อาสาสมัครพาน้องบ้านเฟื่องฟ้าเที่ยวหาด ‘โอกาสของผู้ให้และผู้รับ
น้องๆ จากสถานสงเคราะห์เด็กอ่อนพิการทางสมองและปัญญา หรือบ้านเฟื่องฟ้า จำนวน 31 คน ออกเดินทางจากเมืองหลวงมุ่งหน้าสู่หาดนางรำ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี พร้อมกับอาสาสมัครจำนวน 35 คน ที่พร้อมใจกันมาปฏิบัติหน้าที่ “พี่เลี้ยง” ให้เด็กๆ จากบ้านเฟื่องฟ้า ตามโครงการ “พลังอาสา สร้างสุขให้เด็กในสถานสงเคราะห์” ซึ่งมูลนิธิสุขภาพไทย ภายใต้การสนับสนุนของสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จับมือกับสหทัยมูลนิธิ และเครือข่ายพุทธิกา ได้จัดกิจกรรมสร้างสุขให้เด็กๆ ในสถานสงเคราะห์ 4 แห่ง ได้แก่ สถานสงเคราะห์เด็กอ่อนปากเกร็ด สถานสงเคราะห์เด็กอ่อนพญาไท สถานสงเคราะห์เด็กหญิงบ้านราชวิถี เเละบ้านเฟื่องฟ้า โดยการพาน้องๆ ไปทัศนศึกษาหาดนางรำเป็นกิจกรรมส่วนหนึ่งของโครงการดังกล่าวด้วย
“ครูปุ๊” วิจิตตรา อิ่มโสภณ นักกายภาพบำบัดชำนาญการบ้านเฟื่องฟ้า เล่าว่า การพาน้องๆ ออกมาทัศนศึกษานอกสถานที่ เป็นการเปิดโอกาสให้เด็กๆ ได้ฟื้นฟูสมรรถภาพทั้งการพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็ก มัดใหญ่ และสร้างโอกาสในการเรียนรู้สังคมภายนอก นอกจากนี้ยังช่วยภาวะด้านจิตใจและอารมณ์ เพราะเด็กๆ ได้ออกมาเล่นทำให้พวกเขาร่าเริงแจ่มใส เด็กบางคนกลัวทรายไม่กล้าลงเดิน แต่พอได้ลองสัมผัสก็ชอบทำให้พวกเขาได้เรียนรู้ ซึ่งปกติเด็กๆ ได้ออกมาทัศนศึกษานอกสถานที่บ้าง แต่จะไม่ได้ออกมาเยอะอาจจะแค่รถตู้ 1 คัน เพราะบุคลากรเราน้อย ก็ต้องแบ่งไปดูแลเด็กนอกสถานที่ และต้องมีคนดูแลเด็กที่อยู่ในบ้านด้วยพอมีโครงการนี้ ได้พี่ๆ อาสาสมัครก็ทำให้เด็กได้รับโอกาสที่ดีด้วย เด็กๆ ที่พามาทัศนศึกษาเป็นกลุ่มพิการทางสติปัญญาและการเรียนรู้กับกลุ่มที่มีความพิการทางการเคลื่อนไหวและพิการทางร่างกาย
“ครูนก” บุศดี กลิ่นชัน นักกระตุ้นพัฒนาการ บ้านเฟื่องฟ้า บอกว่า เด็กที่บ้านพัฒนาการช้าในทุกด้าน ต้องพยายามกระตุ้นพัฒนาการทั้ง 4 ด้าน คือ ร่างกาย อารมณ์ สังคม และสติปัญญา เพราะพัฒนาการทุกด้านนี้จะประกอบกันขึ้นเป็นความพร้อมหรือความสามารถของเด็กที่จะเรียนรู้ในขั้นต่อๆ ไป ซึ่งสามารถกระตุ้นได้ตั้งแต่แรกเกิด เด็กในบ้านจะถูกกระตุ้นทุกวัน ต้องทำซ้ำๆ เพื่อให้เด็กเกิดการเรียนรู้ การพาเด็กมาเที่ยวก็ถือเป็นการกระตุ้นพัฒนาการที่ดี เพราะเด็กมีอารมณ์ที่สนุกสนาน มีความสุข ได้ปลดปล่อย
