ออม ‘เวลา’ ไว้ใช้บั้นปลาย เตรียมตัวสูงวัยอย่างมีคุณภาพ

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ


ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ


ออม 'เวลา' ไว้ใช้บั้นปลาย เตรียมตัวสูงวัยอย่างมีคุณภาพ thaihealth


ออม 'เวลา' ไว้ใช้ในบั้นปลาย เตรียมตัวสูงวัยอย่างมีคุณภาพ


โครงการ "ออมเวลา จิตอาสาใส่ใจพัฒนาสังคม" ถือเป็นโครงการที่ต่อยอดจาก "โครงการธนาคารเวลา" โดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กรมกิจการผู้สูงอายุ (ผส.) ซึ่งรัฐบาลได้นำตัวอย่างจากต่างประเทศมาประยุกต์ให้สอดคล้องกับบริบทสังคมไทย โดยกำหนดให้นโยบายธนาคารเวลา เป็น 1 ใน 10 เรื่องสังคมผู้สูงอาย ซึ่งเป็นวาระแห่งชาติ ทั้งเป็นวาระเร่งด่วนดำเนินการ ปี 2561-2564 เพื่อเป็นพื้นที่ให้จิตอาสาแบ่งปัน เวลาดูแลผู้สูงอายุ รวมถึงสะสมเวลาไว้เมื่อต้องการและจำเป็นที่ต้องได้รับการดูแลตอบแทน


การเคหะแห่งชาติ จึงได้ขับเคลื่อน "โครงการธนาคารเวลา" โดยกรมกิจการผู้สูงอายุ (ผส.) ภายใต้โครงการ "ออมเวลา จิตอาสาใส่ใจพัฒนาสังคม" นำร่องอาคารโครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง ระยะที่ 1 เปิดพื้นที่ให้จิตอาสาในชุมชนแบ่งปันเวลาดูแลผู้สูงอายุสะสมเวลา สร้างสังคมแห่งการช่วยเหลือรองรับสังคมสูงวัยในอนาคต ปัจจุบันได้มีการนำร่องโครงการธนาคารเวลา ในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกว่า 42 แห่งใน 28 จังหวัด มีจิตอาสาในพื้นที่นำร่อง 2,115 คน


สำหรับกรุงเทพมหานคร พม. โดย กรมกิจการผู้สูงอายุ (ผส.) และการเคหะแห่งชาติ (กคช.) ร่วมกับภาคีเครือข่าย ได้ขับเคลื่อนธนาคารเวลาภายใต้โครงการ "ออมเวลา จิตอาสาใส่ใจพัฒนาสังคม" ในพื้นที่โครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง ระยะที่ 1 ซึ่งปัจจุบันมีผู้อาศัย 956 คน เป็นผู้สูงอายุ 252 คน คนพิการ 12 คน ผู้ป่วยติดเตียง 3 คน โดยดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ เช่น รับส่งไปพบแพทย์ ให้คำปรึกษาแนะนำ ช่วยทำความสะอาดห้องพัก งานช่าง เป็นต้น


"ธัชพล กาญจนกูล" ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ กล่าวว่า จุดประสงค์ของโครงการดังกล่าว คือ ต้องการให้คนในชุมชนมีการดูแลซึ่งกันและกัน ไม่ว่าจะเรื่องสุขภาพและกิจกรรมต่าง ๆ สอดคล้องกับนโยบายของการเคหะฯ ที่ต้องการให้ผู้อยู่อาศัยได้รับความสะดวกสบาย คุณภาพชีวิตดีขึ้น เนื่องจากชุมชนทั่วไปต้องมีผู้สูงอายุอาศัยอยู่ราว 20% ต่อชุมชน แต่ที่ดินแดงมีผู้สูงอายุอาศัยอยู่สูงกว่าเกณฑ์มาตรฐาน


