อาสาสมัครชนเผ่า แก้ปัญหา “ผี” สวมสิทธิ์
“ครึ่งหนึ่งที่พวกเราถูก “ผี” มาสวมสิทธิ์ได้สัญชาติไทย เพื่อเป็นใบเบิกทางในการเดินทางไปทำงานไต้หวัน ฮ่องกง สิงคโปร์ โดยที่ผีเหล่านี้ไม่เคยพักอาศัยในประเทศไทย บางคนพูดไทยไม่ได้ ตรงกันข้ามพวกเรา เข้ามาตั้งถิ่นฐานตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายายเรื่อยมาจนถึงรุ่นหลาน เรานึกถึงบุญคุณแผ่นดินไทย และคิดว่านี่คือบ้านเกิด” อาเสิ่ง แซ่จาง อาสาสมัครชุมชน “เผ่าจีน” แม่สลองใน อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย สะท้อนปัญหาที่ชาติพันธุ์บนพื้นที่สูง หรือชาวเขาเผ่าต่างๆ ถูกสวมสิทธิ์
“มีครอบครัวหนึ่งมีสมาชิก 5 คน ได้ขึ้นทะเบียนไว้เกือบ 10 ปี ก็พยายามสอบถามเจ้าหน้าที่ที่อำเภอมาอย่างต่อเนื่อง พอแว่วว่าครอบครัวตัวเองมีรายชื่อว่าได้สิทธิ์ดังกล่าว ก็ไปติดต่อเจ้าหน้าที่ ปรากฏว่าถูกคนอื่นสวมสิทธิ์ไปแล้ว คนครอบครัวนี้ร้องไห้ เพราะเขาจะไม่มีโอกาสเป็นคนไทยอีกต่อไปแล้ว” อาเสิ่ง กล่าว
แล้วจะทำอย่างไร เพื่อป้องกันไม่ให้ “ผี” มาสวมสิทธิ์ญาติพี่น้องของเราได้อีก อาเสิ่ง บอกว่า พวกเราไม่รู้ว่าจะหาทางออก จะแก้ปัญหานี้ได้อย่างไร จนกระทั่งวันหนึ่ง มีเจ้าหน้าที่จากโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานข้ามชาติและผู้มีปัญหาสถานะบุคคล (คพรส.) ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ประกาศรับอาสาสมัครที่อ่าน เขียน ภาษาไทย มีชาวเขาเผ่าต่างๆ ประมาณ 20 คน มาสมัคร โดยเขามาให้ความรู้เกี่ยวกับกฎหมาย รวมถึงขั้นตอนการรักษาสิทธิ์แก่อาสาสมัคร เพื่อให้อาสาสมัครชุมชนช่วยกรอกประวัติ ประสานกับเจ้าหน้าที่อำเภอ รวมคอยติดตามความเคลื่อนไหวว่าใครได้สิทธิ์บ้าง
ช่วงแรกๆ ที่พวกเราเข้าไปจุ้นจ้านบนอำเภอ พาชาวเขาไปตรงจุดนั้นจุดนี้ ช่วยกรอกประวัติ ทำโน่น ทำนี่ ให้ เจ้าหน้าที่แสดงท่าทีไม่พอใจ เพราะไปวุ่นวายการทำงานของเขา แต่พวกเราพยายามอธิบายว่า ไม่ได้เข้าไปก้าวก่ายหน้าที่ของท่าน เพียงแต่เรามาคอยอำนวยความสะดวกแก่พี่น้องชาวเขาของเราเท่านั้น แค่ช่วยสื่อสารระหว่างเจ้าหน้าที่กับชาวเขา เพราะเขาคุยกันคนละภาษา จะช่วยให้ทั้ง 2 ฝ่ายเข้าใจตรงกัน ปัจจุบันเจ้าหน้าที่เริ่มเข้าใจมากขึ้น สายตาที่มองเปลี่ยนเป็นมิตร
“ที่เขามารับหน้าที่อาสาสมัคร เพราะอยากรักษาสิทธิ์ให้พี่น้องชาวเขาควรได้รับ ไม่ให้ถูกสวมสิทธิ์แล้ว เด็กรุ่นลูก รุ่นหลาน จะได้เรียนหนังสือสูงๆ มีโอกาสหางานทำที่ดีขึ้น อย่างไรก็ดี ก่อนอื่นต้องขอบคุณรัฐบาลไทย ที่เปิดโอกาสให้เด็กๆ ได้เรียนหนังสือในโรงเรียนโดยไม่ได้แบ่งเชื้อชาติ ปัจจุบันชาวเขาบางคนเรียนอยู่มัธยมปลาย หากเด็กคนนี้ได้สิทธิ์เป็นคนไทย เขาจะได้เรียนต่อระดับมหาวิทยาลัย และสมัครงานได้ทั่วประเทศ ถ้ายังไม่ได้สิทธิ์โอกาสเด็กเรียนจบมหาวิทยาลัยแล้วไปหางานทำนอกพื้นที่จะลำบาก นายจ้างไม่อยากรับคนไร้สัญชาติ” อาเสิ่งกล่าว
ด้าน ณัฐพงษ์ มณีกร เจ้าหน้าที่ คพรส.กล่าวว่า จะเน้นการทำงานในเรื่องสัญชาติ สถานะบุคคลของพี่น้องเผ่าต่างๆ 5-6 เผ่า ผ่านกลไกอาสาสมัครชุมชน โดยจะให้ความรู้อาสาสมัครว่า พวกเขามีสิทธิอะไรบ้าง ต้องทำอย่างไร้าง ตลอดจนการขอความร่วมมือจากหน่วยงานของรัฐ ซึ่งปีนี้เป็นปีที่ 3 ของการทำงานของ คพรส. ผลออกมาในทิศทางที่ดีขึ้น ผู้นำชุมชน ภาครัฐเข้าใจงานที่เราทำมากขึ้น มีท่าทีที่ดีขึ้น ทำให้อาสาสมัครทำงานง่ายขึ้น ส่งผลให้คนที่ควรได้รับสัญชาติได้รับมากขึ้น ที่สำคัญเข้าไปแก้ปัญหาการถูกสวมสิทธิ์ได้ระดับหนึ่ง
ที่มา : หนังสือพิมพ์เอเอสทีวีผู้จัดการ
update : 03-11-53
อัพเดทเนื้อหาโดย : ศิรินทิพย์ อิสาสะวิน