“พี่อ้อม” วรรณภา บางกระ พี่เลี้ยงเด็กบ้านเฟื่องฟ้า กล่าวว่า เด็กบางคนไม่เคยได้ออกมาเที่ยวเลย กลัวคนแปลกหน้า การได้พาเด็กมาทะเล ได้สัมผัสกับบรรยากาศ ธรรมชาติ เห็นสังคมภายนอก ได้พบเจอคนมากมาย โดยเฉพาะมีอาสาสมัครได้เข้ามาช่วยดูแล แม้ว่าส่วนใหญ่จะเข้ามาช่วยระยะสั้น เป็นสิ่งที่ดี ไม่เช่นนั้นก็อาจจะไม่ได้พาเด็กๆ มาเที่ยว เพราะมีเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอ
ด้าน “พ่อชัย” อภิชัย เปรมผลกมล อาสาสมัครวัย 53 ปี ที่เข้ามาช่วยดูแลเด็กๆ ในสถานสงเคราะห์กว่า 5 ปีแล้ว บอกว่า เริ่มแรกสมัครเข้ามาดูแลเด็กอ่อนที่บ้านพญาไทเมื่อ 5 ปีที่แล้ว เนื่องจากต้องการให้ลูกได้เข้ามาเรียนรู้เรื่องการแบ่งปันเพราะจัดการศึกษาที่บ้าน (home school) แต่ตอนนี้ลูกโตแล้ว เลยมาเป็นอาสาสมัครในสถานสงเคราะห์ ปัจจุบันดูแลน้องวงศ์ศิริ อายุ 5 ขวบ ที่ย้ายมาจากบ้านเด็กอ่อนพญาไท เป็นช่วงที่ต้องการกำลังใจ อาสาสมัครถือเป็นกำลังสำคัญที่มีส่วนช่วยให้เขาพัฒนา และที่มาเป็นอาสาสมัครไม่ใช่แต่เด็กที่ได้โอกาส ได้ฝึกตัวเองให้มีความอ่อนโยน และคิดถึงคนอื่นให้มากขึ้นด้วย
ส่วน “ป้าไกด์” นพวรรณ พงษ์ทอง พนักงานประจำบริษัทเอกชน อาสาสมัครวัย 55 ปี เป็นอาสาสมัครมาแล้ว 4 ปี เลี้ยงน้องโดโด้มาตั้งแต่อยู่บ้านปากเกร็ด อายุ 1 ขวบครึ่ง ตอนนี้อายุ 5 ปี 7 เดือนแล้ว ตามมาเลี้ยงน้องต่อที่บ้านเฟื่องฟ้า เพราะเดิมน้องโดโด้ขยับไม่ได้ เคี้ยวอาหารไม่ได้ แต่ตอนนี้น้องนั่งเองได้ กินเองได้ เกาะได้ วันนี้น้องโดโด้มาเที่ยวทะเล เห็นสังคมปกติทั่วไปด้วย มีความสุข เราก็รู้สึกดี รู้สึกตัวเองมีคุณค่า ป้าจะเป็นอาสาสมัครจนกว่าจะหมดแรง การเป็นอาสาสมัครเลี้ยงเด็กพิการไม่ใช่เรื่องยาก ขอให้ลองมาเป็นก่อน
“น้องอร” อรอนงค์ศ รีสุวิทธานนท์” อาสาสมัครรุ่นใหม่ วัย 33 ปี ทำมาหลายด้าน แต่เป็นครั้งแรกที่มีโอกาสได้มาดูแลเด็กในสถานสงเคราะห์ บอกว่า การทำให้เด็กคนหนึ่งมีความสุขได้ เป็นการให้โอกาสทั้งตัวเด็กและตัวเราที่จะเปิดใจให้สังคม ได้ทำกิจกรรมใหม่ๆ ได้รู้จักเพื่อนอาสาสมัครใหม่ๆ ซึ่งหากมีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมอีกก็จะพยายามทำต่อไปให้ต่อเนื่องมากที่สุด ผู้ที่สนใจอยากเข้าร่วมเป็นอาสาสมัครช่วยดูแลน้องในสถานสงเคราะห์ ดูรายละเอียดได้ที่เว็บไซต์ของมูลนิธิสุขภาพไทย http://www.thaihof.org
ที่มา : หนังสือพิมพ์คมชัดลึก