หลักสำคัญคือ เน้นกลไกการมีส่วนร่วมให้คนทุกรุ่นเข้ามาช่วยกัน เพื่อให้ทุกคนตระหนักถึงคุณค่าและศักดิ์ศรีของตนเองและผู้อื่น ที่สำคัญคือสร้างสัมพันธภาพระหว่างเพื่อนบ้าน และสุดท้ายเน้นในเรื่องส่งเสริมสุขภาพจิตและสุขภาพกายดี ทั้งนี้ หลักของการสะสมเวลา คือ การบันทึกกิจกรรมจิตอาสาของสมาชิก รวมถึงการใช้เวลา และคำนวณง่าย ๆ คือ 1 ชั่วโมง เท่ากับ 1 คะแนน โดยมีผู้รับรองเวลา พร้อมแต่งตั้งคณะกรรมการจากคณะกรรมการเฉพาะกิจขึ้นเพื่อเป็นพี่เลี้ยงในช่วงแรก หลังจากนี้จึงจะให้เป็นหน้าที่ของคนในชุมชนช่วยกันดูแล


ปัจจุบัน โครงการ "ออมเวลา จิตอาสาใส่ใจพัฒนาสังคม" หลังจากเปิดตัวเมื่อต้นปีที่ผ่านมา มีสมาชิกเข้าร่วม 28 คน แบ่งเป็นผู้ให้บริการจิตอาสา 20 คน ผู้รับบริการ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ 8 คน ตั้งเป้าขยายโครงการสู่ชุมชนอื่น ๆ อาทิ ห้วยขวาง คลองจั่น ซึ่งเป็นโครงการเก่าแก่อายุกว่า 50 ปี เช่นเดียวกับที่ดินแดงและมีผู้สูงอายุอาศัยอยู่ค่อนข้างมากเช่นเดียวกัน


"โครงการนี้จะประสบความสำเร็จได้ต้องอาศัย 2 ส่วน คือ ส่วนคนที่เป็นจิตอาสา และส่วนที่เป็นผู้รับบริการ ดังนั้น โครงการที่อยู่อาศัยของเราจึงค่อนข้างเหมาะ เพราะมีปู่ย่าตายายอยู่อาศัยในตอนกลางวันแตกต่างจากโครงการที่อยู่อาศัยของเอกชนที่ส่วนใหญ่เป็นวัยทำงาน ปัจจุบันระบบสะสมเวลายังเป็นแบบจดมืออยู่ แต่ต่อไปคาดว่าจะพัฒนาเป็นแอพพลิเคชั่นในอนาคต พร้อมขยายโครงการไปยังชุมชนอื่น ๆ ทั่วประเทศ คาดตอบโจทย์สังคมผู้สูงอายุได้อย่างแน่นอน"


ทั้งนี้ นอกจากการโครงการออมเวลาฯ แล้ว ในแต่ละโครงการของการเคหะฯ จะมีชุมนุมผู้สูงอายุทุกแห่ง เพื่อให้คนในชุมชนได้ทำกิจกรรมร่วมกัน รวมถึงเน้นสร้างพื้นที่รองรับผู้สูงอายุ โดยมีทางลาด ราวจับ ฯลฯ ในโครงการใหม่ ๆ ที่ก่อสร้างในช่วงหลังอีกด้วย


ออม 'เวลา' ไว้ใช้บั้นปลาย เตรียมตัวสูงวัยอย่างมีคุณภาพ thaihealth


'ญี่ปุ่น'ต้นแบบธนาคารเวลา


วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ เขียนเรื่อง "ธนาคารเวลา" ไว้ว่า เป็นหนึ่งแนวทางการดูแลประชากรสูงวัยที่อาศัยบริการจากผู้สูงวัยที่ยังแข็งแรง ช่วยดูแลผู้สูงวัยที่อ่อนแอกว่า และเก็บสถิติเวลาสะสมไว้ เสมือนหนึ่งเราออมเงินในบัญชีธนาคารของเรา โดยเวลาในการดูแลผู้สูงวัยอื่นที่ฝากเอาไว้สามารถถอนมาใช้ได้เมื่อเราต้องการ เช่น ยามต้องการเพื่อนคุย ยามล้มป่วย หรือเมื่อช่วยตัวเองไม่ได้ และไม่มีญาติพี่น้องหรือคนใกล้ชิดที่สามารถมาดูแลได้ โดยผู้ร่วมโครงการ จะเป็นทั้ง "ผู้ให้" และ "ผู้รับ"


