อาชีวะคึกคัก โชว์งาน “คนพันธุ์ R รับคำท้าพัฒนานวัตกรรม”

“การเรียนรู้ด้วยการลงมือปฏิบัติ” (learning by doing) กลายเป็นทักษะสำคัญในศตวรรษที่ 21 และเป็นหนึ่งในปัญหาการศึกษาที่ล้มเหลวทั่วโลก เพราะเด็กเรียนจบแล้วไม่สามารถทำงานจริงได้ ด้วยขาดการเชื่อมโยงกับสภาพแวดล้อม และสภาพปัญหาจริง

อาชีวศึกษาจึงกลายเป็น “ต้นทุน” การเรียนรู้ที่สำคัญ ท่ามกลางวิกฤตการศึกษา ที่ต้องขับเคลื่อนเพื่อให้สอดรับกับการเปิดตลาดการค้าเสรีอาเซียนในปี 2558 นี้

สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) ภายใต้โครงการส่งเสริมนวัตกรรมสร้างสรรค์การเรียนรู้ระดับอาชีวศึกษา ได้จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ “คนพันธุ์ r รับคำท้าพัฒนานวัตกรรม” ซึ่งมาจากโครงการที่ได้รับทุนสนับสนุนในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือรวม 28 โครงการ มีผู้เข้าร่วมกว่า 150 คน ณ วิทยาลัยพาณิชยการบึงพระพิษณุโลก จ.พิษณุโลก

หนึ่งในผลผลิตเชิงประจักษ์ก็คือ ประโยชน์ที่เด็กเยาวชนได้เรียนรู้ด้วยการลงมือปฏิบัติจริง ขณะที่ครูผู้สอนได้ยกระดับการจัดการเรียนการสอนผ่านการค้นคิดช่วยให้เกิดชั้นเรียนที่มีคุณภาพ

อ.ธนวัฒน์ กณะบุตร ปั่นจักรยานอัดถ่าน
อ.ธนวัฒน์ กณะบุตร ปั่นจักรยานอัดถ่าน ผลงานการคิดค้นใช้ซังข้าวโพดเป็นวัตถุดิบ

พีรพรรณ จันทนะ นักศึกษาปวช.ปี 2 วิทยาลัยเทคโนโลยีและการจัดการปง โครงการพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้ด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมตามแนวปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้เล่าถึงการร่วมวิเคราะห์แก้ปัญหาหมอกควันในท้องถิ่น เริ่มจากพื้นที่รอบวิทยาลัย เนื่องจากชาวบ้านมักเผาไร่เพื่อเตรียมพื้นที่ทำสวนไร่ข้าวโพด จึงเป็นการมาของการคิดทำจักรยานอัดถ่าน โดยใช้ซังข้าวโพดหลังเก็บเกี่ยวมาใช้เป็นวัตถุดิบ โดยมี อ.ธนวัฒน์ กณะบุตร ซึ่งเป็นผู้ขอทุนให้คำปรึกษาอย่างแข็งขัน

“เราตกลงกับชาวบ้านรอบวิทยาลัยพื้นที่ประมาณ 300 ไร่ ว่าหลังเก็บเกี่ยวเสร็จแล้ว ซังข้าวโพดที่ไม่ใช้แล้วก็ให้มาส่งที่วิทยาลัย เพื่อลดปัญหาการเผาไร่ โดยเราให้เมล็ดพันธุ์ข้าวโพด ส่วนผลผลิตก็หารสอง แล้วก็เอาซังข้าวโพดมาเข้ากระบวนการเผาในเตาเผาเอนกประสงค์ที่จะลดควัน แล้วใช้ผงซังข้าวโพดมาอัดเป็นก้อนถ่านอัดแท่ง สร้างให้เกิดรายได้เสริมของเกษตรกรได้” พีรพรรณกล่าว

ศตวรรษ หอมสมบัติ โชว์น้ำหมักชีวภาพ
ศตวรรษ หอมสมบัติ โชว์น้ำหมักชีวภาพ ป้องกันศัตรูพืชและช่วยให้ข้าวออกรวงเร็วและสวย

สอดคล้องกับ ศตวรรษ หอมสมบัติ นักศึกษาปวช.ปี 3 วิทยาลัยกำแพงเพชร จ.กำแพงเพชรกับโครงการพัฒนาการเรียนการสอนวิชาโครงการกระบวนการเรียนรู้อย่างมีส่วนร่วมกับชุมชน กรณีศึกษาวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีกำแพงเพชรกล่าวว่า เนื่องจากปุ๋ยราคาสูง ทำให้ต้นทุนการปลูกข้าวเพิ่มขึ้น ตนและเพื่อนเลยคิดหาวิธีลดค่าใช้จ่ายและเพิ่มความปลอดภัยให้ผู้บริโภค ผ่านน้ำหมักรูปแบบต่างๆ ที่ใช้แทนปุ๋ยเคมี โดยมี อ.จงกล เชื้อบุญ ให้คำปรึกษา

“ในวิทยาลัยเราเลี้ยงหมู และเมื่อหมูคลอดลูกก็มีรกหมูมาก เราก็เลยลองเอารกหมูมาหมักทำเป็นปุ๋ย เปรียบเทียบกับปุ๋ยพืชสด ซึ่งพบว่า ทำให้ข้าวออกรวงได้เร็วและรวงงาม เมื่อเปรียบเทียบกับปุ๋ยเคมี นอกจากนี้เรายังค้นพบว่า น้ำหมักจากพริก จากบอระเพ็ด และจากสะเดามีคุณสมบัติช่วยไล่ศัตรูพืชและแมลง ซึ่งเมื่อคิดถึงผู้บริโภค เราก็คิดว่า ใช้ปุ๋ยที่มาจากวัสดุธรรมชาติน่าจะปลอดภัยมากกว่า ที่สำคัญคือ จะทำให้ดินอุดมสมบูรณ์เมื่อเปรียบเทียบกับการใช้ปุ๋ยเคมี ซึ่งกระบวนการต่อไปก็จะมีการส่งต่อให้เกษตรกรรอบมหาวิทยาลัยได้ลองใช้กัน” ศตวรรษ กล่าว

ศรุต เหลือล้น นำยางพาราและเส้นใยไฟเบอร์กลาสใช้รองรับพื้นปูน ปิดท้ายด้วย ศรุต เหลือล้น นักศึกษาปวช.ปี1 วิทยาลัยสุรนารี จ.นครราชสีมา ตัวแทนทีมงานวิจัยการศึกษาความเป็นไปได้ในการนำยางพาราและเส้นใยไฟเบอร์กลาสใช้ในงานรองรับกำลังของพื้นปูน ร่วมกับนายนภสินธุ์ เจียมเดชารัตน์กล่าวว่า บ้านเรามียางพารามาก เลยคิดว่า ถนนคอนกรีตนี้จะใช้ส่วนผสมจากวัตถุดิบท้องถิ่น ก็เลยลองเอายางพารามาอัดบล็อคดู ปรากฏว่าไม่ทด แต่เมื่อใส่เส้นใยไฟเบอร์กลาสเข้าไปสัก 2-3 ชั้นก็เริ่มเห็นว่า มีความคงทนมากขึ้น สามารถรองรับกำลังของพื้นปูนได้ ตอนนี้พี่นภสินธุ์ หลังจากได้ทำโครงการนี้ก็เป็นที่สนใจได้ไปโชว์งานที่ประเทศไต้หวัน” ศรุตเล่า ก่อนทิ้งท้ายว่า

“การที่ผมได้มาร่วมสัมมนาใน 2 วันนี้ ผมไม่แน่ใจว่า ตัวผมนั้นได้ให้ความรู้แก่ครูอาจารย์ ณ ที่นี้มากน้อยเพียงใด แต่คงจะเป็นตัวผมเองมากกว่าที่ได้รับความรู้ แต่ส่วนที่สำคัญนั้น ทำให้ผมเห็นว่า งานวิจัยที่ครูอาจารย์ได้ทำขึ้นมานี้ล้วนแต่เป็นประโยชน์แก่ตัวนักเรียน นักศึกษา มิใช่เป็นประโยชน์แก่ตัวท่านเอง ผมไม่นึกเลยว่า ครูอาจารย์จะทำเพื่อผมขนาดนี้ แน่นอนว่าผมจะเอาความรู้ที่ได้ไปเป็นความรู้เพิ่มเติม และความรู้พื้นฐานในการต่อยอด และทำโปรเจ็คท์ต่อไป”

ที่มา: สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน

Shares:
QR Code :
QR Code