อินทรีย์…อินเทรนด์
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์
ภาพประกอบจากแฟนเพจเชียงใหม่ เขียว สวย หอม
ความพยายามของคนกลุ่มเล็กๆ ที่ไม่เพียงต้องการสร้างเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม หากแต่ยังมองลึกไปถึงผู้บริโภคซึ่งถือเป็นกลไกสำคัญในวงจรอาหาร เพราะหากพฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนมาสู่วิถีการบริโภคที่ตระหนักถึงสุขภาพของตัวเองมาก่อนสิ่งอื่น เครือข่ายเกษตรอินทรีย์ก็เติบโตไปพร้อมกันได้ไม่ยาก
นั่นจึงเป็นที่มาของงานเสวนาวาระพิเศษ "อินทรีย์ อินเทรนด์" โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มีโชค พลาซ่า ร่วมด้วยมูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ, เครือข่ายเชียงใหม่ เขียว สวย หอม และฮักเวียงช็อป
"ผมไปสอนที่แม่โจ้ปีที่ 5 ไปเรียนรู้เด็กก็ได้ข้อมูลหลายเรื่องมาก โดยเฉพาะเรื่องการกิน เด็กกินแบบประหยัดครับ กินมาม่า อาหารสำเร็จรูป แล้วก็อยากเก็บเงินไว้ไปเที่ยว ส่วนใหญ่ประหยัดแล้วใช้ชีวิตเปลือง ขณะที่อาหารที่ขายอยู่ในมหาวิทยาลัยก็จะมีเมนูเหมือนกันตลอดทั้งปี ใช้วัตถุเดียวกันทั้งปี โดยเฉพาะกะหล่ำปลี และถั่วงอกขาว พวกนี้เป็นผักนอกฤดูกาลเจอสารเคมีและสารฟอกขาวแน่ เราทำความเข้าใจกับแม่ครัวให้มีการปรับเปลี่ยนใช้ถั่วงอกหัวกลมและผักพื้นบ้านอย่างผักกูดแทน แต่ปรากฏว่าเด็กกินไม่เป็น" ดร.ชมชวน บุญระหงส์ วิทยาลัยบริหารศาสตร์ ม.แม่โจ้ สถาบันชุมชนเกษตรกรรมยั่งยืน (ISAC) เล่าถึงข้อเท็จจริงที่พบ
พลอยไพลิน ทองธรรมชาติ กลุ่มรักษ์ล้านนา ก็เป็นอีกคนที่เคยผ่านประสบการณ์แบบที่ว่ามาแล้ว "ตัวเองก็เป็นผู้บริโภครุ่นใหม่ที่แสวงหาสิ่งที่กินแล้วปลอดภัย ตอนเป็นวัยรุ่นเราไม่คิดอะไร เหมือนที่อ.ชมชวน บอกเลย ไปร้านสะดวกซื้อ กินง่ายๆ ไม่ได้สนใจ เพราะว่าตอนนั้นแข็งแรงไม่ได้สนใจเรื่องสุขภาพ คนอายุรุ่นอาจารย์อายุ 30 อาจจะสุขภาพไม่โทรมเท่ารุ่นเราตอนอายุ 30 รู้สึกว่าเริ่มไม่ไหวแล้ว ที่ผ่านมาเรากินอะไรเราไม่เคยสนใจว่ามันมาจากไหนหรือว่าใครปรุง ขอให้อร่อย ง่าย ไม่แพง เท่านั้นจบ แล้วเอาเวลาไปทำอย่างอื่น ไม่ได้คิดถึงสิ่งที่เอาเข้าปากไปมันเป็นพิษเป็นภัยหรือเปล่า อาจเพราะวิชาชีพสถาปนิกที่แทบไม่มีเวลามาคิดถึงเรื่องอาหารการกินด้วย แต่วันนี้กลับต้องมาหาอาหารปลอดภัยไม่ใช่เฉพาะกับตัวเอง แต่รวมถึงคนรอบข้างด้วย"
การบริโภคแบบที่ไม่ตระหนักถึงสิ่งที่รับเข้าสู่ร่างกาย ส่งผลให้เด็กและเยาวชนต้องตกอยู่ในสภาวะการมีสารเคมีตกค้างอยู่ในร่างกายจำนวนมาก ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อสุขภาพ แต่เพราะภาพลักษณ์ของอาหารปลอดสารหรืออินทรีย์นั้นมีราคาค่อนข้างแพงกว่าเป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจ ขณะเดียวกันวิถีชีวิตของคนรุ่นใหม่ที่เป็นแบบเอาสะดวกเข้าว่า ซื้อสำเร็จกินได้เลยไม่ต้องเสียเวลามานั่งทำกับข้าวเองก็เป็นอีกปัจจัยสำคัญ
"เคยลองเปิดตลาดในโรงเรียนเอาผักไปขายปรากฏว่าไม่ได้ขาย เกษตรกรก็เริ่มเรียนรู้ความต้องการของเด็กทำข้าวต้มมัด ทำผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์แปรรูป ข้าวแต๋น ปรากฏว่าขายดีมาก เช่นเดียวกับที่กาดแม่โจ้ 2477 หลังจากขาดทุนมาหลายสัปดาห์ คนมาน้อย คนขายเริ่มมาน้อย เพราะสินค้าส่วนใหญ่เป็นสินค้าสดแต่คนหมื่นกว่าคนไม่ทำกับข้าวกินเอง เทศบาลจึงชวนกลุ่มทำอาหารพร้อมทานเข้าร่วม เปลี่ยนจากของสดมาเป็นของพร้อมทาน ครั้งที่รณรงค์เรื่องปลาคนมาเยอะมากขายครึ่งวันหมดแล้ว ของแปรรูปเริ่มมา คนเริ่มเยอะขึ้น การจะเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภค เราต้องรู้ว่าผู้บริโภคคือใคร เขามีพฤติกรรมการกินอย่างไร" อ.ชมชวน ยกตัวอย่าง
นัยนา หวายคำ ผอ.มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ กล่าวว่า ที่ผ่านมาโครงการชุมชนอินทรีย์เพื่อสร้างสุขภาวะและสังคมที่เป็นธรรมก็พยายามที่จะเชื่อมโยงกับผู้ผลิต ผู้ประกอบการและผู้บริโภค โดยให้มีแหล่งที่ผู้บริโภคสามารถมาซื้อสินค้าได้ และเป็นแหล่งที่ผู้ผลิตสามารถนำสินค้าที่ผลิตมาวางจำหน่ายที่ตลาด อย่างร้านฮักเวียงช็อป มีตลาดผู้บริโภคทุกวันเสาร์ ผู้บริโภคก็สามารถมาหาสินค้าพร้อมนำไปปรุงอาหารได้ และทางร้านฮักเวียงช็อปก็พยายามพัฒนาการส่งตามบ้านด้วย ก็พยายามทุกวิถีทางที่จะนำอาหารไปถึงมือผู้บริโภคให้ได้
หากแต่การกระจายสินค้าไปยังผู้บริโภคแบบผู้ซื้อพบผู้ขายโดยตรงยังคงมีข้อจำกัด เพราะกลไกตลาดที่มีพ่อค้าคนกลางที่ต้องการของถูกจำนวนมาก มากกว่าของดีและปลอดภัยที่อาจยังมีสัดส่วนจำกัด นั่นจึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ผลผลิตเกษตรอินทรีย์ยังคงถูกมองว่ามีราคาแพง แต่สิ่งที่ทุกคนอยากให้เกิดขึ้นคือราคาที่เป็นธรรม ไม่ใช่ถูกหรือแพง เกษตรกรไม่ขาดทุน ผู้บริโภคก็ได้สินค้าปลอดภัยในราคาเป็นธรรม
