อากาศเอื้อต่อการไหม้ ‘มัจจุราชไฟ’

หนาวปีนี้ ดุอีกแล้ว

 

อากาศเอื้อต่อการไหม้ ‘มัจจุราชไฟ’ 

หลังมีข่าว ไฟไหม้ร้านคาราโอเกะ แห่งหนึ่ง ที่เมืองเมดาน สุมาตราเหนือ ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อต้นเดือน ธ.ค. ซึ่งมีผู้เสียชีวิตราว 20 ศพ และไล่เลี่ยกันก็มีข่าว ไฟไหม้ไนต์คลับ แห่งหนึ่ง ที่ประเทศรัสเซีย โดยเกิดจากการจุดพลุฉลองครบรอบ 8 ปีของไนต์คลับ ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 100 ศพ ในประเทศไทยเราก็มีกระแสระมัดระวังเหตุไฟไหม้ตามสถานบันเทิงต่าง ๆ อีกครั้ง และมีการนึกย้อนไปถึงเหตุการณ์ ไฟไหม้ซานติก้าผับ ในกรุงเทพฯ ในคืนฉลองรับปีใหม่ ซึ่งมีผู้เสียชีวิตอย่างสยดสยองกว่า 60 ศพ บาดเจ็บอีกเป็นจำนวนมาก

    

ในไทยเริ่มจะตื่นตัวเรื่องป้องกันไฟไหม้สถานบันเทิงแล้ว

    

แต่กับอาคารบ้านเรือนทั่ว ๆ ไปดูจะยัง…และชักไหม้ถี่ !!

    

ทั้งนี้ ย้อนไปในช่วงไม่นานจากวันนี้ สำหรับอาคารสถานที่และบ้านเรือนทั่วไปที่ไม่ใช่สถานบันเทิงก็เกิดเหตุ อัคคีภัย เกิดภัยไฟไหม้หลายแห่ง เช่น… ไหม้ที่สยามสมาคม, ไหม้ที่ชุมชนริมทางรถไฟสายท่าเรือ ถนนพระราม 4 คลองเตย วันที่ 6 ธ.ค., ไหม้กุฏิวัดบางเพรียง ที่ ต.คลองด่าน สมุทรปราการ วันที่ 6 ธ.ค., ไหม้หอพักนักศึกษา ที่ จ.ปทุมธานี วันที่ 7 ธ.ค. ต่อมาก็ไหม้อาคารพาณิชย์ย่านสะพานใหม่ มีคนแก่เสียชีวิต 1 ศพ เด็กบาดเจ็บ 1 คน และต่อเนื่องด้วยข่าวไฟไหม้ที่โน่นที่นี่ โรงงานนั้นโรงงานนี้ เป็นระยะ ๆ ซึ่งก็สะท้อนว่าอย่ากลัวกันแต่ไฟไหม้สถานบันเทิง

    

อาคารบ้านเรือนทั่วไปก็เสี่ยงต่อการเกิด ไฟไหม้ ได้ โดยไม่จำเป็นต้องมีการจุดพลุ-ประดับไฟจัดงานเฉลิมฉลองปีใหม่ และช่วง ฤดูหนาวอากาศแห้ง อย่างช่วงนี้ ยิ่ง เกิดไฟไหม้ได้ง่าย ยิ่งขึ้น!!

    

จากเหตุไฟไหม้ที่ชักจะเกิดบ่อยอีกครั้งในระยะนี้ ทาง สกู๊ปหน้า 1 เดลินิวส์ ก็ขอร่วมกระตุ้นสังคมไทย-เตือนคนไทยให้ระมัดระวังกันให้ดี ซึ่งกับแนวทางป้องกันไฟไหม้นั้น มีคู่มือเหมือน คาถา 5 บท ดังนี้คือ…..

     

1.จัดระเบียบภายใน-ภายนอกบ้านหรืออาคาร เช่น ขจัดสิ่งรกรุงรัง เก็บรักษาสิ่งที่อาจเป็นต้นเหตุให้เกิดอัคคีภัยได้ง่ายไว้เป็นสัดส่วน 2.ตรวจตราซ่อมบำรุงสิ่งที่นำมาใช้ในบ้านหรืออาคาร เช่น สายไฟฟ้า เครื่องจักรกล เครื่องทำความร้อน ฯลฯ ให้อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์และปลอดภัยอยู่เสมอ

    

3.เคร่งครัดกับข้อควรระวังต่าง ๆ อาทิ ดูแลไม่ให้เด็กเล่นไฟ ไม่จุดธูปเทียนบูชาพระทิ้งไว้ ไม่หลงลืมวางบุหรี่ทิ้งไว้หรือสูบบุหรี่บนที่นอน ระวังกาต้มน้ำไฟฟ้าไม่ให้น้ำแห้ง ไม่เปิดพัดลมข้ามวันข้ามคืน ไม่ลืมปิดทีวี ถอดปลั๊กเครื่องไฟฟ้าก่อนออกจากบ้าน ไม่วางเครื่องไฟฟ้า เช่น ทีวี ตู้เย็น ติดผนังเกินไปจนทำให้เครื่องร้อนจัดง่าย ไม่หมกผ้าขี้ริ้ว เศษกระดาษ ไม้กวาด ไว้หลังตู้เย็น เพราะอาจคุติดไฟ ไม่ใช้อุปกรณ์ไฟฟ้า เช่น หลอดไฟ บัลลาสต์ ที่ไม่ได้มาตรฐานหรือปลอมแปลง ไม่จุดไฟเผาขยะหรือหญ้าแห้งโดยไม่มีคนดูแล หุงต้มเสร็จแล้วต้องดับไฟให้สนิท ปิดวาล์วแก๊ส ไม่ใช้สิ่งของติดไฟง่าย เช่น ดีดีที สเปรย์ต่าง ๆ ใกล้เปลวไฟ จัดเก็บสิ่งของไวไฟให้ห่างจากแหล่งกำเนิดไฟ ฯลฯ

