อาวุโสไม่โอเค

ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ


ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ


อาวุโสไม่โอเค thaihealth


เรื่องไม่เล็กของคนสูงวัยในสังคมไทยมายาวนาน คือปัญหาผู้สูงอายุถูกทำร้ายทั้งร่างกายและจิตใจ 


ที่พบส่วนใหญ่คือ เมื่อผู้สูงอายุมีการสูญเสียคนในครอบครัวและขาดที่พึ่งพิงจะทำให้อยู่ในสภาวะซึมเศร้า ผู้สูงอายุบางรายมีภาวะเจ็บป่วยนอนติดเตียง ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ ทำให้เสี่ยงต่อการถูกละเมิดสิทธิในด้านการถูกข่มขู่ให้ทำธุรกรรมหรือแม้แต่การถูกข่มขืนก็เป็นได้ และผู้สูงอายุบางรายตกอยู่ในสภาวะสมองเสื่อม จึงถูกหลอกเป็นเหยื่อให้เซ็นโอนทรัพย์สินต่างๆ ซึ่งถูกต้องตามกระบวนทางการกฏหมายแต่ผิดจริยธรรม


ที่สำคัญปัญหาส่วนใหญ่มักเกิดจากคนใกล้ตัว หรือบุคคลที่พยายามเข้ามา ตีสนิทเพื่อหวังผลประโยชน์ โดยหลอก ให้ทำธุรกรรมเพื่ออ้างว่าจะดูแลทรัพย์สินให้ สุดท้ายเมื่อได้ครอบครองทรัพย์สินแล้วก็หนีหายไป


ไม่นานมานี้ มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริม สุขภาพ (สสส.) จึงได้จัดเวทีเสวนาวิชาการ หัวข้อ "ผู้สูงอายุถูกละเมิด…ใครดูแล" นำเสนอสถานการณ์ที่ส่งผลต่อการถูกละเมิดสิทธิของผู้สูงอายุไทย และข้อเสนอแนะด้านนโยบายเพื่อพัฒนาแนวทางการคุ้มครองพิทักษ์สิทธิของผู้สูงอายุ


ภรณี ภู่ประเสริฐ รักษาการผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. กล่าวว่า เนื่องจากปัจจุบันประเทศไทยมีจำนวน ผู้สูงอายุถึง 11,000,000 คน ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้กับผู้ไม่หวังดีที่หวังผลประโยชน์ และเอาเปรียบผู้สูงอายุ ส่งผลให้เกิดปัญหาความรุนแรงและการละเมิดสิทธิของผู้สูงอายุ และเป็นเรื่องที่ควรต้องได้รับการแก้ไข เพราะหากปล่อยไว้ก็ล้วนแต่จะทำให้มีการแก้ไขที่ยากมากขึ้น


อาวุโสไม่โอเค thaihealth


ด้าน พญ.ลัดดา ดำริการเลิศ เลขาธิการมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) กล่าวว่า การจัดประชุมครั้งนี้เพื่อทบทวนกฏหมายและหาแนวทางการแก้ไขที่ถูกต้อง เพื่อตอบโจทย์และปิดช่องว่างของปัญหา รวมถึงจัดสรรบุคคลที่ทำหน้าที่พิทักษ์สิทธิ เพื่อให้สอดคล้องกับการแก้ไขปัญหา และเสริมสร้างบุคลากรให้มีศักยภาพในการดูแลผู้สูงอายุ เพื่อเฝ้าระวังเมื่อเกิดสถานการณ์ต่างๆ กับผู้สูงอายุ และแก้ไขอย่างทันท่วงที ไม่ให้เกิดปัญหาเรื้อรังขึ้น สิ่งเหล่านี้เป็นการสร้างกลไกของผู้สูงอายุให้เกิดความเข็มแข็งขึ้นได้


อีกเรื่องสำคัญที่ถูกพูดถึงคือการขับเคลื่อนนโยบายเกี่ยวกับผู้สูงอายุ ไพศาล ลิ้มสถิตย์ กรรมการบริหารศูนย์กฏหมาย สุขภาพและจริยศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า สิ่งที่ควรทำคือ 1.มุ่งเน้นเรื่องการทำให้ผู้สูงอายุดูแลพึ่งพาตนเองได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ประเทศไทยควรขับเคลื่อน เพราะหลายคนอาจจะมองว่าผู้สูงอายุอยู่ในกลุ่มคนที่อ่อนแอ ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้  2.เปิดโอกาสให้ผู้สูงอายุมีการพัฒนาตนเอง เพราะทำให้ผู้สูงอายุเกิดการเรียนรู้  ที่ไม่ใช่เฉพาะในโรงเรียนผู้สูงอายุ และ  3.สังคมไทยควรเคารพและไม่เลือกปฏิบัติเป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะการจ้างงาน เพราะผู้สูงอายุถือว่ามีศักยภาพเพียงพอที่จะปฏิบัติงานหากไม่ได้อยู่ในอาการเจ็บป่วย ถึงแม้ว่าจะให้อัตราค่าจ้างน้อยหน่อยแต่ก็ควรเปิดโอกาส 4.สถาบันครอบครัว เช่น มีความกตัญญูและสร้างความสัมพันธ์ของคนในครอบครัว และ 5.ระบบสุขภาพ ที่ต้องช่วยกันดูแลให้ความรู้ผู้สูงอายุในการดูแลตนเอง หรือแม้แต่วิธีการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับตนเองในเรื่องสุขภาวะร่างกาย


"ในส่วนแนวทางการดำเนินการต่อไปคือ ต้องการให้ชุมชนท้องถิ่นส่วนภาควิชาสังคมเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลผู้สูงอายุมากขึ้น และมีการปรับปรุงอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการผู้สูงอายุ และสิทธิผู้สูงอายุ ให้เป็นไปตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคม โดยเน้นการ ทำงานเชิงรุกเพื่อการพัฒนาประเทศ ให้สมบูรณ์แบบมากขึ้น" ไพศาลอธิบาย

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

ระบุข้อความ