อันตรายจากไฟฟ้าหน้าฝน! ป้องกันได้
ช่วงนี้ฝนตกค่อนข้างมากและตกตลอด และมักจะมีปัญหาเกิดขึ้นพร้อม ๆ กับหน้าฝน ตั้งแต่เรื่องของ สุขภาพ อุบัติเหตุจากการเดินทาง หรือจากสัตว์ที่มีพิษ และโดยเฉพาะเรื่องใกล้ตัว นั่นคือ ไฟฟ้า อย่างที่ทราบกันดีว่า ไฟฟ้ามีทั้งคุณและโทษ แต่คงปฏิเสธไม่ได้ว่ามีหลายเหตุการณ์ที่ไม่น่าเกิดขึ้น
โดย รศ.นพ.พรพรหม เมืองแมน ภาควิชาศัลยศาสตร์ Faculty of Medicine Siriraj Hospital คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล อธิบายถึงอันตราย ข้อควรระวังต่างๆ รวมถึงวิธีในการปฐมพยาบาลผู้ที่ถูกไฟดูดหรือไฟช๊อต ดังนี้
"สื่อ" หรือ "ฉนวน" คืออะไร
สื่อนำไฟฟ้า คือ สิ่งที่เป็นทางเดินของไฟฟ้า เช่น เส้นลวด สายไฟ วัสดุที่เป็นโลหะ รวมไปถึงผิวหนังของคนเรา เพราะในภาวะที่เปียกชื้นถือเป็นสื่อนำไฟฟ้าได้ดีทีเดียว รู้จักสื่อกันแล้วก็ควรรู้จักฉนวนไฟฟ้าด้วย ฉนวนไฟฟ้า คือ วัสดุ วัตถุ สิ่งของที่ไฟฟ้าไม่สามารถไหลผ่านได้ มักจะเป็นวัสดุแห้ง เช่น แผ่นยาง แผ่นไม้ พลาสติก ผ้า ฯลฯ
อุบัติเหตุใดเกิดอันตรายได้
อุบัติเหตุที่เกิดจากไฟฟ้า ที่พบบ่อยเกิดจากอุปกรณ์เครื่องใช้ที่มีไฟรั่วและบริเวณนั้นมีน้ำท่วมชื้น ก็จะมีการลัดวงจรไฟฟ้าเกิดขึ้น นอกจากนี้อาจเกิดจาก ฟ้าร้อง ฟ้าผ่า ซึ่งเป็นอุบัติเหตุที่รุนแรงที่สุด การถูกฟ้าผ่า กระแสไฟฟ้าจะทำอันตรายต่อการทำงานของหัวใจและสมอง ทำให้คลื่นหัวใจเต้นผิดปกติเกิดหัวใจวายเฉียบพลันได้ ซึ่งเราพบไม่บ่อยนักในกรณีนี้เมื่อเทียบกับผู้ถูกไฟฟ้าดูด ไฟฟ้าช็อต แม้อุปกรณ์เครื่องใช้ในบ้านจะมีกระแสไฟฟ้า 220 โวลต์ ซึ่งถือเป็นไฟฟ้าแรงต่ำ แต่ถ้าผู้นั้นถูกไฟฟ้าดูดหรือช็อตเป็นเวลานาน อาจทำให้เสียชีวิตได้ หรือขาดเลือดรุนแรงจนถึงกับสูญเสียอวัยวะหรือกลายเป็นผู้พิการในที่สุด
การปฐมพยาบาลเบื้องต้น
1. ต้องเคลื่อนย้ายผู้ป่วยออกจากบริเวณที่ถูกไฟดูด ไฟช๊อตให้เร็วที่สุด และที่สำคัญที่สุดคือ ต้องป้องกันอันตรายไฟฟ้าดูดจากผู้ที่จะเข้าไปช่วยเหลือด้วย ซึ่งบ่อยครั้งพบว่าผู้ที่เข้าไปช่วยเหลือกลับไม่ได้ระวังตรงจุดนี้จนถูกกระแสไฟฟ้าดูดเสียชีวิตไปด้วย
เมื่อพบแหล่งไฟฟ้ารั่ว ควรพยายามหาทางตัดวงจรไฟฟ้าเสียก่อน ซึ่งส่วนใหญ่มักลืมตัดไฟฟ้าที่ลัดวงจร หรือผู้ที่ถูกไฟฟ้าแรงสูงดูด และมีสายไฟพาดผ่านตัว ต้องหาวัสดุที่เป็นฉนวนไม่นำกระแสไฟฟ้า เช่น ไม้เขี่ย หรือผ้า เพื่อนำสายไฟนั้นให้พ้นจากตัวผู้ป่วยก่อนที่จะเข้าไปช่วยเหลือ ไม่ควรใช้มือเปล่า หรือส่วนของร่างกายที่ไม่มีฉนวนหุ้มถูกต้องกับตัวผู้ป่วยหรือสายไฟ
นอกจากนี้ต้องพยายามตรวจดูให้ละเอียดว่าบาดแผลซึ่งเกิดร่วมกับผู้ป่วยที่ถูกไฟฟ้าดูด เช่น อาจพลัดตกจากที่สูง มีบาดเจ็บที่ศีรษะ หรือกระดูกส่วนต่าง ๆ หักหรือไม่ อย่าง กระดูกคอ กระดูกแขนขา หรือกระดูกสันหลัง เพราะหากไม่ระมัดระวังในจุดนี้และทำไม่ถูกต้องในการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยออกจากที่เกิดเหตุ อาจทำให้เกิดความพิการอัมพาตตามมาได้
2. ตรวจดูว่าหัวใจยังเต้นอยู่หรือไม่ เพราะกระแสไฟฟ้าแรงสูงที่ไหลผ่านหัวใจ อาจทำให้คลื่นหัวใจหยุดเต้นได้ โดยใช้นิ้วมือคลำดูจากการเต้นของชีพจรบริเวณคอ ถ้าหัวใจหยุดเต้น ต้องทำการนวดหัวใจไปพร้อม ๆ กับการผายปอด
3. หลังจากช่วยเหลือผู้ป่วยออกมาได้แล้วให้รีบนำส่งโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด
ข้อห้ามที่ไม่ควรทำเมื่อช่วยเหลือ
1. ห้ามเข้าไปช่วยผู้ถูกไฟฟ้าช๊อต จนกว่าจะแน่ใจได้ว่าผู้บาดเจ็บมิได้สัมผัสกับสายไฟฟ้าหรือตัวนำไฟฟ้าใด ๆ ถ้าจำเป็น ต้องหาวัสดุที่เป็นฉนวนไม่นำกระแสไฟฟ้า เช่น ไม้เขี่ย หรือผ้ามาเขี่ยสายไฟออกจากผู้บาดเจ็บก่อน
2. ถ้าผิวหนังผู้ที่จะช่วยนั้นเปียกชื้น ห้ามเข้าไปช่วยเพราะอาจเป็นตัวนำกระแสไฟฟ้าและถูกไฟฟ้าดูดได้
3. ถ้าไม่แน่ใจว่าจะปลอดภัยหรือไม่ในการเข้าไปช่วยเหลือ เนื่องจากไม่มีความรู้ในการตัดกระแสวงจรไฟฟ้าหรือวิธีการช่วยเหลือที่ถูกต้อง ให้รีบตามคนมาช่วย
ป้องกันอันตรายจากไฟฟ้าดูด
1. หมั่นตรวจเช็คอุปกรณ์และสายไฟ และควรซ่อมแซมส่วนที่ชำรุด
2. บริเวณที่วางสายไฟ ไม่ควรให้สิ่งของที่หนักไปทับ และวางให้พ้นทางเดิน
3. เครื่องใช้ไฟฟ้าไม่ควรจะเปียกน้ำ
4. ห้ามซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้าเองโดยที่ไม่มีความรู้
5. ไม่ควรใช้ไฟฟ้าหลายอย่างกับปลั๊กไฟตัวเดียว
6. ต่อสายดินเพื่อจะให้ไฟลงดิน
7. และควรติดตั้งเครื่องตัดไฟฟ้าลัดวงจรภายในบ้าน เพื่อความปลอดภัยและเป็นการป้องกันที่ดี
อันตรายจากไฟฟ้า ป้องกันได้ และเมื่อเกิดเหตุร้ายจากไฟฟ้ากับคุณหรือคนใกล้เคียง พยายามตั้งสติและปฏิบัติตามคำแนะนำข้างต้น อย่าลืมนะครับ “อันตรายจากไฟฟ้า ป้องกันได้ถ้าไม่ประมาท”
ที่มา : เว็บไซต์คณะแพทย์ศาสตร์โรงพยาบาลศิริราช มหาวิทยาลัยมหิดล
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต