อาหารพื้นบ้านสานฮอยอดีต

สร้างสุขภาพดีด้วยวัฒนธรรมและภูมิปัญญาชุมชน

 

อาหาร นับเป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญต่อสุขภาพ การรับประทานอาหารที่ปลอดภัย ไร้สารพิษ ไม่มีสารปรุงแต่ง ย่อมจะทำให้มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง ลดภาวะเสี่ยงต่อโรคต่างๆ

 

อาหารพื้นบ้านสานฮอยอดีต

แต่จากพฤติกรรมการบริโภคที่เปลี่ยนไปของชาวบ้านใน อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ ประกอบกับค่านิยมที่เชื่อว่าการจัดเลี้ยงด้วย อาหารภาคกลางจะทำให้เจ้าภาพหรือเจ้าของงานมีหน้ามีตาสมฐานะ ทำให้ปัจจุบันงานบุญต่างๆ จึงมักจะนำอาหารภาคกลางมาใช้เลี้ยงแขกแทบทุกบ้าน

 

ซึ่งอาหารเหล่านี้จะต้องใช้เครื่องปรุงหลายอย่างอาทิ น้ำมัน น้ำตาล ผงปรุงรส ซอส ผงชูรส เนื้อหมู และพืชผักที่นำมาประกอบอาหารล้วนมาจากระบบการผลิตสมัยใหม่ ต้องซื้อจากตลาดสดและอาจจะมีการปนเปื้อนสารเคมี ไม่เหมือนกับการจัดเลี้ยงด้วยอาหารพื้นบ้าน ที่ใช้พืชผักจากธรรมชาติตามหัวไร่ปลายนาเป็นวัตถุดิบ ไม่มีสารปรุงแต่งใดๆ ปลอดภัยต่อสุขภาพ

 

          และจากผลการสำรวจของเทศบาลตำบลจอมทองพบว่าประชากรในพื้นที่ส่วนใหญ่ป่วยเป็นโรคความดัน เบาหวาน และมะเร็งในอัตราที่สูงมาก โดยมีสาเหตุจากค่านิยมการบริโภคอาหารต่างถิ่นที่มีไขมันสูง มีเครื่องปรุงแต่งรสชาติเป็นจำนวนมาก

 

เทศบาลตำบลจอมทอง จึงได้จัดทำ โครงการอาหารพื้นบ้านสานฮอยอดีต ขึ้นเพื่อลดพฤติกรรมการบริโภคที่เสี่ยงต่อโรค ฟื้นฟูวัฒนธรรมการบริโภคอาหารพื้นบ้านที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ โดยได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

 

            นายยุทธ เทพวงศ์ นายกเทศมนตรีเทศบาลจอมทอง อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ หัวหน้าโครงการฯ กล่าวว่า จากการสังเกตผู้สูงอายุในชุมชนอายุ 70-80 ปี ที่รับประทานแต่อาหารพื้นบ้านพบว่ามีสุขภาพแข็งแรงไม่ค่อยมีโรคภัยไข้เจ็บ แต่ที่คนรุ่นหลังกลับมีอาการป่วยด้วยโรคเบาหวาน ความดันกันมากขึ้นพบว่าเกิดจากพฤติกรรมบริโภคที่เปลี่ยนไปหันมาทานอาหารภาคกลางที่มีไขมัน มีเครื่องปรุงแต่งรสชาติจำนวนมาก โดยเฉพาะค่านิยมในเรื่องของเตรียมอาหารเพื่อจัดเลี้ยงในงานบุญประเพณีต่างๆ ที่หันมาใช้อาหารภาคกลางกันมากขึ้น เพราะเชื่อกันว่าอาหารภาคกลางมีคุณค่า ดูมีหน้ามีตา สมฐานะของผู้ที่เป็นเจ้าภาพ ทำให้พฤติกรรมของคนในชุมชนเริ่มเปลี่ยนแปลง

 

          อาหารพื้นบ้านของภาคเหนือนั้นแทบจะไม่ใช้น้ำมันและเครื่องปรุงรสต่างๆ เลย จะมีก็แค่กระเทียม ปลาร้า และถั่วเน่าเป็นหลัก อาหารส่วนมากก็จะทำมาจากผักพื้นบ้านซึ่งจะเป็นน้ำพริกหรือแกงผักชนิดต่างๆ ทางเทศบาลฯ จึงรณรงค์ให้ชาวบ้านหันมารับประทานอาหารพื้นบ้านกันมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อสุขภาพมากกว่า โดยเฉพาะในงานจัดเลี้ยงต่างๆ หากใช้อาหารพื้นบ้านจะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายของเจ้าภาพไปได้มาก เพราะวัตถุดิบในการประกอบอาหารมีราคาถูก ปลอดภัย มีคุณค่าทางโภชนาการสูง ไร้สารพิษ ปลูกเองทานเองก็จะช่วยลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือนไปได้เยอะมาก ซึ่งทางเทศบาลฯ ก็ได้นำเรื่องนี้บรรจุไว้ในแผนงานของเทศบาลเพื่อให้การดำเนินงานเกิดความต่อเนื่อง และสร้างความยั่งยืนด้านสุขภาพให้กับคนชุมชนนายยุทธ ระบุ

 

          นายทรงศักดิ์ ปัญญาเทพ รองนายกเทศมนตรีเทศบางจอมทอง กล่าวว่า ปัจจุบันคนในชุมชนหันไปนิยมรับประทานอาหารภาคกลาง อาหารจานด่วน กันมากขึ้นโดยเฉพาะเด็กรุ่นใหม่ ซึ่งอาหารเหล่านี้ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อโรคเบาหวาน ความดัน และมะเร็งมากขึ้น เพราะถูกปรุงแต่งรสชาติด้วยเครื่องปรุงต่างๆ จำนวนมาก ต่างจากอาหารพื้นบ้านที่ปลอดภัยมีคุณค่าและมีราคาถูก

