“ออกแบบเมือง” หยุดพฤติกรรมเนือยนิ่ง
เรื่องโดย : นายฉัตร์ชัย นกดี team content www.thaihealth.or.th
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ
แฟ้มภาพ
การขาดกิจกรรมทางกายที่เพียงพอทำให้ 3 ใน 4 ของคนไทยเจ็บป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ไม่ว่าจะเป็นหัวใจ ความดัน มะเร็ง เบาหวาน และส่วนใหญ่ยังมีภาวะอ้วนลงพุงสร้างปัญหาแถมมาด้วยเสมอ
ในการประชุมนานาชาติว่าด้วยการส่งเสริมกิจกรรมทางกายและสุขภาพ ครั้งที่ 6 The 6th International Congress on Physical Activity and Health 2016 จัดโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กระทรวงสาธารณสุขและกทม.เป็นเจ้าภาพร่วม เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้การจัดการและแนวทางแก้ปัญหาด้านสุขภาพ ซึ่งมีผู้เชี่ยวชาญด้านกิจกรรมทางกายจากทั่วโลกเข้าร่วมเสวนา
“Professor. Billie Giles Corti” นักวิจัยการออกแบบผังเมืองจาก University of Melbourne, Australia แสดงทัศนะในการบรรยายหัวข้อ “นโยบายการออกแบบชุมชนเมืองเพื่อผลประโยชน์ร่วมกันของประชากร” ไว้อย่างน่าสนใจว่า “เมลเบิร์น” เป็นเมืองในออสเตรเลียที่วางผังเมืองไว้สำหรับใช้รถรางและรถไฟ เพื่อเป็นรถสาธารณะในการเดินทางของประชากร รถรางมีหลายสายขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า ซึ่งเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
เรายังให้ความสำคัญกับเลนจักรยานมากโดยจะมีอยู่ทุกถนน ส่วนการออกแบบที่พักอาศัย ที่ทำงาน แหล่งนันทนาการและสถานศึกษา ก็จะตั้งอยู่ในระยะการเดินถึงได้ เช่นเดียวกับสถานีขนส่งมวลชนและตลาดสด ที่สามารถเข้าถึงได้ด้วยทางเดินและทางจักรยาน
Professor. Billie อธิบายว่า การพัฒนาที่สมดุลและการมีระบบนิเวศเมืองที่ดี ต้องใช้ทักษะทางวิทยาศาสตร์ งานด้านวิชาการร่วมกับผู้ที่สนใจแก้ปัญหาระบบนิเวศของประเทศ โดยผู้ออกแบบจะต้องเข้าใจโครงสร้างของพื้นที่อย่างองค์รวม ที่สำคัญการจะพัฒนาให้เกิดความสมดุลนั้น ต้องให้ชุมชนเป็นผู้ตัดสินใจด้วย
นอกจากนี้ยังต้องสร้างความร่วมมือกับทุกกลุ่มที่เกี่ยวข้อง เพื่อทำให้นโยบายสำเร็จ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างความร่วมมือกับชุมชน, รัฐบาล, กลุ่มอุตสาหกรรม เพื่อให้มีมุมมองที่หลากหลาย และจะช่วยให้เกิดความเข้าใจในพื้นที่มากยิ่งขึ้น นำไปสู่การวางแผนเพื่อหาอนาคตของเมืองร่วมกันได้
Professor. Billie บอกว่า ในการออกแบบผังเมืองเพื่อให้ผู้ที่อยู่อาศัยได้มีกิจกรรมทางกายเพิ่มขึ้นนั้น สิ่งหนึ่งที่มองข้ามไปไม่ได้คือ จะทำอย่างไรให้เกิดการเชื่อมโยงของสถานที่ต่างๆ ผ่านการเดินหรือใช้จักรยาน มากกว่าจะใช้รถยนต์เพียงอย่างเดียว ดังนั้นการสร้างเลนจักรยานหรือช่องทางเดินที่สะดวกและปลอดภัย เป็นสิ่งที่ควรนำมาคิดรวมไว้ในการออกแบบ ตั้งแต่เริ่มสร้างทางคมนาคม
นอกจากนี้การออกแบบให้พื้นที่มีความปลอดภัยน่าเดิน ยังช่วยลดปัญหาอาชญากรรมในท้องถิ่นได้ ในทางตรงกันข้ามหากพื้นที่ไม่มีความปลอดภัยผู้คนก็จะออกมาเดินกันน้อย
ด้าน Mr. Gordon Price, Simon Fraser นักวิจัยจาก University, Canada กล่าวบรรยายหัวข้อ โครงสร้างพื้นฐานสำคัญของเมืองที่เอื้อต่อการมีกิจกรรมทางกายว่า เราพยายามสร้างเมืองให้เหมาะแก่การเดิน เราไม่ได้จะกำจัดรถยนต์ออกไปจากถนน แต่เราเพิ่มทางเลือกในการเดินทางให้กับผู้คน ปัจจัยที่ทำให้ “นครแวนคูเวอร์” พัฒนาสำเร็จมาจากการสร้างแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาที่มีความเด่นชัด ผสมผสานกับแนวคิดการสร้างสภาพแวดล้อมเมืองเพื่อความยั่งยืน ลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติจากการดำเนินชีวิตประจำวัน
Mr. Gordon บอกว่า กลยุทธ์ที่นำมาใช้อย่างเช่น การลดการกระจัดกระจายของเมืองและโครงสร้างพื้นฐาน การใช้นโยบายการเลือกทำเลที่ตั้ง ที่พักอาศัยให้ผสมผสานกับร้านค้า โรงเรียน หน่วยบริการสาธารณสุข และหน่วยบริการชุมชน ทำให้เกิดความสะดวกในการส่งเสริมการเดิน การใช้จักรยาน และการใช้ระบบขนส่งมวลชนเพื่อเชื่อมต่อระหว่างชุมชน
“เทคโนโลยีมีส่วนช่วยเสริมพฤติกรรมทางกายได้ โดยเรามีแอปพลิเคชั่น คอยอำนวยความสะดวก ในเรื่องข้อมูลระยะทางของสถานที่ต่างๆ เพื่อให้ผู้คนสามารถวางแผนการเดินทาง โดยไม่ต้องพึ่งพารถยนต์เพียงอย่างเดียว ดังนั้นเมื่อมีทางเลือกมากขึ้น รับประกันได้ว่า ผู้คนจะออกมาใช้ชีวิตอย่างกระฉับกระเฉง ชุมชนก็จะน่าอยู่มากขึ้น” Mr. Gordon บอกทิ้งท้าย
ขอเพียงเลิกพฤติกรรมเนือยนิ่ง แล้วหันมาขยับร่างกายให้เป็นนิสัย ก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นในการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต เพื่อเป้าหมายการมีสุขภาพดีห่างไกลโรคได้แล้ว