‘อาหารใส่บาตร’ ทำลายสุขภาพพระสงฆ์

'อาหารใส่บาตร' ทำลายสุขภาพพระสงฆ์ thaihealth


แฟ้มภาพ


คนไทยยังติดค่านิยมที่ว่าอาหารใส่บาตร ถวายแด่พระสงฆ์ต้องเป็นเนื้อสัตว์ แกงกะทิ  ขนมหวาน  เมนูที่ปรุงจากผักไม่เหมาะที่จะถวายพระ  อาหารดังกล่าวพระสงฆ์รับประทานเป็นประจำ อีกทั้งไม่ได้มีอิริยาบถเคลื่อนไหวได้เท่ากับคนทั่วไป ทำให้พระสงฆ์อ้วนลงพุง  เป็นสาเหตุของโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง กลุ่มโรค NCDs ได้แก่ความดัน เบาหวาน โรคหัวใจ จนถึงโรคมะเร็ง


คณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดำเนินโครงการ "ครัวต้นแบบสงฆ์โภชนาการดี" ภายใต้โครงการวิจัย การขับเคลื่อนสื่อโภชนาการสงฆ์ไทยไกลโรค เพื่อสงฆ์ไทยเข้มแข็งและยั่งยืน ได้รับ การสนับสนุนจากสำนักสุขภาวะองค์กร สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริม สุขภาพ (สสส.) เพื่อส่งเสริมสุขภาพของพระสงฆ์ป้องกันการเกิดโรค


รองศาสตราจารย์ ดร.จงจิตร อังคทะวานิช หัวหน้าโครงการครัวต้นแบบสงฆ์โภชนาการดี กล่าวว่า ปัญหาเรื่องโภชนาการและโรคเรื้อรังในพระสงฆ์เป็นประเด็นสุขภาพที่ได้รับความสนใจจาก สสส.ให้การสนับสนุน โครงการสงฆ์ไทยไกลโรคมาตั้งแต่ปี 2554 เพื่อให้ศึกษาวิจัยและพัฒนาวิธีการดูแลภาวะโภชนาการพระสงฆ์อย่างยั่งยืน ซึ่ง จากการสำรวจค่ารักษาพยาบาลของพระสงฆ์ในโรงพยาบาลสงฆ์และโรงพยาบาลของรัฐพบว่ามีค่าใช้จ่ายปีละ 300 ล้านบาท


โครงการดำเนินการในเวลา 5 ปี ได้ศึกษาปัญหาภาวะโภชนาการในพระสงฆ์อย่างลึกซึ้ง ด้วยวิธีวิจัยเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพพบว่าพระสงฆ์มีโรคอ้วน 48% โรคเบาหวาน 10.4% โรคคอเลสเตอรอลสูง 42% และโรคความดันโลหิตสูง 23% ถ้าเปรียบเทียบพระสงฆ์กับชายไทย พระสงฆ์อ้วนมากกว่า และมีโรคเบาหวานมากกว่าชายในกรุงเทพฯ


รองศาสตราจารย์ ดร.จงจิตร กล่าวว่า ผลการวิจัยพบปัจจัยสำคัญ 4 ประการ ได้แก่ โภชนา ปานะ กายะ กิจกรรม ดังนั้นการแก้ไขปัญหาให้ได้ผลควรทำทั้ง 4 เรื่องนี้ไปพร้อมกัน คือ อาหาร เครื่องดื่ม การระวังรอบเอว และการออกกำลังเพิ่มขึ้นโดยโครงการได้พัฒนาสื่อสงฆ์ไทยไกลโรคสำหรับพระสงฆ์ และสำหรับฆราวาสและแม่ครัวและผู้ปรุงอาหารใส่บาตร


ผลการทดลองใช้สื่อสงฆ์ไทยไกลโรค ในพระสงฆ์ใน กรุงเทพฯ เป็นเวลา 8 สัปดาห์ พบว่า พระสงฆ์มีน้ำหนักลด 1 กิโลกรัม รอบเอวลด  1.4 ซม. กลุ่มที่กำลังจะเกิดเบาหวานมีจำนวนลดลง 9.3% ไขมันคอเลสเตอรอลในเลือดลดลง 48 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ไขมันไตรกลีเซอไรด์ลดลง 30 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์  และความดันโลหิตลดลง 3.7 มม. ปรอท


'อาหารใส่บาตร' ทำลายสุขภาพพระสงฆ์ thaihealthหัวหน้าโครงการครัวต้นแบบสงฆ์โภชนาการดี ความยั่งยืนของโครงการจะเกิดขึ้นได้ต้องมีตัวอย่างการจัดการด้านโภชนาการที่เป็นรูปธรรม จึงนำโครงการครัวต้นแบบสงฆ์โภชนาการดี นำร่องครัวต้นแบบ ที่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.)


พระเมธีธรรมาจารย์ รองอธิการบดี มจร. กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้จะช่วยส่งเสริมให้พระสงฆ์มีสุขภาพที่ดีมากขึ้น โดยการจัดทำครัวต้นแบบ จะไม่ได้ดำเนินการเฉพาะที่ มจร.ส่วนกลางเท่านั้น แต่จะขยายผลไปยังทุกวิทยาเขตของ มจร. ทั้งในและต่างประเทศด้วยซึ่งมีจำนวนพระสงฆ์อยู่ประมาณ 20,000 รูป


"อยากฝากเรื่องนี้ถึงญาติโยมได้ทราบด้วย เพราะทุกวันนี้พระต้องฉันตามใจโยม เมื่อโยมนำอาหารมาถวาย ก็จะนั่งเฝ้าและให้ฉันอาหารที่มาถวาย ซึ่งแม้พระบางรูปจะมีโรคความดัน หรือเบาหวาน แต่ก็จำต้องฉันตามความต้องการของโยม" รองอธิการบดี มจร.กล่าว


รองศาสตราจารย์ ดร.จงจิตร กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันอาหารใส่บาตรพระเป็นอาหารชุดโดยเฉพาะในจังหวัดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวและในพื้นที่กรุงเทพฯ และพบว่าเป็นอาหารปรุงสุกที่ขาดคุณภาพมีการเวียนขายไปมา บางครั้งพบอาหารบูด ขณะเดียวกันพระติดเครื่องดื่มชูกำลัง โดยเฉพาะพระที่ต้องเรียนหนังสือมักอ่านหนังสือดึกต้องพึ่งพาเครื่องดื่มชูกำลังในเวลากลางคืน จึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้พระเป็นโรคกระเพาะ กรดไหลย้อน เพราะดื่มเครื่องดื่มกาเฟอีนตอนท้องว่าง ซึ่งกาเฟอีนในเครื่องดื่มชูกำลังและกาแฟกระป๋องจะแรงกว่ากาเฟอีนในกาแฟทั่วไป ทำให้ระคายเคืองกับกระเพาะได้มากกว่า นอกจากนี้ยังพบว่าเหล่าสามเณรติดการฉันน้ำอัดลมระหว่างมื้ออาหารด้วย


"แม้พระจะฉันอาหารเพียงสองมื้อแต่กลับพบว่าพระมีโรคอ้วนลงพุง 49 % ขณะที่กลุ่มชายไทยมีเพียง 28% สาเหตุหลักเพราะขาดการออกกำลังกาย และบริโภคอาหารเกินถึง 175 แคลอรี หรือรับประทานข้าวเกินไปสองทัพพีครึ่ง" รองศาสตราจารย์ ดร.จงจิตรกล่าวสรุป


คนไทยถือว่าอาหารใส่บาตรหรือทำบุญนั้นต้องพิถีพิถันเลือกหาเมนูที่ดีสุดแพงสุด อาหารที่มีประโยชน์และใส่ใจโภชนาการน้อมนำบุญสูงไม่ต่างกัน.


 


 


ที่มา: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ โดย พรประไพ เสือเขียว 

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

ระบุข้อความ