“อารยสถาปัตย์ไทย” ขอเป็นพี่ใหญ่ในเวที AEC
"ไม่ใช่แค่ในประเทศไทย ที่เราจะขยายเรื่องอารยสถาปัตย์ให้เข้มข้น แต่ในวันนี้เรามีจุดมุ่งหมายไกลกว่านั้น เป็นความปรารถนาที่ต้องการให้ประเทศไทย กลายเป็นฮับด้านอารยสถาปัตย์ในกลุ่มประเทศสมาชิก AEC และเราเชื่อว่าภายใน 3-5 ปีนี้ เราจะเดินไปถึงจุดนั้น”
เจตจำนงค์แน่วแน่ที่ กฤษณะ ละไล ผู้รับผิดชอบโครงการพัฒนาและขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่อารยสถาปัตย์ หรือ Universal Design กล่าวขึ้นในงานเสวนา “บทบาท หน้าที่ ทูตอารยสถาปัตย์ในเวทีโลก” ซึ่งจัดขึ้นไปเมื่อเร็ว ๆ นี้ ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคเอกชนที่ให้การสนับสนุน พร้อมด้วยเครือข่ายอารยสถาปัตย์ในประเทศไทย
คราวเดียวกันยังเปิดตัว "ทูตอารยสถาปัตย์ รุ่นที่ 4” ประจำปี 2558 ที่จะเป็นตัวกลางในการเผยแพร่เรื่องอารยสถาปัตย์ทั้งในประเทศไทย รวมไปถึงประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) และเวทีโลก
เป้าหมายยิ่งใหญ่แต่ไม่ไกลเกินฝัน ที่เป็นเช่นนั้น กฤษณะ อธิบายว่า สังคมไทยตระหนักเรื่องอารยสถาปัตย์มากขึ้นหลายเท่าตัวในช่วง 3-4 ปีมานี้ หลายภาคส่วนให้การสนับสนุนและริเริ่ม ไม่ว่าจะเป็นกรณีสถานที่ท่องเที่ยวที่ทุกคนเข้าถึงได้ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หรือ ททท. เมืองไทยเมืองพุทธเป็นอีกโครงการที่น่าสนใจ จัดทำโดยกรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม นำเอาอารยสถาปัตย์เข้าไปสร้างสรรค์วัด 21 แห่งทั่วประเทศ โดยมีวัดปากน้ำภาษีเจริญเป็นต้นแบบ
ในส่วนของนิคมอุตสาหกรรมก็ไม่ยิ่งหย่อน เพราะเร่งดำเนินให้สถานประกอบการปรับปรุงพื้นที่รองรับคนทำงานได้ทุกประเภท เช่น สร้างทางลาด ห้องน้ำสำหรับผู้ทุพพลภาพ พื้นที่เชื่อมต่อระหว่างตัวอาคารเป็นพื้นเรียบไม่มีบันได เพื่อรองรับกฎหมายรับคนพิการเข้าทำงาน 100:1 เกิดการปฏิบัติได้จริง ขณะเดียวกันก็มีมติให้ ขสมก. นำรถเมล์ NGV ชานต่ำจำนวน 3,000 กว่าคัน ทะยอยเข้ามาให้บริการในประเทศภายในปี 2558 และล่าสุด รถไฟฟ้าบีทีเอสได้ปรับปรุงเพิ่มลิฟต์จำนวน 55 ตัว ใน 23 สถานีที่ยังไม่มีการติดตั้ง เพื่อไว้ให้บริการผู้พิการเข้าถึงบริการได้สะดวกสบายขึ้น
"สิ่งเหล่านี้นับว่าเป็นนิมิตหมายอันดี ยิ่งปีหน้าที่ไทยและประเทศเพื่อนบ้านจะเข้าสู่การเป็นสมาชิก AEC โดยสมบูรณ์ แน่นอนว่าประชากรของประเทศสมาชิกย่อมเดินทางไปมาหาสู่ เกิดเป็นการเคลื่อนย้ายของบุคลากรวัยทำงาน กลุ่มนักท่องเที่ยว รวมถึงกลุ่มผู้ป่วย ซึ่งสิ่งหนึ่งที่ช่วยให้ไทยได้เปรียบกว่าประเทศอื่น ๆ ดึงดูดให้คนมาลงทุน ทำงาน อยู่อาศัย สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ ก็คือเรื่อง Universal Design ที่คอยอำนวยความสะดวกในการดำเนินชีวิตแก่ผู้ผู้พิการ ผู้บกพร่องทางร่างกาย มนุษย์ล้อหรือวีลแชร์ หญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ หรือผู้มีสรีระขนาดใหญ่ ซึ่งในประเทศที่พัฒนาแล้ว บุคคลกลุ่มนี้ถือเป็นทรัพยากรอันมีค่าไม่ต่างไปจากมนุษย์ที่มีร่างกายครบ 32 ประการ ฉะนั้น การที่ไทยจะเป็นศูนย์กลางเรื่องอารยสถาปัตย์ของภูมิภาค คงไม่ใช่เรื่องยากแน่นอน” กฤษณะ กล่าวและแสดงความเชื่อมั่นต่อด้วยว่า ในวันนี้ไทยอาจจะยังแพ้ประเทศสิงคโปร์อยู่ แต่เชื่อว่าหากทุกคนร่วมมือกันอย่างจริงจัง ในระยะเวลาไม่เกิน 3 ปี หรืออย่างช้า 5 ปี ประเทศไทยจะต้องแซงหน้าในเรื่องอารยสถาปัตย์ได้แน่นอน