อ.ชมชวน กล่าวต่อว่า เรื่องระบบเกษตรอินทรีย์เป็นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างผู้ผลิตกับผู้บริโภคในชุมชนในท้องถิ่น เป็นการจัดระบบอาหารของท้องถิ่นอย่างน้อยในรัศมี 5-10 กิโล เกษตรกรพบกับผู้บริโภคโดยตรง เป็นรูปแบบตลาดขายตรงแบบญี่ปุ่น ก่อนจะพัฒนาต่อยอดให้ขยายวงกว้างมากขึ้น เมื่อไหร่ที่เกษตรกรและผู้บริโภคอยู่ใกล้กัน มันคลิกกัน สถานที่ไม่ต้องมีก็ได้ แค่ให้มีตลาดเกิดขึ้น ไม่ต้องไปเสียเรื่องหีบห่อ ไม่ต้องไปเสียแอร์ ไม่ต้องไปเสียค่าจ้างคนขาย แต่ปัญหาคือบ้านเรา พฤติกรรมผู้บริโภคบ้านเรายังไม่เปลี่ยน
ขณะที่ ผอ.มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ เห็นว่า การตลาดผ่านระบบออนไลน์และการสร้างระบบการขนส่งที่เข้มแข็งขึ้น จะมาเป็นจุดเปลี่ยนให้กับเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ โดยยกตัวอย่างผู้ค้ารายหนึ่งที่มีผู้บริโภคถึง 600 ราย ภายในระยะเวลาเพียง 3 ปี หลังจากเริ่มต้นธุรกิจส่งผักถึงหน้าบ้าน โดยผู้ซื้อสามารถเลือกสินค้าที่ต้องการ ชำระเงิน ระบุหรือเปลี่ยนแปลงคำสั่งซื้อได้แบบเบ็ดเสร็จ จาก 3 รายในวันเริ่มต้นจึงกลายเป็น 600 ราย ได้ไม่ยาก
ดังนั้นการพัฒนาต่อยอดเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ให้ขยายวงกว้างมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันจึงไม่ใช่เรื่องยากเช่นกัน หากรู้จักที่จะนำเทคโนโลยีที่มีอยู่มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
อ. ชมชวน ทิ้งท้ายว่า เกษตรอินทรีย์เป็นกระแสหลักแน่นอน เคมีจะเป็นกระแสรอง แต่ยังติดตรงที่วิธีคิดของผู้บริโภคยังไม่เปลี่ยน มีเพียงกลุ่มหนึ่งที่เป็น Green Consumer ทั้งวิธีคิดและวิถีปฏิบัติ แต่หากการเข้าถึงง่ายขึ้นคนก็จะหันมาสนใจมากขึ้นและพร้อมที่จะเปลี่ยนจากเคมีเป็นอินทรีย์ แต่ก็ยังมีเรื่องน่าห่วงเมื่อการขนส่งสะดวกขึ้นสินค้าเกษตรอินทรีย์จากประเทศเพื่อนบ้านอาจเข้ามาตีตลาด เกษตรกรไทยก็จะประสบกับภาวะลำบากอีกครั้ง หากราคายังเป็นเหตุผลหลักในการเลือกซื้อ ดังนั้นผู้บริโภคต้องเข้าใจด้วยว่าเราจะกำหนดอนาคตสังคมของเราอย่างไร จะกำหนดนโยบายท้องถิ่นอย่างไร จะสร้างท้องถิ่นของเราให้พึ่งตนเอง ทั้งเกษตรกรและผู้บริโภคต่างเป็นเพื่อนกันได้ คือมีความสัมพันธ์มากกว่าแค่ผู้ซื้อกับผู้ขาย
หัวใจสำคัญก็คือว่า เราจะสนับสนุนดูแลพี่น้องเกษตรกรซึ่งเป็นผู้ผลิตอาหารที่ดีให้เราได้อย่างไร เราจะให้เขามีคุณภาพชีวิตได้อย่างไร
สนใจเรื่องราวของเกษตรอินทรีย์ไปพบกันได้ที่ "เทศกาลชุมชนอินทรีย์เชียงใหม่" (Chiang Mai ORGANIC Community Festival) 13-14 สิงหาคม นี้ ณ หอศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่