อิ่มและดี 2030 Healthy Diets for All สร้างระบบอาหารที่ยั่งยืนรับมือวิกฤต

ที่มา : แนวหน้า


อิ่มและดี 2030 Healthy Diets for All สร้างระบบอาหารที่ยั่งยืนรับมือวิกฤต thaihealth


แฟ้มภาพ


วิกฤตโควิด-19 สะท้อนให้เห็นชัดเจนว่าโลกยังเปราะบางเรื่องระบบอาหาร ขณะเดียวกัน แต่ละประเทศก็มีขีดความสามารถในการผลิตที่ไม่อาจทำให้ทุกคนเข้าถึงอาหารอย่างทั่วถึงปลอดภัย และดีต่อสุขภาพ


ส่วนสถานการณ์การเข้าถึงอาหารของคนไทยนั้น ยังกินผักและผลไม้ไม่เพียงพอตามเกณฑ์แนะนำ โดยเฉพาะเด็ก ๆ ยังห่างจากเกณฑ์แนะนำอยู่มาก แม้ผลการศึกษาจะพบว่าคนไทยกินผักและผลไม้เพิ่มมากขึ้นก็ตาม แต่เมื่อมีการแพร่ระบาดของโรค โควิด-19 สถานการณ์ได้เพิ่มความท้าทายในการส่งเสริมความมั่นคงทางอาหารมากขึ้นไปอีก โดยเฉพาะการกินผักและผลไม้ เมื่อพบว่าในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 คนไทยกลุ่มที่มีรายได้น้อยกินผลไม้ลดลงถึงร้อยละ 47.1


จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นนี้เอง 3 องค์กร อย่าง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ได้ประกาศความร่วมมือการขับเคลื่อนระบบอาหารที่ยั่งยืน "อิ่มและดี 2030"  Healthy Diets for All และขับเคลื่อนผักให้เป็นวาระแห่งชาติ โดยมุ่งเน้นผนึกกำลังทุกภาคส่วน ร่วมกันวางแผนพัฒนาอนาคตของภาคเกษตรไทย ฟื้นเศรษฐกิจไทยกลับสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ตามแนวทางและมาตรการที่มุ่งเน้นการพลิกโฉมระบบอาหาร ไปสู่ระบบอาหารที่ดี ยั่งยืน และเป็นธรรมมากขึ้น มุ่งสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals 2030 : SDGs)ทั้ง 17 ข้อ ภายในปี 2573 โดยเฉพาะเป้าหมายด้าน "การยุติความหิวโหย การบรรลุความมั่นคงทางอาหาร ปรับปรุงภาวะโภชนาการ และส่งเสริมเกษตรกรรมยั่งยืน"ซึ่งจะนำเสนอในการประชุมสุดยอดผู้นำระบบอาหารโลก (UN Food Systems Summit 2021: UNFSS 2021)


ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมานั้น ระบบอาหารทั่วโลกมีปัญหามาต่อเนื่อง กระทั่งชัดเจนมากยิ่งขึ้นเมื่อเกิดการแพร่ระบาดโควิด-19 บางประเทศเกิดภาวะอาหารขาดแคลนเฉียบพลัน บางประเทศมีไม่เพียงพอ หรือจะมีการใช้สารเคมีที่ส่งผลกระทบต่อผู้บริโภค


ด้วยเหตุนี้ นายอันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ จึงประกาศว่าถึงเวลาที่ผู้นำโลกจะต้องร่วมกันปรับเปลี่ยนระบบอาหาร food system โดยมีแนวทาง 5 ประการ คือ 1.ทุกคนต้องเข้าถึงอาหารเพียงพอและดีต่อสุขภาพ 2.การผลิตอาหารต้องไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม 3.สร้างความเท่าเทียม ลดเหลื่อมล้ำในการดำรงชีพ  เสริมสร้างบทบาทคนในชุมชนในระบบอาหารอย่างจริงจัง 4.ระบบอาหารที่ให้ยืดหยุ่น หากเกิดโรคระบาด ระบบอาหารสามารถหล่อเลี้ยงคนทั้งโลกได้ และ 5 .สร้างบรรยากาศส่งเสริมการปรับเปลี่ยนสมดุลใหม่ของระบบอาหาร


