อันตรายจากสารเคมี ที่ทำให้เกิดควันพิษ

ที่มา :  กรมควบคุมโรค 


อันตรายจากสารเคมี ที่ทำให้เกิดควันพิษ  thaihealth


เเฟ้มภาพ


กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เตือนประชาชนระมัดระวังอันตรายจากสารเคมีที่ทำให้เกิดควันพิษ หากสูดดมเข้าไป อาจเกิดการระคายเคืองต่อเยื่อบุทางเดินหายใจได้ โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยงหากได้รับควันพิษเข้าสู่ร่างกาย อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพมากกว่าปกติ พร้อมแนะวิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้นเมื่อสัมผัสหรือสูดดมควันพิษเข้าไป และขอให้ประชาชนติดตามข้อมูลข่าวสารจากหน่วยงานราชการอย่างใกล้ชิด


นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากกรณีที่มีรายงานข่าวไฟไหม้โรงงานพลาสติก และมีการระเบิดเกิดขึ้นที่จังหวัดสมุทรปราการ ทำให้มีควันพิษลอยขึ้นเต็มท้องฟ้า ส่งผลให้ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ได้รับผลกระทบต่อสุขภาพเป็นอย่างมาก นั้น กรมควบคุมโรค ได้สั่งการไปยังหน่วยงานในสังกัดทั้งในส่วนกลาง ได้แก่ กองโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม ให้ติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์ของควันพิษอย่างต่อเนื่อง พร้อมทีมลงพื้นที่ร่วมกับหน่วยงานในส่วนภูมิภาค ได้แก่ สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 6 จังหวัดชลบุรีให้ลงพื้นที่คัดกรองสุขภาพผู้ที่ได้รับผลกระทบในรัศมีที่เกี่ยวข้องในวันที่ 6-7 ก.ค. นี้ เพื่อประเมินสถานการณ์ความปลอดภัยอีกครั้ง


โดยเน้นการเฝ้าระวัง 2 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยง จะมีการเฝ้าระวังติดตามผลกระทบด้านสุขภาพอย่างต่อเนื่อง  2.กลุ่มเจ้าหน้าที่เผชิญเหตุ ได้แก่ พนักงานดับเพลิง จะมีการตรวจคัดกรองสุขภาพเพื่อติดตามอาการและเฝ้าระวังผลกระทบหลังการปฏิบัติงาน


สารเคมีที่ทำให้เกิดควันพิษในครั้งนี้คือ สารเคมีสไตรีนโมโนเมอร์ เป็นสารเคมีที่มีลักษณะเป็นของเหลว ใส ไม่มีสี  แต่มีกลิ่นเฉพาะตัว สามารถกลายเป็นไอระเหยและลุกติดไฟได้ และพิษจากสารเคมีอื่นๆ ที่เกิดจากการเผาไหม้สไตรีน ได้แก่ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ ควันดำหรือฝุ่น PM10 และ PM2.5 ถ้าสูดดมเข้าไป จะทำให้เกิดการระคายเคืองระบบทางเดินหายใจ ปวดศีรษะ มึนงง อ่อนเพลีย คลื่นไส้ และมึนเมา หากได้รับสารพิษปริมาณมาก อาจทำให้เกิดอาการหมดสติและเสียชีวิตได้ หรือถ้าสัมผัสถูกผิวหนัง จะรู้สึกระคายเคืองผิว ทำให้ผิวแดง แห้ง และแตก ซึ่งสารสไตรีนโมโนเมอร์ยังเป็นสารที่อาจก่อให้เป็นมะเร็งได้


นอกจากนี้ ผลกระทบจากควันพิษดังกล่าว หากประชาชนอยู่ในรัศมี 5 กม. ให้อพยพด่วนที่สุด 7 กม. ให้เฝ้าระวังสูงสุด และ 10 กม. ให้เฝ้าระวัง ซึ่งควันพิษอาจส่งผลให้ประชาชนในพื้นที่มีความเสี่ยงป่วยจาก 4 กลุ่มโรค ดังนี้ 1.กลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือด เช่น เหนื่อยง่าย หัวใจเต้นเร็ว 2.กลุ่มโรคระบบทางเดินหายใจ เช่น คัดจมูก น้ำมูกไหล แสบจมูกและลำคอ 3.กลุ่มโรคผิวหนังอักเสบ เช่น อาการคันตามร่างกาย มีผื่นแดงตามร่างกาย และ 4.กลุ่มโรคตาอักเสบ เช่น อาการแสบหรือคันตา ตาแดง น้ำตาไหล และมองภาพไม่ค่อยชัด ทั้งนี้ ประชาชนกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ กลุ่มเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคปอด หอบหืด ภูมิแพ้ เป็นต้น  หากได้รับสารพิษเข้าสู่ร่างกาย อาจทำให้เกิดการเจ็บป่วยหรือมีผลกระทบต่อสุขภาพที่รุนแรงมากกว่าประชาชนทั่วไป


นายแพทย์โอภาส กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับหลักการปฐมพยาบาลเบื้องต้นเมื่อสัมผัสกับควันพิษ ดังนี้ 1.หากโดนผิวหนัง ให้ล้างบริเวณที่ถูกสารเคมีโดยใช้น้ำสะอาดล้างให้มากที่สุดเพื่อให้เจือจาง ถ้าสารเคมีถูกเสื้อผ้าให้ถอดเสื้อผ้าออกก่อน  2.หากเข้าตา ให้ล้างตาด้วยน้ำสะอาดทันที โดยเปิดเปลือกตาขึ้นให้ไหลผ่านตาอย่างน้อย 15 นาที แล้วรีบนำส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว  3.หากการสูดดมควันพิษเข้าไป ให้ย้ายผู้ป่วยไปที่ที่มีอากาศบริสุทธิ์หรือมีอากาศถ่ายเท และทำการประเมินการหายใจ หรือการเต้นของหัวใจ ถ้าชีพจรอ่อนให้ทำการปั้มหัวใจช่วยชีวิต หรือ CPR และแจ้งไปที่เบอร์สายด่วนศูนย์แพทย์ฉุกเฉิน โทร. 1669


ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากควันพิษสวมใส่หน้ากากที่มีไส้กรองทำด้วยชาร์โคลเป็นวัสดุดูดซับ (CHACOAL MASK) และติดตามข้อมูลข่าวสารจากหน่วยงานราชการอย่างใกล้ชิดเพื่อเตรียมความพร้อมอยู่เสมอหากมีการประกาศอพยพเพิ่มเติม สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่กองโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมโรค โทร 02 590 3866

Shares:
QR Code :
QR Code