"อารยสถาปัตย์"มอบความเท่าเทียมในการอยู่อาศัย
สิ่งก่อสร้างทางสถาปัตย์ที่สวยงาม ไม่ได้สะท้อนถึงความเจริญของบ้านเมืองเสมอไป แต่หากเป็นแนวคิดในการสร้าง ที่ต้องการให้คนในสังคมทุกประเภททุกวัย ได้อยู่ อาศัย และใช้สอยประโยชน์จากดีไซน์สถาปัตย์ ในชีวิตประจำวันได้อย่างแท้จริง
ยิ่งประเทศไทยกำลังเข้าสู่การเป็น "สังคมผู้สูงอายุ" โดยปัจจุบันมีประชากรผู้สูงอายุมากถึงร้อยละ 12-15 ของประชาชกรทั้งประเทศ ขณะที่ค่าเฉลี่ยอายุที่สูงขึ้นก็เพิ่มจาก 60 ปี เป็น 70 ปี และ 90 ปี จนปัจจุบันผู้สูงอายุหลายคนมีอายุกว่า 100 ปี
นอกจากนี้ ยังคาดการณ์ว่า ในปี 2573 ประเทศไทยจะเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ โดยสัดส่วนผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 26.6 เมื่อเทียบกับจำนวนประชากรทั้งประเทศ นั่นหมายถึงผู้ป่วยด้วยโรคชราก็จะมีจำนวนมากขึ้นตามไปด้วยอาคารบ้านเรือนแบบ "อารยสถาปัตย์" หรือ การออกแบบเพื่อคนทุกคน (Universal Design)ในประเทศไทยมานานกว่าทศวรรษ แต่แนวคิดดังกล่าว เกิดขึ้นมาก่อนแล้วกว่า 20 ปี ในประเทศพัฒนาอย่างยุโรป สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น
โดยแต่เดิมนั้น อารยสถาปัตย์เป็นแนวคิดการปรับสภาพแวดล้อมทางกายภาพ และจัดทำสิ่งอำนวยความสะดวก เพื่อให้ผู้พิการใช้ชีวิตประจำวันได้ทัดเทียมกับคนทั่วไป ทว่า ในปัจจุบันหมายถึงการเตรียมสภาพแวดล้อมเพื่อคนทุกคน ไม่ว่าจะเป็นคนพิการ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วย หญิงตั้งครรภ์ เด็ก หรือคนรูปร่างใหญ่ ให้สามารถทำกิจกรรมต่างๆ ได้ โดยมีอุปสรรคน้อยที่สุด ทั้งทางเดิน ทางลาด ห้องน้ำ ลิฟท์ที่มีตัวอักษรและเสียงสำหรับผู้พิการ ที่จอดรถสำหรับผู้พิการ เป็นต้น
เพื่อให้แนวคิดอารยสถาปัตย์เกิดขึ้นอย่างจริงจังและยั่งยืนในสังคมไทย จึงเกิดเป็นกิจกรรม ปั้นทูตเยาวชนคนมหาวิทยาลัย ช่วยขับเคลื่อนอารยสถาปัตย์ไทยรองรับสังคมผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง โครงการพัฒนาและขับเคลื่อนอารยสถาปัตย์ และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) รวมไปถึงนิคมอุตสาหกรรมและองค์กรเอกชนด้านธุรกิจขนาดใหญ่ ช่วยปลูกฝังความคิดแก่คนรุ่นใหม่ ในการสร้างอาคารบ้านเรือนที่มีรากคิดจากอารยสถาปัตย์ ที่ยังสามารถเปิดโอกาสให้คนพิการ ผู้ป่วยพักฟื้น สตรีมีครรภ์ เด็ก และผู้ด้อยโอกาสอื่น ๆ ใช้ชีวิตได้อย่างอิสระ อีกทั้งเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดี เมื่อไทยต้องเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC
ในเรื่องนี้ ดร.ประกาศิต กายะสิทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. กล่าวว่า แนวคิดอารยสถาปัตย์เกิดขึ้นเพราะต้องการให้ทุกชีวิตสามารถใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างเท่าเทียมและเป็นอิสระ ซึ่งสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของ สสส. อย่างไรก็ดี ประเทศไทยมีกฎหมายหลายฉบับ ที่มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการจัดทำสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ สำหรับคนพิการ ผู้สูงอายุและคนทุกคน ในทุกอาคารหรือสถานที่สาธารณะและแหล่งท่องเที่ยว ทั้งของรัฐและเอกชน แต่ยังคงต้องเน้นการนำแนวคิดการออกแบบเพื่อคนทุกคนไปสู่การปฏิบัติอย่างจริงจังเพิ่มขึ้น
