ออมเงินไว้ สู่วัยเกษียณ

          การออม คือการสร้างวินัยทางการเงิน ที่ต้องเร่งสร้างความรู้ให้ประชากรไทย เพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ


/data/content/26513/cms/e_defgjmrtuy14.jpg


          ท่ามกลางสังคมไทยที่กำลังเคลื่อนเข้าสู่ความเป็นสังคมผู้สูงอายุ เรื่องราวของการสร้างระบบความสาธารณูปโภคที่เอื้อต่อการใช้ชีวิตของประชากรวัยเกษียณ ที่จะต้องพัฒนาให้มีความทันสมัยสะดวกสบายมากขึ้น จะต้องมาพร้อมกับบริการทางการแพทย์ และการรักษาพยาบาลที่มีความเจริญก้าวหน้า แต่หลายๆ คน อาจจะลืมไปว่า เรื่องราวของการออมเพื่อวัยเกษียณ ถือเป็นอีกหนึ่งวาระสำคัญที่สังคมไทยจะต้องเร่งสร้างความรู้ และสร้างความตระหนักรู้ให้เกิดขึ้นในประชากรวัยทำงานที่เราปฏิเสธไม่ได้ว่า ในวันหนึ่งก็จะต้องเดินเข้าสู่วัยเกษียณเช่นเดียวกัน


          การสร้างวินัยทางการเงิน ด้วยการอดออม หรือการลงทุนเพื่อวัยเกษียณ ถือเป็นเป้าหมายหลักอีกประการหนึ่งของการสร้างสังคมเป็นสุข โดยมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) แผนงานสร้าง และจัดการความรู้เพื่อพัฒนาระบบ และกลไกการพัฒนาสังคมผู้สูงอายุอย่างมีคุณภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) เล็งเห็นถึงความสำคัญของการจัดการการเงินในวัยเกษียณ วัยที่หลายๆ คนยุติบทบาทหน้าที่การงาน ซึ่งหมายถึงรายได้ที่เคยมีเข้ามาอย่างสม่ำเสมอนั้นขาดมือไป แต่ค่าใช้จ่ายสำหรับการซื้อหาปัจจัย 4 ยังเป็นภาระต่อเนื่องจวบจนตลอดชีวิต เวทีเสวนาวิชาการ "เดินหน้าการออมสู่ระบบบำนาญแห่งชาติเพื่อสังคมสูงวัยไทยที่มีคุณภาพ" รวมถึงร่วมผลักดันนโยบายและพระราชบัญญัติการออมแห่งชาติ(กอช.) ต่อภาครัฐ เพื่อให้เกิดการปฏิบัติใช้จริงและสร้างระบบบำนาญแห่งชาติให้กับประชาชน จึงเกิดขึ้นโดย เป็นการระดมความคิดจากนักวิชาการ และผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินจากหลากหลายสถาบัน


          ศ.ดร.สมชัย ฤชุพันธุ์ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ และประธานมูลนิธิสถาบันพัฒนาสยาม กล่าวถึงทางเลือกและรูปแบบการออมสู่วัยสูงอายุ ว่า การออมเพื่อการชรามี 3 รูปแบบ ที่เรียกว่า 3 เสาหลักได้แก่ 1.การออมสำหรับทุกคน คือประกันสังคม เป็นหลักประกันเบื้องต้น ที่ครอบคลุมการประกันการชราภาพ 2.การออกข้อบังคับการออม เพื่อให้ประชาชนที่มีรายได้สูงระดับหนึ่ง ทำการออมเพื่อวัยชรา ซึ่งสังคมไทยยังไม่เกิดข้อบังคับนี้ขึ้น โดยการออมประเภทนี้จะทำให้ผู้มีรายได้สูงระดับหนึ่ง ที่ไม่มีหลักประกันตนเอง มีรายได้ในวัยชรา มากกว่าหลักประกันพื้นฐาน และ 3.การออมด้วยความสมัครใจ ซึ่งแบ่งออกเป็น การออมโดยสมัครใจแบบมีข้อผูกพัน คือ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ(กบข.) กองทุนเพื่อการเลี้ยงชีพต่างๆ เป็นการออมขณะที่ยังมีรายได้อยู่ ส่วนแบบไม่มีข้อผูกพัน คือ การออมด้วยการฝากออมทรัพย์ ฝากประจำ การซื้อพันธบัตรรัฐบาล เป็นการออมที่เกิดจากการตัดสินใจเอง การออมในสังคมไทยปัจจุบันจะเป็นเหมือนกับเสาหลักแรก แต่ยังไม่สมบูรณ์นัก เสาหลักที่สองยังไม่เกิดขึ้นในสังคมไทย สิ่งที่ต้องทำคือ การผลักดันให้เกิดข้อบังคับเพื่อการออมในสังคมไทย


          ในขณะที่ นางอรุณี ศรีโต ประธานเครือข่ายบำนาญภาคประชาชน (คบช.) กล่าวว่า การออมต้องออมตั้งแต่ยังเป็นวัยหนุ่มสาว หรือแม้แต่ยังเป็นเด็ก เพราะเป็นการทำเพื่อตัวเองในอนาคตและครอบครัว เมื่อถึงวัยชราหากไม่สามารถทำงานสร้างรายได้ให้ตัวเองได้แล้ว เงินออมจะมีความสำคัญมาก เพราะจะช่วยทำให้ชี้วิตช่วงบั้นปลายมี/data/content/26513/cms/e_acdgjkprsu58.jpgคุณภาพ มีความสุข เนื่องจากมีเงินสำรองในการดำรงชีวิตที่ยังต้องการปัจจัย 4 ด้วย


          แม้สังคมไทยจะสอนลูกหลานตั้งแต่เยาว์วัยให้รู้จักการประหยัดและอดออม แต่เมื่อถึงวัยทำงาน กลับพบว่าวินัยในการออมกลับถดถอยลงแม้หลายคนจะรู้ว่าการสร้างวินัยในการออมเป็นความจำเป็นที่ทุกคนต้องทำ และในวันนี้มีการเสนอให้ออกตราพระราชบัญญัติการออมแห่งชาติ (กอช.) ซึ่งหลายคนมองว่าจะนำความยั่งยืนมาสู่สังคมไทย เพราะจะช่วยให้ประชาชนรู้จักการออม และทำให้รัฐคำนึงถึงหน้าที่ของตนที่จะต้องปลูกฝังและส่งเสริมเรื่องการออมให้กับประชาชนด้วย


          แม้จะเป็นเวทีเริ่มต้นในการระดมความคิดของทุกฝ่าย แต่ก็ถือเป็นนิมิตหมายอันดี กับการมองหาการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืนให้กับคนไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวัยทำงานที่ยังมีรายได้สำหรับเลี้ยงตนเอง


          เพราะที่สุดแล้วในวัยเกษียณเราก็จะยังพึ่งพาตนเองได้ และไม่เป็นภาระให้กับสังคม


 


 


        ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ


        ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต

Shares:
QR Code :
QR Code