แนวคิดเรื่องธนาคารเวลา ซึ่งรับฝากเวลาแทนเงิน (ส่วนของข้อมูลเกี่ยวกับประวัติของธนาคารเวลาในญี่ปุ่น เรียบเรียง จากวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก ของ Elizabeth Jill Miller ที่เสนอต่อ Australian National University เมื่อเดือนมิถุนายน ปี ค.ศ. 2008) เริ่มครั้งแรกในโลกเมื่อปี 1973 โดยกลุ่มแม่บ้านในโอซาก้า นำโดย เทรุโกะ มิซุชิมะ เขียนแนวคิดนี้ เรียกว่า "Time Bank" หรือ "ไทมุ บางขุ" (taimu banku) ชนะการประกวดและได้ลงหนังสือพิมพ์ตั้งแต่ปี 1950 และเผยแพร่แนวคิดสู่สาธารณะทั้งเป็นบทความทางหนังสือพิมพ์ ทางวิทยุและโทรทัศน์


ให้เหตุผลว่าผู้สูงวัยที่ผ่านสงครามมา (ซึ่งในตอนนั้นยังมีจำนวนไม่มาก) ผ่านความยากลำบากมามาก และสมควรได้รับการดูแลจากสังคม โดยเฉพาะผู้ที่ไม่ได้รับประโยชน์จากการพัฒนาประเทศ ดังนั้น นอกจากจะแลกเวลากันเองแล้ว สมาชิกวัยกลางคนจนถึงวัย 60 ปี ควรสละเวลาสัปดาห์ละ 2 ชั่วโมงเพื่อมาดูแลผู้สูงวัยเหล่านี้ด้วย


ช่วงทศวรรษ 1980 เกิดธนาคารเวลาในการดูแลผู้สูงวัย และเนื่องจากจำนวนผู้สูงวัยในญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก จึงเริ่มมีการออมทั้งเวลา และอาจคำนวณเป็นเงินจำนวนหนึ่งด้วย รัฐบาลญี่ปุ่น ได้เข้ามาสนับสนุนแนวคิดในเรื่องนี้ เพราะเห็นปัญหาของสังคมสูงวัย มีการสนับสนุนให้จัดตั้งกลุ่มเหล่านี้ขึ้นทั่วประเทศ


ผู้มีบทบาทในการสนับสนุนให้เกิดธนาคารเวลาอย่างเป็นรูปธรรมในญี่ปุ่น คือ ซุโตะมุ ฮอตตะ อดีตผู้พิพากษาและอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กับ ไคอิชิ ทากาฮาตะ ซึ่งตั้งองค์กรธนาคารเวลาขึ้น หลังจากที่ทั้งสองเกษียณ โดยผู้ชายสูงวัย สามารถเป็นผู้ดูแลผู้อื่นได้ด้วย


ญี่ปุ่น จึงเป็นประเทศแรกในโลก ที่มีการ "ธนาคารเวลา" เป็นหนึ่งในวิธีการรับมือกับสังคมสูงวัย


ปี ค.ศ. 2012 สวิตเซอร์แลนด์ได้เริ่มมีธนาคารเวลาเพื่อรับมือกับประชากรสูงวัย เช่นกัน โดยเริ่มที่เมือง St. Gallen ณ ขณะนั้น สวิตเซอร์แลนด์มีประชากรสูงวัย (อายุเกิน 65 ปี) 1 คนในจำนวนประชากร 6 คน


ในขณะที่ประเทศจีน เป็นประเทศที่กังวลเรื่องสังคมสูงวัย เพราะการใช้ นโยบายลูกคนเดียว ทำให้จำนวนประชากร วัยทำงาน เข้าสู่จุดสูงสุดในระยะเวลาสั้น มาก ปัจจุบัน ประชากรวัยทำงานเริ่มลดลง จีนเตรียมตัวเข้าสู่สังคมสูงวัยเช่นเดียวกัน ที่มณฑลเจียงซู โดยเมืองหนานจิง เป็นเมืองแรกของมณฑลนี้ที่นำ "ธนาคารเวลา" มาดำเนินการในปี 2015 ซึ่งเป็นปีเดียวกับที่ สหราชอาณาจักร นำมาใช้เช่นกัน