"เราจัดกิจกรรมคัดเลือกเยาวชน มาเป็นทูตอารยสถาปัตย์เพื่อร่วมสร้างความตระหนักเรื่องนี้ต่อสังคม โดยมีเป้าหมาย ให้อาคาร ศาสนสถาน สถานที่สาธารณะ โดยเฉพาะแหล่งท่องเที่ยว และระบบคมนาคม มีการจัดสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้สูงอายุ คนพิการ และคนทุกคน อีกทั้งอยากให้ผู้บริหารองค์กรภาครัฐและเอกชน หรือผู้นำชุมชนท้องถิ่น รวมถึงประชาชนทั่วไป ตื่นตัวและเห็นความสำคัญของแนวคิดการออกแบบเพื่อคนทุกคนมากขึ้น ทั้งนี้ ประเทศไทยเองมีความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานอยู่แล้ว โดยเฉพาะระบบคมนาคมขนส่งที่เชื่อมโยงประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ท่าอากาศยาน สถานีรถไฟ สถานีขนส่ง ก็อยากให้มีการจัดทำสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนทุกคน เพื่อรองรับประชาคมอาเซียนด้วย"ผอ.สำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. กล่าวเพิ่ม
ขณะที่ กฤษนะ ละไล ผู้รับผิดชอบโครงการพัฒนาและขับเคลื่อนอารยสถาปัตย์ เผยว่า ตนเองและเครือข่ายได้ทำเรื่องอารยสถาปัตย์ในสังคมไทยอย่างจริงจังมากว่า 3 ปีแล้ว กระทั่งได้มาร่วมมือกับ สสส. และเกิดเป็นโครงการพัฒนาและขับเคลื่อนอารยสถาปัตย์ ด้วยนิสิตนักศึกษามหาวิทยาลัยขึ้นมา โดยตั้งเป้าไว้ว่าภายในปีครึ่งนับจากนี้ หรือตั้งแต่ พ.ค. 2557 – ต.ค. 2558 จะดำเนินงานใน 4 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ 1.พัฒนาเครือข่าย โดยรับสมัครและอบรม "ทูตอารยสถาปัตย์" 15-30 คน เพื่อรณรงค์สร้างความรู้ ความเข้าใจ สำรวจและติดตามการจัดทำสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้ป่วยพักฟื้น สตรีมีครรภ์ และเด็กเล็ก ตามสถานที่สาธารณะ นำไปสู่การทำอารยสถาปัตย์อย่างน้อย 40 แห่ง
2.การขยายผลนโยบายการออกแบบเพื่อคนทุกคน โดยเข้าพบผู้ตัดสินใจเชิงนโยบายและผู้บริหารหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อผลักดันให้เกิดการจัดสิ่งอำนวยความสะดวกทั้งระดับประเทศ และภูมิภาค โดยเฉพาะจังหวัดแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ เช่น ภูเก็ต เชียงใหม่ สุพรรณบุรี ขอนแก่น และ 3.สร้างแรงจูงใจ มอบประกาศนียบัตรแก่อาคารสถานที่ที่ปรับสภาพแวดล้อมและจัดสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนทุกคน สุดท้าย 4.การสื่อสารสาธารณะ เพื่อประชาสัมพันธ์และสร้างความตระหนักของสังคม
"ยิ่งเป็นเรื่องของการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน อารยสถาปัตย์จะเข้าไปมีส่วนสำคัญ ต่อการเป็น ดัชนีชี้วัดความเจริญและภาพลักษณ์ ของประเทศนั้น ๆ ว่าพร้อมหรือไม่กับการรองรับการลงทุนทางเศรษฐกิจ และท่องเที่ยวจากต่างประเทศ สำหรับไทยในเรื่องนี้ มีความพร้อมถึงครึ่งหนึ่งแล้ว เพราะเป็นรองเพียงสิงคโปร์ และมีดัชนีใกล้เคียงกับมาเลซีย ส่วนอีกครึ่งที่เหลือเป็นการกระตุ้นให้คนหันมาเห็นความสำคัญของอารยสถาปัตย์ เพราะปัจจุบันเกิดปัญหาตรงที่กฎหมายมีความก้าวหน้าในเรื่องนี้ แต่คนยังใช้ตามไม่ทัน และคิดว่าต้นทุนที่อาจเพิ่มขึ้นจากการออกแบบเชิงอารยสถาปัตย์ ไม่ใช่เรื่องใหญ่ เพราะมูลค่าและความคุ้มค่าหลังจากทำแล้ว จะทวีขึ้นอีกหลายเท่า ในรูปแบบของภาพลักษณ์ที่ดี และกลุ่มลูกค้าหรือผู้มาใช้บริการก็ขยายฐานไปยังกลุ่มอื่นๆ ที่มีกำลังจ่าย" ผู้รับผิดชอบโครงการพัฒนาและขับเคลื่อนอารยสถาปัตย์ กล่าว.
ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์