรา เนื่องจากในช่วงวัยรุ่นนั้น สมองในส่วนของอารมณ์ความรู้สึก ความรัก เจริญเติบโตอย่างเต็มที่ มักใช้อารมณ์นำเหตุผล จึงมักมองไม่เห็นถึงผลที่จะตามมาของการดื่มเหล้า ดื่มเบียร์ ในขณะเดียวกันสมองในส่วนเหตุผล มโนธรรม จริยธรรม ยังเติบโตไม่เต็มที่ บวกกับเจอเหล้าเข้าไป สิ่งดีงามที่อยู่ในจิตสำนึกก็ถูกละลายไป ทำให้เกิดการแสดงพฤติกรรมที่รุนแรง เลวร้ายออกมา

 

            เป็นสิ่งที่น่าห่วงอย่างมาก เพราะเยาวชนไทย เห็นการดื่มเหล้าเป็นเรื่องปกติ และสถานการณ์จะเข้าขั้นอันตรายมากขึ้น หากสังคม และภาครัฐ ไม่มีการรณรงค์ป้องกัน หรือควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เชื่อว่าต่อไปในอนาคตจะเกิดความรุนแรงตามมายิ่งขึ้นไปอีกอย่างแน่นอน เพราะวัยรุ่นจะหันมาดื่มเหล้าเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด อนาคตประเทศไทยอาจกลายเป็นประเทศที่มีคนดื่มเหล้าสูงเทียบเท่าชาวสหรัฐฯ ยุโรป ที่มีประชากรดื่มเหล้าสูงถึง 80-90% ของประชากรทั้งประเทศ ปัจจุบันสถิติการดื่มเหล้าของคนไทยอยู่ที่ 40%”

 

ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ ยังบอกอีกว่า สาเหตุที่วัยรุ่นไทยเห็นว่าการดื่มเหล้าเป็นเรื่องปกติ และดื่มเพิ่มขึ้นเป็นผลจากพฤติกรรมเลียนแบบ โดยเฉพาะเด็กที่มีคนในครอบครัวดื่มเหล้าให้เห็นเป็นประจำ เด็กจะมีโอกาสติดเหล้าสูง เพราะถูกปลูกฝังทัศนคติจากพฤติกรรมของคนในครอบครัวจนเห็นการดื่มเหล้าเป็นเรื่องปกติ  การโฆษณาของบริษัทที่ประกอบธุรกิจแอลกอฮอล์ก็เป็นอีกหนึ่งแบบอย่างที่พยายามปลูกฝังค่านิยมว่า ดื่มเหล้าแล้วหล่อ เท่ห์ สวย หรือประสบความสำเร็จในชีวิต ซึ่งสิ่งเหล่านี้สามารถก่อเกิดเป็นแรงจูงใจให้เด็กติดแอลกอฮอล์ได้นพ.บัณฑิต กล่าวด้วยน้ำเสียงมีแววกังวล

ในส่วนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สสส. เองก็ได้รณรงคืต่อต้านเรื่องนี้มาตลอด โดย ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ รองผู้จัดการ สสส. ได้ออกมาเผยว่า สสส. ได้ดำเนินการรณรงค์การรับน้องไม่ให้มีความรุนแรง ให้รับน้องอย่างสร้างสรรค์มาอย่างต่อเนื่อง และได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี แต่อย่างไรก็ตามเมื่อเกิดปัญหาขึ้นทาง สสส. และภาคีเครือข่าย ได้ดำเนินการติดตามและวิเคราะห์เป็นข้อมูล ขยายผลเพื่อให้เกิดการป้องกัน โดยในปีการศึกษา 2551 นี้ นอกจาก สสส.จะให้การสนับสนุนโครงการรับน้องปลอดเหล้าแล้ว ยังขยายการสนับสนุนไปสู่กีฬารับน้องใหม่ด้วย ขณะนี้หากนิสิตนักศึกษา มีโครงการเกี่ยวกับ กีฬา ประเพณี และศิลปวัฒนธรรมในสถาบันการศึกษา สามารถขอรับทุนสนับสนุนกิจกรรมได้ที่แผนงานทุนอุปถัมภ์เชิงรุกเพื่อสนับสนุนกิจกรรมปลอดเครื่องดื่ม แอลกอฮอล์ในสถานศึกษา  สำนักวิชาวิทยาศาสตร์การกีฬาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย   โทรศัพท์ 02-2181006 หรือ ดาวน์โหลดแบบฟอร์มเสนอโครงการได้ที่  www.thaihealth.or.th

 

           รองผู้จัดการ สสส. ยังกล่าวต่ออีกว่า ประเพณีการรับน้องที่มีแอลกอฮอล์มาพ่วง เป็นประเพณีที่สืบทอดกันมาเป็นเวลาหลาย 10 ปีมาแล้ว ซึ่งหากเราต้องการที่จะละลายพฤติกรรมเหล่านี้ ต้องทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งการรณรงค์ที่ผ่านมาถือได้ว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก เพราะมีนักศึกษาเพียง 19.5 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่ยังนำเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มาใช้ในการรับน้องอยู่ เชื่อว่าหากมีการรณรงค์อย่างต่อเนื่องปัญหานี้จะหมดไปในไม่ช้า

 

            ไม่น่าเชื่อเลยว่า ประเพณีการรับน้อง ที่ถ่ายทอดกันมารุ่นสู่รุ่น จากกิจกรรมที่มีประโยชน์ สานความสัมพันธ์ระหว่างรุ่นพี่และเพื่อนใหม่ แต่เมื่อมีน้ำเปลี่ยนนิสัยอย่าง เหล้า เข้ามาเกี่ยวข้อง สามารถทำให้เยาวชนของชาติคนตกเป็น เหยื่อ ในการรับน้องโหดได้ซ้ำแล้วซ้ำอีก และจะยังมีอีกไม่รู้อีกซักกี่คนที่จะตกเป็น เหยื่อ รายต่อไป

 

 

 

 

เรื่องโดย : อารยา สิงห์สวัสดิ์ Team Content www.thaihealth.or.th

 

 

Update 19-06-51

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

ระบุข้อความ