    

4.มีอุปกรณ์-ถังดับเพลิง ภาชนะใส่น้ำจัดเตรียมไว้ เผื่อกรณีฉุกเฉิน และที่สำคัญต้องรู้วิธีการดับไฟที่ถูกต้องด้วย 5.ร่วมมือ-ปฏิบัติตามคำแนะนำเกี่ยวกับความปลอดภัยจากอัคคีภัย อย่างเคร่งครัด

    

นอกจากทำตามคาถา 5 บทดังที่ว่ามาแล้ว หากต้องไปเข้าพักอาศัยตามอาคารสูง คอนโดฯ โรงแรม ควรจะปฏิบัติ-ควรรู้ถึง บัญญัติ 10 ประการ ที่ทางกองบังคับการตำรวจดับเพลิงเผยแพร่ไว้ นั่นก็คือ… 1.ตรวจสอบเรื่องอุปกรณ์-คำแนะนำความปลอดภัย จากเพลิงไหม้ และการหนี 2.ตรวจสอบทางหนีไฟฉุกเฉิน ต้องไม่ปิดตายหรือมีสิ่งกีดขวาง ให้นับจำนวนประตูห้องจากห้องที่พักถึงทางหนี หากไฟไหม้จะได้ไปถึงทางหนีได้แม้ไฟจะดับหรือปกคลุมด้วยควัน 3.เรียนรู้และฝึกฝนการเดินภายในห้องพักเข้าหาประตูและเปิดประตูได้ภายในความมืด ควรวางกุญแจห้องและไฟฉายไว้ใกล้เตียงนอนเผื่อฉุกเฉิน และหากเกิดเพลิงไหม้อย่าเสียเวลากับการเก็บสิ่งของ

    

4.หาตำแหน่งสัญญาณเตือนเพลิงไหม้ เปิดสัญญาณเมื่อเพลิงไหม้ แล้วรีบหนีออกจากสถานที่ และโทรฯแจ้งเจ้าหน้าที่ดับเพลิง 5.หากได้ยินสัญญาณเพลิงไหม้ให้หนีทันที อย่าเสียเวลาดูหรือตรวจสอบว่าไหม้จุดใด 6.ถ้าไฟไหม้ในห้องให้หนีออกมาแล้วปิดประตูทันที แล้วรีบแจ้งเจ้าหน้าที่ดูแลอาคาร-แจ้งเพลิงไหม้ 7.ก่อนหนีออกจากห้องพักให้ลองใช้มือแตะประตูก่อน ถ้าประตูเย็นจึงค่อย ๆ เปิด แล้วหนีไปยังทางหนีไฟฉุกเฉินที่ใกล้ที่สุด ซึ่งแม้ไฟจะไหม้ส่วนอื่น ไม่ได้ไหม้ในห้องเรา ก็ควรจะหนีออกมาจากห้องเราเองไว้ก่อน

    

8.หากประตูมีความร้อนอย่าเปิด โทรฯแจ้งหน่วยดับเพลิงว่าเราอยู่ที่ใด แจ้งว่าตกอยู่ในวงล้อมของไฟ หาผ้าเช็ดตัวเปียก ๆ ปิดทางเข้าของควัน ปิดพัดลมและเครื่องปรับอากาศ ส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือที่หน้าต่าง หรือชานอาคาร คอยความช่วยเหลือ 9.คลานให้ต่ำเมื่อควันไฟปกคลุม อากาศบริสุทธิ์จะอยู่ด้านต่ำของพื้นห้อง ถ้าเป็นไปได้ให้คลานหนีไปทางหนีฉุกเฉิน และนำกุญแจห้องไปด้วย ถ้าหนี ไม่ได้จะได้กลับเข้าห้องเพื่อรอความช่วยเหลือ 10.อย่าใช้ลิฟต์ขณะเกิดไฟไหม้ ลิฟต์อาจหยุดทำงานที่ชั้นไฟไหม้ ให้ใช้บันไดแทน

    

คู่มือ-บทบัญญัติเหล่านี้แม้มิใช่เรื่องใหม่…ก็อย่าได้ละเลย

    

ยิ่งอากาศช่วงนี้เอื้อต่อการเกิดไฟไหม้…ยิ่งน่าทำ-น่าจำไว้

    

เพื่อมิให้กลายเป็นเหยื่อ มัจจุราชไฟ รายต่อไป!!!

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์

 

 

Update 22-12-52

 

อัพเดทเนื้อหาโดย : ณัฏฐ์ ตุ้มภู่ 

Shares:
QR Code :
QR Code