อาหารถิ่น…เยียวยาชีวิต

ที่มา: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์


ภาพประกอบจากแฟนเพจสุขภาวะชุมชน


อาหารถิ่น...เยียวยาชีวิต thaihealth


"อาหาร" เป็นปัจจัยพื้นฐานสะท้อนถึงวิถีชีวิต วัฒนธรรม การสร้างสรรค์เมนูของแต่ละครอบครัวที่แตกต่างกันยังหมายถึงรสนิยมการบริโภคและสถานการณ์ที่แต่ละครอบครัวนั้นกำลังเผชิญ ขณะเดียวกันอาหารแต่ละเมนูยังทำหน้าที่เป็น "ยา" อีกด้วย


โดยในมหกรรมสมุนไพแห่งชาติ 2562 ที่เพิ่งผ่านพ้นไปมีกิจกรรมว่าด้วยการจัดการความมั่นคงทางอาหารของชุมชนท้องถิ่น สำหรับผู้สูงอายุและครอบครัว


สายฝน โทพิลา สมาชิกกลุ่มออมทรัพย์ และชาวบ้านชุมชน ต.นาป่าแซง อ.ปทุมราชวงศา จ.อำนาจเจริญ เล่าถึงเมนูแกงขี้เหล็กไข่มดแดงว่า เป็นเมนูยอดฮิตของชุมชนที่แขกไปใครมาต้องถามถึง ขณะเดียวกันยังเป็นเมนูสุขภาพที่ผู้สูงอายุรับประทานได้


"ต้นขี้เหล็กเป็นพืชที่ปลูกกันมากในชุมชน และมีสรรพคุณทางยา คือช่วยบำรุงสายตา แก้ท้องผูก มีแคลเซียม ช่วยบำรุงกระดูกและฟันให้แข็งแรง เคล็ดลับของแกงขี้เหล็กไข่มดแดงคือการเติมน้ำใบหญ้านาง ใส่ปลาย่าง ซึ่งให้ความหอม จากนั้นค่อย ๆ ใส่ไข่มดแดงลงไป"


อาหารถิ่น...เยียวยาชีวิต thaihealth


แต่การจะทำเมนูนี้ขึ้นมาได้ต้องมีการผสมผสานของคนแต่ละรุ่นในชุมชน ตั้งแต่คนปลูกต้นขี้เหล็ก ที่มักเป็นรุ่นแม่ คนเก็บผลผลิตคือสมาชิกรุ่นลูก ขณะที่ผู้กำกับรสชาติให้เป็นไปตามท้องถิ่นนิยมคือ คนรุ่น "ปู่-ย่า" ซึ่งมักกำชับว่าแกงขี้เหล็กของคนอีสานจะไม่ใส่กะทิ


แกงขี้เหล็กไข่มดแดง สามารถรับประทานได้ทั้งครอบครัว โดยเฉพาะผู้สูงอายุจะชอบมาก ซึ่งผักขี้เหล็กคือภูมิปัญญา ทุกคนรู้คุณค่า รู้วิธีการทำที่สืบทอดมายาวนาน เป็นเมนูที่คนในชุมชนรับประทานกันเป็นประจำ


อาหารถิ่น...เยียวยาชีวิต thaihealth


โกเมศร์ ทองบุญชู สมาชิกชุมชน ต.เกาะขันธ์ อ.ชะอวด จ.นครศรีธรรมราช ที่บอกเล่าถึงเมนูหอยแคงชะพลูว่า มันเป็นผักที่ทนแล้ง นำมาปรุงอาหารได้ง่าย ชะพลูเอามาใช้ทำอาหารได้หมด เช่น ใบอ่อน และยอดใช้กินสดเป็นผักจิ้มน้ำพริก หรือห่อเมี่ยงคำ มีรสชาติเผ็ดซ่าเล็กน้อย ซึ่งถูกปากคนพื้นที่


"เวลาเราพูดเรื่องสมุนไพรคนอาจคิดว่าต้องเป็นสมุนไพรที่กินแล้วมีสรรพคุณเห็นผลทันที แต่ในส่วนผสมของเครื่องแกงนี่แหละที่แฝงไปด้วยสมุนไพรไทย ชุมชนเรายกให้เมนูนี้ขึ้นชื่อ และการทำพริกแกงยังขยายไปได้ถึงการรวมกลุ่มประกอบอาชีพ เพราะขณะนี้เกิดการรวมกลุ่มผู้สูงอายุที่ผลิตพริกแกงออกไปจำหน่ายให้กับชุมชนใกล้เคียง"


สำหรับหมู่บ้านที่ไม่ได้ติดทะเลอย่างพวกเรา การมีหอยรับประทานตลอดทั้งปียังหมายถึงพวกเขามีเพื่อนและเครือข่ายที่พร้อมจะแลกเปลี่ยนอาหารซึ่งกันและกัน โดยที่ไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง

Shares:
QR Code :
QR Code