 

          ทางเทศบาลฯ ร่วมกับผู้นำชุมชน กลุ่มแม่บ้าน อาสาสมัครสาธารณสุขชุมชน และเยาวชนในพื้นที่ลงไปเก็บข้อมูลภูมิปัญญาด้านอาหาร เพื่อถอดองค์ความรู้ด้านอาหารพื้นบ้านจากผู้เฒ่าผู้แก่ที่มีสุขภาพแข็งแรงอายุยืนยาวเพราะบริโภคแต่อาหารพื้นบ้าน แล้วนำมาจัดเวทีถ่ายทอดองค์ความรู้คืนให้กับชุมชน มีการฝึกปฏิบัติการทำอาหารพื้นบ้านชนิดต่างๆ ทำให้ชาวบ้านเริ่มตระหนักและเห็นความสำคัญของอาหารพื้นบ้านที่ส่งผลดีต่อสุขภาพ ชาวบ้านจึงเริ่มปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค ที่สำคัญยังเป็นการสืบสานแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง ในแง่ของการลดรายจ่ายเพิ่มรายได้ เพราะการที่ชาวบ้านหันกลับมาบริโภคอาหารพื้นบ้านซึ่งใช้วัตถุดิบต่างๆ ที่มีอยู่ในชุมชน และหันมาจัดเลี้ยงด้วยอาหารพื้นเมือง ในงานบุญต่างๆ จะช่วยในเรื่องของการลดค่าใช้จ่าย เพราะว่าพืชผักพื้นบ้านนั้นมีราคาถูกหาซื้อได้ง่ายรองนายกเทศมนตรีเทศบาลจอมทองกล่าว

 

          แม่จันทร์ฟอง อินตะเทพ และ แม่บัวคำ สุปินตา สองแม่ครัวใหญ่จาก บ้านหมู่ 6 ต.ข่วงเปา อ.จอมทอง เล่าให้ฟังว่า ในอดีตชาวบ้านกว่าที่จะได้รับประทานเนื้อหมูนั้นก็ต้องรองานบุญประเพณีสำคัญๆ ตามปกติแล้วก็จะรับประทานอาหารจำพวกผักและน้ำพริกต่างๆ ซึ่งหาได้จากสวนครัวริมรั้ว ซึ่งการทำอาหารพื้นบ้านนั้นจะไม่มีเครื่องปรุงรสอย่าง น้ำปลา รสดี ผงชูรส และน้ำตาล ซึ่งส่งผลเสียต่อสุขภาพเป็นต้นเหตุของโรคต่างๆ จำนวนมาก

 

          อาหารพื้นบ้านค่าใช้จ่ายก็ถูกกว่าไม่ต้องไปซื้อ วัตถุดิบก็หาได้จากในสวน โปรตีนก็ได้จากถั่วเน่า แคลเซียมก็ได้จากปลาร้า วิตามินก็ได้จากผักพื้นบ้านชนิดต่างๆแม่จันทร์ฟองกล่าว

 

          พ่ออุ๊ย แม่อุ๊ย ที่อายุมากแล้วแต่ยังแข็งแรงไม่มีโรคภัยไข้เจ็บก็เพราะว่าท่านทานแต่อาหารพื้นบ้าน ซึ่งเครื่องปรุงรสก็มีเพียง พริกแห้ง กระเทียม หัวหอม ปลาร้า ถั่วเน่า เป็นหลัก เดี๋ยวนี้คนในชุมชนของเราก็เห็นความสำคัญและทำอาหารพื้นเมืองจัดเลี้ยงในงานบุญต่างๆ มากขึ้นแม่บัวคำกล่าว

 

          นางสาวดวงพร เฮงบุณยพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการสร้างสุขภาวะในพื้นที่และชุมชน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ กล่าวว่า เรื่องอาหารพื้นบ้านมีงานวิจัยมากมายที่ยืนยันว่าเป็นอาหารที่มีผลดีต่อสุขภาพ เพราะเครื่องปรุงหรือส่วนผสมต่างๆ ในอาหารพื้นบ้านซึ่งเป็นภูมิปัญญาของคนโบราณนั้น จะมีส่วนผสมที่มีสรรพคุณทางยาอยู่ในอาหารอยู่แล้ว

 

          อาหารพื้นบ้านไม่ใช่อาหารขยะ จึงไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน ถ้าเทียบกับอาหารจากระบบตลาดทั่วไปย่อมส่งผลดีต่อสุขภาพมากกว่า และถ้ามีการณรงค์การรับประทานอาหารพื้นบ้านจะทำให้คนในชุมชนมีสุขภาพที่ดีขึ้น เศรษฐกิจในชุมชนก็ดีขึ้นเพราะรายได้ก็หมุนเวียนอยู่ในชุมชน ที่สำคัญก็คือทำให้ภูมิปัญญาด้านอาหารพื้นบ้านไม่หายสาบสูญไป และยังเป็นการช่วยรักษาฐานวัฒนธรรมของชุมชน เพราะอาหารก็ถือว่าเป็นวัฒนธรรมที่ต้องมีการสืบทอดส่งต่อภูมิปัญญาจากรุ่นต่อรุ่นนางสาวดวงพร กล่าวสรุป

 

 

 

 

 

ที่มา : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สสส.

 

 

update 25-03-53

 

อัพเดทเนื้อหาโดย : อารยา สิงห์สวัสดิ์

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

ระบุข้อความ