ออกกำลังกายแบบไหนที่เหมาะกับผู้สูงวัย

ที่มา : หนังสืออายุเป็นเพียงตัวเลข ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สสส.


ออกกำลังกายแบบไหนที่เหมาะกับผู้สูงวัย thaihealth


แฟ้มภาพ


การอออกำลังกายหรือการยืดเหยียดของผู้สูงอายุนั้นหากไม่แน่ใจให้ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อการออกกำลังกายที่เหมาะกับช่วงอายุและเหมาะกับกายภาพของผู้สูงอายุด้วยค่ะ


การเดินหรือวิ่งช้าๆ


                เหมาะกับผู้ที่เพิ่งเริ่มออกกำลังกายใหม่ๆ ควรเริ่มด้วยการเดินช้าๆ ก่อนสัก 5 นาที แล้วจึงค่อยเพิ่มความเร็วขึ้น และช่วงแรกๆ ไม่ควรเดินไกลนัก แต่เมื่อฝึกจนเกิดความอดทน แล้วจึงค่อยเพิ่มเวลาและความเร็วขึ้นตามหลัก และสิ่งสำคัญคือการเลือกรองเท้าที่เหมาะสมและคุณภาพดี


บริหารร่างกาย


                เป็นทางเลือกที่ดีทางหนึ่งที่สามารถทำในบ้านได้ อีกทั้งยังทำให้เกิดการออกกำลังกายทุกสัดส่วน พร้อมทั้งฝึกความอดทน การทรงตัว และการยืดหยุ่นของข้อต่อต่างๆ ได้ดี


ว่ายน้ำหรือเดินในน้ำ


                เหมาะกับผู้ที่ข้อเข่าเสื่อม เพราะเป็นการฝึกกล้ามเนื้อทุกส่วนเช่นกัน และน้ำจะช่วยพยุงน้ำหนัก ทำให้แรงกดลงบนเข่าลดลง แต่เพิ่มแรงต้านในการเดินทำให้กล้ามเนื้อได้ออกแรงมากขึ้น ทว่าการว่ายน้ำเพียงอย่างเดียวไม่เหมาะกับผู้ที่มีสภาพร่างกายดี เพราะร่างกายไม่ได้รับน้ำหนักเลยจึงไม่ได้ช่วยในการเพิ่มมวลกระดูก


ขี่จักรยาน


                นอกจากจะเกิดประโยชน์ต่อร่างกายแล้ว ยังได้รับความเพลิดเพลิน แต่เป็นกิจกรรมที่ต้องไปเป็นหมู่คณะจึงจะสนุก


รำมวยจีน


                เป็นการออกกำลังกายที่เหมาะกับผู้สูงวัยที่ได้ทั้งฝึกความอดทน ความแข็งแรง ความยืดหยุ่น และการทรงตัวของร่างกาย รวมถึงช่วยป้องกัน รักษา ฟื้นฟูสภาพร่างกายและจิตใจด้วย


โยคะ


              โดยการฝึกออกกำลังกายด้วยโยคะสำหรับผู้สูงอายุที่สามารถทำให้มีสุขภาพดีทั้งร่างกายและจิตใจ


เคล็ดลับการออกกำลังกายให้ได้ผลดีต่อผู้สูงวัย


1.เริ่มต้นออกกำลังกายจากช้าไปหาเร็ว เช่น เดินช้า แล้วค่อยเดินเร็วขึ้นเรื่อยๆ


2.สวมรองเท้ากีฬาพร้อมถุงเท้าที่เดินได้อย่างสบาย ไม่คับ และไม่หลวมเกินไป


3.เลือกกิจกรรมที่เหมาะกับสภาพร่างกาย เช่น ถ้ามีอาการปวดข้อหรือปวดหลัง ควรเลือกกิจกรรมในน้ำ เช่น เดินในน้ำหรือนั่งเตะขาในน้ำ


4.เลือกกิจกรรมที่ทำติดต่อได้อย่างสม่ำเสมอตลอดเวลา 10-15 นาที ที่ทำให้รู้สึกเหนื่อยพอประมาณ


5.เลือกกิจกรรมที่ทำให้รู้สึกผ่อนคลายมากกว่าเพิ่มความเครียด


6.เมื่อรู้สึกเวียนศีรษะ ตามัว หูอื้อ หรือเจ็บหน้าอก ต้องหยุดออกกำลังกายทันที


7.ควรมีเพื่อนหรือคนในครอบครัวร่วมออกกำลังกายด้วยอย่างน้อย 1 คน


สิ่งที่ควรหลีกเลี่ยง


1.หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่เคลื่อนที่เร็ว หรือย่อ-ยืดหัวเข่าอย่างเร็ว หรือบิด-หมุนลำตัวอย่างเร็ว เช่น ฟุตบอล วิ่งทางชัน เป็นต้น


2.หลีกเลี่ยงการยืดเหยียดกล้ามเนื้อที่ต้องก้มนานๆ หรือยกแขนขาที่เป็นมุมกว้างเกินความสามารถ


3.งดเลือกกิจกรรมที่ต้องมีการกลั้นลมหายใจไว้นานๆ เช่น ยกดัมเบลที่มีน้ำหนักมาก


 

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

ระบุข้อความ