ดร.ธนวรรษ เทียนสิน ประธานคณะกรรมการความมั่นคงอาหารโลก (CFS) และผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ระบุว่า การประกาศของสหประชาชาติดังกล่าว ได้มี 147 ประเทศตอบรับการปรับเปลี่ยนระบบอาหาร ซึ่งรวมทั้งประเทศไทยด้วย จะต้องรายงานความคืบหน้าของการดำเนินทุก ๆ 2 ปี


เมื่อมีเป้าหมายในการปรับเปลี่ยนระบบอาหารที่ยั่งยืน สามองค์กรหลักที่เป็นแม่งานจึงต้องทำงานอย่างหนักเพื่อให้บรรลุ เป้าหมาย โดยสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ได้กำหนดให้ภายใน 5 ปี หรือ 2568 ประเทศไทยจะต้องมีความมั่นคงทางอาหาร อันเป็นผลมาจากมติในที่ประชุมสมัชชาสุขภาพครั้งที่ 13 ปี 2563 เช่นเดียวกับการเห็นชอบกรอบและแนวทางการขับเคลื่อนด้านความมั่นคงทางอาหารในภาวะวิกฤต ซึ่งมีสาระสำคัญในการดำเนินการในระดับนโยบาย เช่น การบัญญัติ "สิทธิในอาหาร"ไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย โดยกำหนดเป้าหมายร่วม เพื่อให้ประเทศไทยมีความพร้อมและสามารถจัดการปัญหาเพื่อ "ความมั่นคงทางอาหารในภาวะวิกฤต"


นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ระบุว่า การสร้างความมั่นคงทางอาหารจะต้องกำหนดนโยบายทุกภาคส่วน สร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนในการมีส่วนร่วมการจัดการ การกระจาย การเชื่อมโยงผลผลิตสู่ผู้บริโภคหากเกิดภาวะวิกฤตและเข้าถึงอาหารอย่างเป็นธรรมประเทศไทยพร้อมหรือไม่สำหรับการปรับเปลี่ยนระบบอาหารที่ยั่งยืน ในส่วนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เชื่อมั่นว่าด้วยความพร้อมด้านภูมิศาสตร์และเกษตรกรรม ประเทศไทยสามารถทำตามเป้าหมายได้อย่างแน่นอน ดังเห็นได้จากภาคการเกษตรได้รับผลกระทบจากโควิด-19 น้อยมาก เพราะมีพื้นฐานด้านเกษตรที่แข็งแรง


นายทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เผยถึงการขับเคลื่อนระบบอาหารที่ยั่งยืนนั้น กระทรวงเกษตรได้กำหนดนโยบาย 3S คือ  safety ความปลอดภัยของอาหาร ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ security ความมั่นคงทางอาหาร จะเกิดจากผู้ผลิตพัฒนาศักยภาพ ระบบงานวิจัยต่อยอด และ sustainability ความยั่งยืน ตามกรอบการทำงานใน 5 เป้าหมาย โดยให้คำจำกัดความว่า "อิ่มดี" ประกอบด้วย อิ่มดีถ้วนหน้า อิ่มดีมีสุข อิ่มดีรักโลก อิ่มดีทั่วถึง และ อิ่มดีทุกเมื่อ เพื่อการสร้างระบบอาหารให้ยั่งยืนในปี 2030


เช่นเดียวกับ น.สพ.ยุคล ลิ้มแหลมทอง ประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนความมั่นคงทางอาหารตลอดห่วงโซ่ คณะกรรมการอาหารแห่งชาติ ที่ระบุว่า ยุทธศาสตร์จัดการด้านอาหารของคณะกรรมการอาหารแห่งชาติ มี 4 ด้าน คือ 1.สร้างสมดุลเพื่อ ประสิทธิภาพในการจัดการ 2.อาหารที่มีคุณภาพและความปลอดภัย คุ้มครองผู้บริโภค 3.ด้านอาหารศึกษา องค์ความรู้กระจายองค์ความรู้ สู่ชุมชนและผู้บริโภค และ 4.การบริหารจัดการ การจัดทำฐานข้อมูลด้านอาหาร ซึ่งมีการตั้งคณะกรรมการทั้ง 4 ด้านขับเคลื่อนการ ดำเนินงานจำเพาะ ซึ่งเป็นการปรับแผนระดับชาติสู่แผนภาคปฏิบัติ


ส่วนสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่ตลอด 20 ปีของการทำงาน มีวัตถุประสงค์ชัดเจนคือ การสร้างเสริมสุขภาพให้คนไทยมีสุขภาพดี ทั้ง 4 มิติ ได้แก่ กาย จิต ปัญญา สังคม ซึ่งอาหารเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ และมีรูปแบบการสร้างอาหารที่ยั่งยืน เชื่อว่า ภาวะวิกฤตโควิด-19 ประเทศไทยไม่ได้รับผลกระทบมากนักในเรื่องระบบอาหาร เพราะมีระบบอาหารค่อนข้างดีมาอย่างยาวนาน เป็นครัวของโลก ข้อมูลเหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญให้นานาชาติได้เข้ามาเรียนรู้ เพื่อเป้าหมายเดียวกัน


ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ชี้ถึงการสร้างระบบอาหารที่ยั่งยืนว่า สำคัญสุดคือการขับเคลื่อนในประเทศ เรื่องอาหารควรอยู่ในทุกแผน ถือเป็นเป้าหมายหลักที่ต้องได้รับการสนับสนุนทุกภาคต้องมาร่วมกัน ในการสร้างอาหารเพียงพอและคุณภาพ กระจายให้ทั่วถึง ซึ่ง สสส.เข้ามามีส่วนร่วมข้อมูลวิชาการ ผลักดันนโยบาย ขับเคลื่อนรณรงค์สังคมให้ตระหนักในระบบอาหาร เพื่อสุขภาพดี กินดี อยู่ดี ระบบเศรษฐกิจชุมชนจะอยู่ได้ ด้วยระบบอาหารที่เป็นธรรม


อย่างไรก็ตาม สสส. มีเป้าหมายระยะสั้นที่ไปเสริม เป้าหมายระยะยาวให้สำเร็จได้ คือการบรรจุเรื่องของการกินผัก หรือให้ผักเป็นวาระแห่งชาติให้อยู่แผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับที่ 13 ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ในกระบวนการร่างแผน หากสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเห็นด้วย หรืออย่างน้อยระบุเรื่องเกี่ยวกับระบบอาหารในแผน ก็อาจทำให้แนวทางการขับเคลื่อนเพื่อเป้าหมายที่แท้จริงเป็นไปได้ในทางปฏิบัติมากขึ้น


การประกาศความร่วมมือขับเคลื่อนระบบอาหารที่ยั่งยืนของทั้ง 3 หน่วยงานครั้งนี้ จะทำให้เกิด 1.การจัดตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจ Healthy Diets for All เพื่อต่อยอดความร่วมมือให้เกิดผลเป็นรูปธรรม 2.การสร้างองค์ความรู้และระบบรองรับการดำเนินงาน 3.การพัฒนาระบบการจัดการร่วมกันเชิงนโยบายสู่การปฏิบัติ และ 4.การสื่อสารสังคม เพื่อเสนอประเด็นสำคัญต่อสาธารณะ จนเกิดการรับรู้ ตระหนัก และสานเสริมพลังขับเคลื่อนระบบอาหารที่ยั่งยืน


การพลิกโฉมระบบอาหารที่จะเกิดขึ้นนี้ นอกจากจะช่วย เสริมสร้างสุขภาพและความมั่นคงทางอาหารยามวิกฤตเป็นสิ่งสำคัญแล้ว นี่คือพลังฐานรากของเศรษฐกิจที่มั่นคงของประเทศ

Shares:
QR Code :
QR Code