ออสเตรเลีย ขึ้นภาษียาสูบนำเงินรักษามะเร็ง
รัฐบาลออสเตรเลียประกาศขึ้นภาษีอีก 12.5% ระหว่าง พ.ศ.2559 – 2560 โดยเป็นการขึ้นภาษีเพิ่มเติมจากที่จะต้องมีการปรับเพิ่มตามการเปลี่ยนแปลงค่าครองชีพที่ปรับเพิ่มภาษีทุก 6 เดือนอยู่แล้ว
ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ เปิดเผยว่า โดยรัฐบาลออสเตรเลียได้ประกาศเป็นนโยบายก่อนหน้านี้ ที่จะลดความสูญเสียจากการสูบบุหรี่ด้วยสามมาตรการหลักคือ การขึ้นภาษี การออกกฎหมายซองบุหรี่แบบเรียบ และการเตือนพิษภัยยาสูบบนซองบุหรี่ กับการรณรงค์ผ่านสื่อหลัก เช่น ทางทีวี
ชาวออสเตรเลียเสียชีวิตจากการสูบบุหรี่ ปีละ 15, 000 คน เป็นสาเหตุหลักของการเสียชีวิตที่ป้องกันได้ รัฐบาลออสเตรเลียคาดหวังว่าการขึ้นภาษีนี้จะลดจำนวนวัยรุ่นที่จะสูบบุหรี่ ในแต่ละปี ออสเตรเลียมีจำนวนผู้ป่วยที่อยู่โรงพยาบาลนับรวมกันเป็นจำนวน 750,000 วัน การขึ้นภาษีอีก 12.5 % จะทำให้รัฐบาลเก็บภาษีเพิ่มขึ้นอีก โดยการขึ้นภาษีจะเริ่มวันที่ 1 ธันวาคม 2556
การขึ้นภาษีครั้งนี้มีวัตถุประสงค์หลายอย่าง ตั้งแต่การทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น เพื่อเป็นงบประมาณในการรักษาผู้ป่วยมะเร็งและโรคเส้นเลือดสมอง ทำให้เยาวชนติดบุหรี่น้อยลง และทำให้รัฐบาลมีรายได้เพิ่มขึ้น รัฐบาลออสเตรเลียใช้งบประมาณในการรักษาโรคมะเร็ง ปัจจุบันนี้ออสเตรเลียเป็นหนึ่งในประเทศที่เก็บภาษีบุหรี่สูงสุด
ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวเพิ่มเติมว่า ออสเตรเลียไม่มีปัญหาบุหรี่มวนเอง และไม่มีการแบ่งซองขายบุหรี่เป็นมวนๆ ทำให้สามารถขึ้นภาษีเพื่อทำให้คนสูบบุหรี่น้อยลงได้อย่างเต็มที่ ซึ่งแตกต่างจากประเทศไทยที่มีผู้สูบบุหรี่ยาเส้นสี่ล้านกว่าคน และผู้สูบบุหรี่ซองที่ผลิตจากโรงงาน 5 ล้านคน ครึ่งหนึ่งซื้อบุหรี่ที่แบ่งซองขาย
การสำรวจเมื่อปี พ.ศ.2554 พบว่า ผู้ที่สูบบุหรี่ซองใช้เงิน 586 บาทต่อเดือน เปรียบเทียบกับผู้ซื้อบุหรี่ยาเส้นมวนเองที่ใช้เงินเพียง 37.5 บาทต่อเดือน กระทรวงการคลังจึงต้องขึ้นภาษีบุหรี่ยาเส้นเป็นระยะๆ เพื่อให้ยาเส้นมีราคาแพงขึ้น มิฉะนั้นการสูบบุหรี่ของคนไทยยากที่จะลดลง
ที่มา : มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่