อัลไซเมอร์ ภัยเงียบอันตรายที่ไม่ใช่แค่ขี้ลืม

ที่มา : เว็บไซต์ young happy


อัลไซเมอร์ ภัยเงียบอันตรายที่ไม่ใช่แค่ขี้ลืม thaihealth


แฟ้มภาพ


อัลไซเมอร์ เป็นโรคสมองเสื่อมชนิดหนึ่ง เกิดขึ้นบ่อยในผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป โดยจะพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย ผู้ป่วยที่เป็นโรคอัลไซเมอร์จะสูญเสียความสามารถทางสมอง เช่น ความทรงจำระยะสั้น การใช้เหตุผล ภาษา ความคิด และการตัดสินใจ ทำให้ส่งผลกระทบโดยตรงกับการดำเนินชีวิตประจำวัน 


โดยโรคอัลไซเมอร์เกิดจากการที่โปรตีน เบต้า-อะไมลอยด์ (Beta-Amyloid) ไปจับกับเซลล์สมอง ส่งผลให้เซลล์สมองเสื่อม ทำให้ประสิทธิภาพในการสื่อสารระหว่างเซลล์สมองลดลง โดยเริ่มจากสมองส่วนฮิปโปแคมปัส (Hippocampus) ที่มีหน้าที่ในการจดจำข้อมูลใหม่ๆ ผู้ป่วยจะเริ่มมีปัญหาเรื่องความทรงจำระยะสั้น ก่อนจะลุกลามไปยังส่วนอื่น ๆ เสมอ


ปัจจุบันนี้ อัลไซเมอร์เป็นโรคที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ ทำได้แค่ประคับประคองอาการ โดยผู้สูงอายุที่ป่วยเป็นโรคอัลไซเมอร์จะค่อยๆ พึ่งพาตัวเองได้น้อยลง มักจะมีอารมณ์แปรปรวนและก้าวร้าว ผู้ดูแลและครอบครัวจึงต้องทำความเข้าใจ เรียนรู้วิธีดูแล และรับมือกับพฤติกรรมด้านลบต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น 


วันนี้เราจะพาไปรู้จักกับ “โรคอัลไซเมอร์ในผู้สูงอายุ”  ให้มากยิ่งขึ้น เพื่อสร้างความเข้าใจในเรื่องนี้ จะได้รู้ทันการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น ไม่ว่ากับตัวเอง คนในครอบครัว หรือคนใกล้ชิด จะได้หาทางป้องกันหรือดูแลรักษาได้อย่างถูกวิธี


อาการหลงลืมต่างจากโรคอัลไซเมอร์อย่างไร


จะรู้ได้อย่างไรว่าเราแค่ขี้ลืมหรือเป็นโรคอัลไซเมอร์แล้ว? พี่ๆ อาจจะหลงลืมเรื่องที่ไม่สำคัญ ซึ่งไม่มีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวันได้ โดยอาการหลงลืมตามวัยสามารถแก้ไขให้ดีขึ้นด้วยการฝึกสติ จดบันทึก หรือเตือนตัวเองด้วยวิธีการต่างๆ เช่น สร้างโน้ต (Memo) ไว้บนโทรศัพท์มือถือ เพื่อช่วยลดการหลงลืม


ส่วนการเป็นโรคอัลไซเมอร์นั้น ระยะแรกเริ่ม ผู้ป่วยจะสูญเสียความจำระยะสั้น ซึ่งอาจดูคล้ายกับภาวะความจำเสื่อมตามธรรมชาติของผู้อายุ อย่างไรก็ตาม เมื่อเวลาผ่านไป ผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ร้อยละ 80-90 จะมีความเปลี่ยนแปลงทางพฤติกรรมหรือมีอาการทางจิตเวชร่วมด้วย ซึ่งจะทำให้การดูแลยากลำบากขึ้น 


4 ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคอัลไซเมอร์


โรคอัลไซเมอร์เกิดจากการเปลี่ยนแปลงในสมอง ส่งผลให้เซลล์สมองทำงานได้ไม่เหมือนเดิม โดยอาจเกิดจากปัจจัยเสี่ยง ดังนี้


1) อายุที่มากขึ้น โดยหลังอายุ 65 ปี จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าในทุกๆ 5 ปี


2) พันธุกรรม เช่น มีคนในครอบครัวป่วยเป็นโรคนี้หลายคน หรือมียีน ApoE4


3) ผู้ป่วยโรคดาวน์ซินโดรม เป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการเป็นอัลไซเมอร์


4) ผู้ที่มีน้ำหนักเกินมาตรฐาน ขาดการออกกำลังกาย, สูบบุหรี่, ความดันโลหิตสูง, ไขมันในเลือดสูง


8 แนวทางป้องกันโรคอัลไซเมอร์


โรคอัลไซเมอร์เป็นโรคที่เกิดขึ้นกับผู้สูงอายุเป็นส่วนใหญ่ แต่ก็ไม่ใช่ว่าผู้สูงอายุทุกคนจะต้องเป็นโรคนี้ โดยเราสามารถลดปัจจัยเสี่ยงเพื่อป้องกันการเป็นโรคอัลไซเมอร์ได้ ดังนี้


1) รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ หลีกเลี่ยงอาหารที่มีโคเลสเตอรอลสูง


2) รักษาน้ำหนักตัวไม่ให้เกินมาตรฐาน


3) ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ


4) ไม่สูบบุหรี่ รวมถึงหลีกเลี่ยงการอยู่ในพื้นที่ที่มีควันบุหรี่


5) ระมัดระวังการเกิดอุบัติเหตุทางศีรษะและสมอง


6) ดูแลสุขภาพร่างกายให้ดี คอยตรวจสุขภาพประจำปี


7) ฝึกสมองอยู่เสมอ เช่น ฝึกคิดเลข อ่านหนังสือ ฝึกใช้อุปกรณ์ใหม่ๆ


8) มีความปฏิสัมพันธ์ทางสังคม พบปะพูดคุยกับผู้อื่นบ่อยๆ


อาการที่เข้าข่ายโรคอัลไซเมอร์มี 7 อาการดังนี้


1) มีความเข้าใจทางภาษาลดลง เรียกชื่อสิ่งของไม่ถูก พูดย้ำ หรือพูดน้อยลง


2) มีความสับสนเรื่องเวลาหรือสถานที่


3) ไม่สามารถเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ได้


4) ไม่สามารถทำกิจกรรมที่เคยทำได้มาก่อน


5) ไม่สามารถบริหารจัดการหรือตัดสินใจแก้ไขปัญหาได้


6) ไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวันได้


7) บุคลิกภาพเปลี่ยนไป เช่น ซึมเศร้า โมโหง่าย หวาดระแวง เป็นต้น


การดูแลรักษาผู้สูงอายุที่ป่วยเป็นโรคอัลไซเมอร์


1) การดูแลเรื่องกิจวัตรประจำวันและการฝึกทักษะการเข้าสังคม คอยสนับสนุนและให้ความช่วยเหลือตามขีดความสามารถของผู้ป่วย ทำกิจกรรมร่วมกับครอบครัวและผู้อื่นตามความเหมาะสม


2) การดูแลปรับสิ่งแวดล้อมให้เหมาะสม ดูแลสภาพแวดล้อมเพื่อลดสิ่งกระตุ้นที่จะทำให้อาการของผู้ป่วยแย่ลง เช่น การปรับสภาพบ้านให้ปลอดภัย เสียงรบกวนน้อย ไม่มีข้าวของเกะกะบนพื้น และมีแสงสว่างเพียงพอ


3) การฟื้นฟูผู้ป่วยด้านกายภาพ ผู้ป่วยจะมีความสามารถใช้งานอุปกรณ์ต่างๆ ได้ลดลง ผู้ดูแลจึงควรสังเกตและคอยปรับอุปกรณ์ให้ง่ายต่อการใช้งาน หรือปรับกิจกรรมให้เหมาะสมกับผู้ป่วย นอกจากนี้ ยังต้องคอยกระตุ้นระบบประสาทสัมผัสด้วยการบีบ จับ นวด หรือด้วยการทำกิจกรรมต่างๆ ให้ผู้ป่วยได้เคลื่อนไหว จะได้ฝึกสมรรถภาพทางกายภาพ


4) การให้ความรู้กับผู้ดูแลผู้ป่วย ผู้ดูแลเป็นบุคคลสำคัญที่จะต้องคอยดูแลผู้ป่วยในยามที่เขาช่วยเหลือตัวเองไม่ค่อยได้ ดังนั้น ผู้ดูแลจะต้องมีความรู้เกี่ยวกับการดูแลผู้ป่วยในระยะต่างๆ


5) การดูแลด้านพฤติกรรมและจิตบำบัด ปัญหาเรื่องพฤติกรรมและอารมณ์เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นบ่อยๆ ดังนั้น จึงควรให้ความรู้กับผู้ดูแลเกี่ยวกับวิธีการรับมือปัญหาต่างๆ


การรักษาโดยการใช้ยา


1) ยาที่ใช้รักษาตามอาการด้านการรู้คิด กลุ่มยาที่ใช้เพื่อยับยั้งสารทำลายสารสื่อประสาทในสมอง (Acetylcholine Esterase Inhibitor) เช่น Donepezil, Galantamine, Rivastigmine


2) ยาที่ใช้รักษาปัญหาพฤติกรรม อารมณ์ และความผิดปกติทางจิต ยาที่ให้เพื่อรักษาอาการทางจิต เช่น ยาต้านเศร้า ยาลดอาการหลงผิดประสาทหลอนและอาการกระวนกระวาย ยาคลายกังวลหรือยานอนหลับ โดยแพทย์จะปรับยาตามอาการโดยคำนึงถึงประโยชน์และผลข้างเคียงของการใช้ยา 


การดูแลรักษาผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์จำเป็นต้องดูแลอย่างครอบคลุมทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นการดูแลรักษาด้านกายภาพ ด้านพฤติกรรมและจิตใจ ด้านการเข้าสังคม รวมไปถึงการให้ความรู้แก่ผู้ดูแลและครอบครัวของผู้ป่วย เพื่อที่ผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์จะได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีในบั้นปลาย

Shares:
QR Code :
QR Code