อันตรายคนอยากผอม
ข่าวสาวขายประกันเสียชีวิตในบ้าน จ.ปทุมธานี ซึ่งคาดว่าอาจเกิดจากการกินยาลดความอ้วนนั้น นพ.พงศ์พันธ์ วงศ์มณี รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ให้ข้อมูลว่า ยาลดความอ้วนแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ ยาที่ออกฤทธิ์ที่ทางเดินอาหาร และยาที่ออกฤทธิ์ที่สมองส่วนกลาง โดยยาที่ออกฤทธิ์ที่สมองส่วนกลางจะมีผลข้างเคียงที่มีอันตรายถึงชีวิต จึงต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์
นอกจากนี้ ยังพบว่ามีการจำหน่ายยาชุดที่มีการนำไปใช้ลดน้ำหนัก โดย จัดไว้เป็นชุดให้กินเหมือนกันในแต่ละวัน ประกอบด้วยยา 1-5 รายการ อาทิ ยาลดความอยากอาหาร, ยาระบาย, ยาขับปัสสาวะ, ยาลดการหลั่งของกรดในกระเพาะอาหาร ยานี้ไม่มีผลต่อการลด น้ำหนัก แต่ใช้เพื่อลดผลข้างเคียงที่อาจเกิดจากยาลดความอยากอาหาร การที่ร่างกายไม่ได้รับอาหาร แต่ยังมีกรดหลั่ง เพื่อย่อยอาหาร อาจเป็นเหตุให้เกิดโรคกระเพาะ จึงให้ยานี้เพื่อลดการหลั่งกรดในกระเพาะอาหาร, ยาธัยรอยด์ฮอร์โมน เป็นยาที่ใช้รักษาผู้ป่วยที่มีภาวะฮอร์โมนธัยรอยด์ ต่ำกว่าปกติ เพิ่มการเผาผลาญพลังงาน ในร่างกาย น้ำหนักจึงลดลงอย่างรวดเร็ว แต่น้ำหนักที่ลดลงเป็นน้ำหนักที่เกิดจาก มวลรวมของร่างกายแทนที่จะเป็นไขมัน ดังนั้น ยานี้จึงส่งผลข้างเคียงสูงมาก และ ยังเป็นอันตรายต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด, ยาลดอัตราการเต้นของหัวใจ เช่น โพรพราโนลอล ปกติใช้ในการรักษาความดันโลหิตสูง และการเต้นของหัวใจผิดจังหวะ ยาจะลดอาการใจสั่นที่เกิดจากยาลดความอยากอาหาร, ยานอนหลับ หรือยาที่มีฤทธิ์ข้างเคียงให้ง่วงนอน เพราะยาลดความอยากอาหารอาจทำให้นอนไม่หลับ สำหรับยานอนหลับที่จัดเป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท เช่น ไดอาซีแพม มี ผลข้างเคียง เช่น ง่วงซึม กดการหายใจ ความดันต่ำ ฯลฯ
ยาเหล่านี้ หากกินจะยิ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพ เมื่อหยุดยาน้ำหนักจะกลับขึ้นได้อีก (yo-yo effect) ดังนั้น การลดน้ำหนักที่ถูกต้อง คือ ควบคุมอาหาร ออกกำลังกาย พักผ่อนในสัดส่วนที่เหมาะสม และต้องเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม
ที่มา : หนังสือพิม์มติชน