ฟาก สสส.ที่ช่วยผลักดันเรื่องนี้มาไม่น้อย ก็ออกตัวพร้อมเดินหน้าต่อ เพื่อให้การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของไทยอย่างสมบูรณ์ในอีกไม่กี่สิบปีข้างหน้าเป็นไปอย่างราบรื่น
โดย ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า หลังจากการประชุม บอร์ด สสส.ที่มีคุณยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ก็ได้เตรียมเสนอข้อกฎหมายให้เพิ่มการออกแบบอารยสถาปัตย์ในสถานที่ต่าง ๆ มากขึ้น และเพิ่มสัดส่วนการจ้างงานผู้พิการ จากเดิมที่มีอัตราส่วนจ้างอยู่ไม่ถึง 10% หรือประมาณ 15,800 กว่าคน จากอัตราการจ้างงานผู้พิการทั่วประเทศตามกฎหมาย จำนวน 68,000 คน ขณะที่ผู้พิการทั้งประเทศมีอยู่ 1.4 ล้านคน มีงานทำเพียง 25% อีก 75% ไม่มีรายได้มาจุนเจือชีวิต อย่างไรก็ดี แผนดังกล่าวอยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูลนำเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมตรี และคาดจะนำเสนอได้ในช่วงต้นปี 2558
ด้าน มิคเคล วินเธอร์ เอกอัครราชทูตเดนมาร์กประจำประเทศไทย ให้ความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า อารยสถาปัตย์ที่เดนมาร์กไปไกลมากแล้ว ประชาชนและรัฐบาลตื่นตัวในเรื่องนี้ อย่างจริงจังมากว่า 100 ปี ส่วนหนึ่งเป็นเพราะรัฐบาลเปิดให้ผู้พิการและองค์กรไม่แสวงหากำไรมีสิทธิ์มีเสียงในเรื่องนี้เต็มที่ และมีกฎหมายพร้อมนโยบายรองรับอย่างเข้มงวด สำหรับประเทศไทยที่เพิ่มเริ่มต้น หัวใจสำคัญที่จะทำให้ Universal Design ประสบความสำเร็จในสังคมไทยนั้น แนะนำว่าสังคมต้องเชื่อมั่น ว่าอารยสถาปัตย์จะยกระดับสังคมขึ้นได้ และผู้ที่ต้องพึ่งพิงการออกแบบในลักษณะอารยสถาปัตย์ต้องรวมตัวกัน ผนึกกำลัง แล้วแสดงเจตจำนงค์ผ่านสื่อทุกช่องทางที่ทำได้ เพื่อกระตุ้นให้สังคมหันมามองเรื่องความเสมอภาค ซึ่งไม่ใช่เรื่องความสงสารหรือการสงเคราะห์ที่มีต่อผู้พิการ สื่อสารได้สากลคือคุณลักษณะใหม่ของทูตอารยสถาปัตย์ประจำปี 2558 และหนึ่งในผู้ที่ผ่านการคัดเลือกให้เป็นทูต Universal Design ของไทย ที่จะมาช่วยขยายเนื้องานอารยสถาปัตย์ให้กว้างไกล คือคนรุ่นใหม่ที่มีหัวใจเพื่อสังคม วัลลภา คมคาย สาวนักเรียนนอกที่เพิ่งจากสหรัฐอเมริกา
"พอกลับมาอยู่ประเทศไทย เรามีคำถามเกี่ยวกับความไม่เสมอภาคในการดำรงชีวิตของผู้คน ยิ่งเฉพาะกับผู้ทุพพลภาพที่ไม่สามารถไปไหนมาไหนได้อย่างสะดวก จะออกไปทำงานสร้างคุณค่าให้ตัวเอง ไม่เป็นภาระของครอบครัวหรือของรัฐก็ยังทำไม่ได้ ต่างกับที่เมืองนอกที่รัฐและสังคมซัพพอร์ตทุกอย่าง ซึ่งคิดว่าเรื่องพวกนี้เป็นพื้นฐานที่ควรมีในสังคมที่เจริญแล้ว” วัลลภา กล่าว
เธอฉายภาพวิธีขยายอารยสถาปัตย์ของไทยให้ไปไกลสู่สากลไว้คร่าว ๆ ด้วยว่า เวที ACE จะกลายเป็นกระบอกเสียง ชั้นดี ให้ประเทศเพื่อนสมาชิกเห็นความสำคัญของอารยสถาปัตย์ไปพร้อมกัน นับเป็นการเสริมพลังและภาพลักษณ์ที่ดีให้กับภูมิภาคอาเซียน และยังเป็นใบเบิกทางชั้นดีให้ต่างชาติที่สนใจเข้ามาลงทุนในเชิง CSR กับประเทศไทย โดยเฉพาะสหรัฐฯ และยุโรปที่มีเงินทุนและให้ความสำคัญกับอารยสถาปัตย์มาก
"จะนำความรู้ที่มี ไอเดียต่าง ๆ ที่เราเคยเห็นได้สัมผัสในต่างประเทศ นำมาปรับใช้และทำให้งานอารยสถาปัตย์ในประเทศไทย เดินหน้าไปสู่เป้าหมายการเป็นฮับในอาเซียนค่ะ” วัลลภา ทิ้งท้ายด้วยยิ้มละไม
ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์