ในสหรัฐ ก็มีการนำมาใช้ เช่นกัน แต่ไม่พบว่านำมาใช้ในปีไหน ล่าสุด ฮ่องกง เริ่มใช้ "ธนาคารเวลา"ในปี 2017 หรือในปีที่แล้ว


 หลายประเทศในตะวันตก เช่นในสหรัฐ การใช้ธนาคารเวลา จะใช้เป็นรูปแบบ ของ Time Credit และสามารถนำ ไปใช้แลกเปลี่ยนเป็นสินค้าหรือบริการ หรือเป็นทริปไปพักผ่อนได้ ถือเป็น การผสมผสานเข้ากับบริการอื่นๆ ที่ผู้สูงวัยต้องการ


ออม 'เวลา' ไว้ใช้บั้นปลาย เตรียมตัวสูงวัยอย่างมีคุณภาพ thaihealth


'ดินแดง' นำร่อง ธนาคารเวลา กทม.


ประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุเมื่อปี พ.ศ. 2548 โดยมีประชากรผู้สูงอายุร้อยละ 10 ของประชากรทั้งหมด และกำลังจะเป็นสังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์ในปี พ.ศ. 2564 ด้วยประชากรผู้สูงอายุร้อยละ 20 และในปี พ.ศ.2574 ประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่การเป็นสังคมสูงอายุระดับสุดยอดด้วยประชากรผู้สูงอายุถึงร้อยละ 28


ธนาคารเวลาสำหรับการดูแลผู้สูงอายุของประเทศไทย คือพื้นที่ที่ให้จิตอาสาเข้ามาแบ่งปันเวลาให้กับการดูแลผู้สูงอายุในสังคม และเวลาที่จิตอาสาได้สะสมไว้จากการดูแล ผู้สูงอายุจะได้รับการดูแลกลับคืน เมื่อจิตอาสามีความต้องการและจำเป็นที่ต้องได้รับการดูแล ซึ่งเป็นการส่งเสริมให้คนในสังคมดูแลซึ่งกันและกัน โดยเฉพาะการดูแลผู้สูงอายุกลุ่มที่ต้องการความช่วยเหลือ


เป็นโครงการร่วมกันระหว่างผส. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่เป็นพื้นที่นำร่อง จำนวน 42 แห่ง 28 จังหวัด ซึ่งในขณะนี้ พื้นที่นำร่องของ อปท. 42 แห่งปัจจุบันมีจิตอาสาในพื้นที่นำร่อง จำนวน 2,115 คน และมีผู้ลงทะเบียนออนไลน์เป็นจิตอาสาธนาคารเวลา จำนวน 141 คน รวมทั้งสิ้นจำนวน 2,256 คน


สำหรับในพื้นที่กรุงเทพมหานครกำหนดให้โครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดงระยะที่ 1 เขตดินแดง กรุงเทพฯ เป็นพื้นที่นำร่องปัจจุบัน มีผู้อาศัยจำนวนทั้งสิ้น 956 คน โดยมีผู้สูงอายุ 252 คน คนพิการ 12 คน ผู้ป่วยติดเตียง 3 คน และจิตอาสาร่วมโครงการธนาคารเวลา 21 คน โดยมีการดำเนินกิจกรรมต่างๆ เช่น การรับส่งเดินทางไปพบแพทย์ การให้คำปรึกษาแนะนำช่วยเหลือตามความต้องการของผู้สูงอายุ และการช่วยทำความสะอาดภายในห้อง เป็นต้น


สามารถเข้าร่วมเป็นจิตอาสาโครงการธนาคารเวลา โดยลงทะเบียนผ่านทาง www.m-society.go.th และ www.dop.go.th หรือ Facebook : Jitarsabank สอบถามได้ที่ กองส่งเสริมสวัสดิการและคุ้มครองสิทธิผู้สูงอายุ กรมกิจการผู้สูงอายุ (ผส.) โทร. 02-642-4306 หรือ ศูนย์ช่วยเหลือสังคม สายด่วนโทร.1300 บริการฟรี 24 ชั่วโมง

Shares:
QR Code :
QR Code