อากาศร้อน สัตว์หงุดหงิดง่าย ระวังถูกสุนัข-แมวกัด
ที่มา : ไทยโพสต์
อากาศร้อน สัตว์หงุดหงิดง่าย ระวังถูกสุนัข-แมวกัด เสี่ยงโรคพิษสุนัขบ้า หากแสดงอาการป่วยออกมาแล้ว จะไม่สามารถรักษาให้หายได้ ผู้ป่วยจะเสียชีวิตทุกราย
กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เดือนประชาชน อากาศร้อน!!สัตว์หงุดหงิดง่าย ระวังถูกสุนัข-แมว กัดหรือข่วนเสี่ยงโรคพิษสุนัขบ้า หากถูกสัตว์ที่สงสัยว่าเป็นโรคพิษสุนัขบ้ากัดหรือข่วน แม้มีแผลเพียงเล็กน้อย ควรรีบไปพบแพทย์ทันที เพราะหากแสดงอาการป่วยออกมาแล้ว จะไม่สามารถรักษาให้หายได้ ผู้ป่วยจะเสียชีวิตทุกราย แนะประชาชนป้องกันถูกสุนัขกัดด้วยหลัก "คาถา 5 ย."
นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า "โรคพิษสุนัขบ้า" เป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน ซึ่งเชื้อจะเข้าทางบาดแผลผ่านทางกัด ข่วน เลีย หรือสัมผัสกับน้ำลายของสัตว์ เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมทุกชนิดที่ติดเชื้อ เช่น สุนัข แมว หนู ลิง ค้างคาว สัตว์ที่พบบ่อยที่สุดคือ สุนัข รองลงมาคือ แมวและโค โรคพิษสุนัขบ้าสามารถพบได้ตลอดทั้งปี แต่ในช่วงหน้าร้อนสภาพอากาศที่ร้อนอบอ้าวอาจทำให้สัตว์หงุดหงิดง่าย และเป็นช่วงที่เด็กๆ ปิดเทอม มีโอกาสสูงที่เด็กจะไปเล่นกับสุนัขหรือแมว ที่ไม่รู้จัก จึงขอให้ประชาชนระมัดระวังตนเองและบุตรหลานไม่ให้ถูกสัตว์กัดข่วน คน
หากถูกสัตว์กัด ข่วน หรือเลียบาดแผล แม้เพียงเล็กน้อย ควรรีบล้างแผลด้วยน้ำและสบู่ทันที หลายๆ ครั้งประมาณ 10 นาที ใส่ยาเบตาดีน เพื่อลดการติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า จากนั้นรีบไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยและรับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า หากต้องฉีดวัคซีนควรฉีดวัคซีนให้ครบชุดและตรงตามนัดจึงจะได้ผลเพราะหากติดเชื้อพิษสุนัขบ้าและปล่อยทิ้งไว้จนเชื้อเข้าสู่ระบบประสาท และแสดงอาการป่วยออกมาแล้ว จะไม่สามารถรักษาให้หายได้ ผู้ป่วยจะเสียชีวิตทุกราย
อธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าวต่อว่า "โรคพิษสุนัขบ้า" สามารถป้องกันได้ โดย 1.หลีกเลี่ยงการสัมผัสสุนัข แมว และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ที่ไม่ทราบประวัติการฉีดวัคซีน แม้จะเป็นสุนัขในบ้านที่ได้รับวัคซีนป้องกันแล้วก็ตามอาจได้รับเชื้อพิษสุนัขบ้าจากที่สุนัขของตนเองที่ไปเล่นกับสุนัขจรจัดนอกบ้านได้ ควรนำสัตว์เลี้ยงไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าเป็นประจำทุกปี ขึ้นทะเบียนสัตว์เลี้ยง และเลี้ยงสุนัขอย่างรับผิดชอบ 2.รู้จักวิธีป้องกันไม่ให้สุนัขกัดหรือทำร้าย ด้วยการยึดหลัก "คาถา 5 ย." ดังนี้ อย่าแหย่ สัตว์เพราะอาจโดนข่วนหรือกัดได้ อย่าเหยียบ บริเวณลำตัว ขา หรือ หางของสัตว์ อย่าแยก สัตว์ที่กำลังกัดกัน อย่าหยิบอาหารขณะสัตว์กำลังกิน และ อย่ายุ่ง กับสัตว์ที่ไม่รู้จักคุ้นเคย 3. หากถูกสุนัข หรือแมวกัดข่วนให้รีบล้างแผลใส่ยา กักหมา หาหมอ และฉีดวัคซีนเป็นประจำทุกปี รวมถึงหากพบเห็นสัตว์ที่สงสัยว่าอาจเป็นโรคพิษสุนัขบ้า คือมีอาการหางตก เดินโซเซ น้ำลายย้อย ลิ้นห้อย ตาขวาง ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์หรือผู้นำชุมชนทันที
" ทั้งนี้ปี 2562 ยังไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้า ในขณะที่สถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้าในปี 2561 ที่ผ่านมามีผู้เสียชีวิต 18 ราย จากจังหวัดบุรีรัมย์ ระยอง สงขลา และตาก จังหวัดละ 2 ราย สุรินทร์ ตรัง นครราชสีมา ประจวบคีรีขันธ์ พัทลุง หนองคาย ยโสธร กาฬสินธุ์ มุกดาหาร และสุราษฎร์ธานี จังหวัดละ 1 ราย จากข้อมูลการสอบสวนโรคพบว่า มากกว่าร้อยละ 90 ไม่ได้รับวัคซีน ภายหลังจากที่โดนสัตว์กัดหรือข่วน ประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422" อธิบดีกรม ควบคุมโรคกล่าว