ออกพรรษา ลาเหล้า
เรื่องโดย สุรศักดิ์ อาภาสกุล Team Content www.thaihealth.or.th
ให้สัมภาษณ์โดย ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) นายธีระ วัชรปราณี ผู้จัดการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) นายบุญมา นุชอิม คุณพ่อของน้องไบร์ทผู้เลิกเหล้าจากความรักลูก และ ด. ช. วรวิช นุชอิ่ม(น้องไบร์ท) นักเรียนชั้นป. 1 รร.คลองใหม่
ข้อมูลบางส่วนจากหนังสือเลิกดื่มเหล้า กันเถอะนะ จากสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า
ภาพโดย นัฐพร ชุ่มลือ Team Content www.thaihealth.or.th และแฟ้มภาพ
ออกพรรษา ลาเหล้า
ถึงพ่อ “พ่อครับ ผมอยากให้พ่อเลิกเหล้าและเบียร์เพื่อผมได้ไหมครับ ผมกลัวว่าตับพ่อมันจะพังครับ ผมอยากให้พ่ออยู่กับผมไปนานๆ ผมรักพ่อมากครับ” เป็นข้อความที่ ด. ช. วรวิช นุชอิ่ม ( น้องไบร์ท ) นักเรียนชั้นป.1 โรงเรียนคลองใหม่ เขียนในจดหมายสื่อรักจากลูกถึงพ่อแม่ที่ดื่มเหล้าและนำไปมอบให้คุณพ่อ เพื่อขอให้ลดละเลิกการดื่ม
ขณะที่นายบุญมา นุชอิม คุณพ่อของน้องไบร์ท เมื่อได้รับจดหมายสื่อรักจากที่ลูกชายเขียนให้ ได้เล่าให้ฟังว่า เมื่อก่อนเป็นคนดื่มเหล้ามาตลอด 20 ปี ทุกวัน และไม่เคยคิดจะหยุด เมื่อได้อ่านจดหมายสื่อรักที่ลูกมอบให้และความรักที่มีต่อลูก จึงตัดสินใจเข้าร่วมโครงการ ซึ่งหลังจากที่เลิกเหล้าแล้วมีสุขภาพที่ดีขึ้น ร่างกายแข็งแรง มีเงินเก็บ มีเวลาให้กับครอบครัวมากยิ่งขึ้น พร้อมทั้งเป็นต้นแบบที่ดีให้ลูกชายด้วยและตั้งใจว่าจะหยุดดื่มไปเรื่อยๆ โดยการเลิกเหล้า สามารถเริ่มต้นได้ตั้งแต่วันนี้ เพียงเริ่มจาการตั้งเป้าหมายและมีความตั้งใจ เชื่อว่าทุกคนสามารถเลิกเหล้าได้
ซึ่งการเลิกดื่มเหล้า ทุกคนเลิกดื่มได้ ถ้าอยากเลิกแค่เริ่มต้นจาก
– มีความตั้งใจแน่วแน่ ( คือทางสู่ความสำเร็จ )
– มีเป้าหมายที่ชัดเจน ( ทำเพื่ออะไร เพื่อใคร )
จากนั้น
– ทบทวนเหตุผลต่างๆ ก่อนลด ละ เลิก ( ตลอดไป )
– ชั่งน้ำหนักข้อดี ข้อเสียของเหล้า
– เปรียบเทียบชีวิตระหว่างที่ดื่มและไม่ดื่มเหล้า
– นึกถึงความปรารถนาดีของคนรอบข้าง
– นึกถึงความรับผิดชอบของครอบครัว
– แล้วสัญญากับตัวเอง สัญญากับคนที่รักว่าจะเลิกดื่ม
ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เล่าให้ฟังว่า สสส. ร่วมกับสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) ริเริ่มโครงการรณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษามาแล้ว 16 ปี ตั้งแต่ปี 2546 ซึ่งริเริ่มจากความเชื่อทางศาสนาและศีลธรรมมาต่อยอดการทำงาน ทั้งด้านสุขภาพ เศรษฐกิจ และสังคม โดยอาศัยความร่วมมือของภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน พัฒนาในระดับนโยบาย รวมทั้งกลไกของรัฐทุกหน่วยงานให้ขับเคลื่อนไปด้วยกัน
“โดยในปัจจุบันเกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างไม่น่าเชื่อ โดยช่วงเทศกาลเข้าพรรษากิจกรรมงดเหล้าได้กลายเป็นกิจกรรมหลักที่มีการรณรงค์จากหลากหลายหน่วยงานเพื่อเชิญชวนให้คนไทย ลด ละ เลิก การดื่มเหล้า ทำสมาธิเข้าวัดฟังธรรม โดยใช้แนวทางสำคัญคือการสร้างชุมชนคนสู้เหล้า เน้นรณรงค์เปลี่ยนแปลงค่านิยมไม่เลี้ยงเหล้า ในเทศกาลงานบุญประเพณี ใช้แนวทางในการชวน ช่วย เชียร์ให้งดเหล้าเข้าพรรษาและงดตลอดชีวิต เพื่อจะช่วยสร้างให้สังคมไทยปลอดภัยจากพิษภัยของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์”
ส่วนด้านนายธีระ วัชรปราณี ผู้จัดการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) เสริมด้วยว่า โครงการออกพรรษาลาเหล้า เป็นการต่อยอดการรณรงค์โครงการงดเหล้าเข้าพรรษา เนื่องจากมีผู้ที่งดเหล้าเข้าพรรษา ตั้งใจอยากลาเหล้าต่อเนื่อง หรือเลิกดื่มตลอดชีวิต โดยการสำรวจของศูนย์วิจัยเพื่อพัฒนาสังคมและธุรกิจ ตั้งแต่ปี 2559-2561 พบว่า มีคนอยากเลิกดื่มไปเลย 13% อยากจะลดปริมาณลง 58% แสดงให้เห็นว่ากลุ่มตัวอย่างที่ลด ละ ในช่วงเข้าพรรษามีแนวโน้มที่จะลดละเลิกกว่า 71% รวมทั้งมีการจัดตั้งชมรมคนหัวใจเพชรขึ้น มีอยู่ 116 แห่งทั่วประเทศ ที่จะเป็นผู้อาสาชวน ช่วย เชียร์ ให้คนลด ละ เลิก เหล้า ชวนให้ตระหนักในชีวิต ครอบครัว ส่งเสริมให้กำลังใจให้งดเหล้าแล้วจะเห็นการเปลี่ยนแปลง
นอกจากนี้ ถ้าคุณดื่มน้อยลงหรือเลิกดื่มได้ จะทำให้ …
– มีเวลามากขึ้นเพื่อทำกิจกรรมอื่นๆ
– มีเงินเก็บมากขึ้น หรือนำไปซื้อของใช้ที่จำเป็น
– แข็งแรงขึ้นกว่าเดิม
– นอนหลับดีขึ้น
– ไม่มีอาการเมาค้าง
– น้ำหนักลดลง
– รูปร่างดีขึ้น
– ความจำดีขึ้น
– ปัญหาในครอบครัวลดลง
– เป็นตัวอย่างที่ดีต่อผู้อื่น
– ลดความเสี่ยงที่จะเป็นโรคร้าย เช่น ตับแข็ง โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง ความจำเสื่อม เป็นต้น
สสส. สคล. และภาคีเครือข่ายเดินหน้าขับเคลื่อนพร้อมทั้งรณรงค์ให้เกิดสังคมปลอดเหล้า เพื่อให้สุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีของคนไทยทุกคนดีขึ้น