ออกกลางคันเรียนต่อสายอาชีพได้
ที่มา : เดลินิวส์
ภาพประกอบจากเดลินิวส์และแฟ้มภาพ
ออกกลางคันเรียนต่อสายอาชีพได้
แม้กระทรวงศึกษาจะเชิดชูว่าเรียนสายอาชีวะโอกาสตกงานจะน้อยกว่า แต่ค่านิยมที่ฝังรากของวงการศึกษาไทยมาเนิ่นนาน คนชนชั้นกลางและผู้คนมีฐานะไม่ส่งเสริมให้ลูกเข้าสู่เส้นทางการศึกษานี้ แนวทางการปรับเปลี่ยนโหมดการศึกษาสายอาชีวะเพื่อเป็นต้นแบบของพื้นที่อื่น สำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชนและครอบครัว สำนักงานกองทุนการสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สนับสนุนให้จ.สุรินทร์ จัดการฝึกอาชีพระยะสั้น และร่วมมือกับวิทยาลัยการอาชีพในตำบลต่างๆ กว่า 172 แห่ง เป็นแหล่งพึ่งพิงและเป็น "ทางเลือก" ให้กับเด็กที่เดินออกจากห้องเรียนกลางคัน
จากฐานข้อมูลด้านการศึกษาของเด็กและเยาวชนจังหวัดสุรินทร์ ปีการศึกษา 2559 รายงานว่า ในกลุ่มเด็กและเยาวชนอายุ 3-17 ปี มีผู้อยู่ในสถานศึกษาจำนวน 268,396 คน ในจำนวนนั้นมีเด็กราว 29,537 คน หรือกว่าร้อยละ 11 หายออกไปจากระบบ
เหตุผลในการเดินออกจากห้องเรียนของเด็กอาจเป็นได้หลายทาง ส่วนใหญ่มาจากความยากจน ส่งผลให้แรงงานจำนวนหนึ่งต้องอพยพเข้าไปทำงานในเมืองหลวง แรงงานซึ่งมีอีกหนึ่งบทบาทคือเป็นพ่อและแม่ ต้องทิ้งลูกหลานให้ปู่ย่าตายายดูแล สำทับด้วยหลักสูตรการศึกษาในระบบที่ไม่ตอบโจทย์กับความต้องการของบริบทและอาชีพของคนในพื้นที่ ปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ล้วนเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เด็กคนหนึ่งต้องเดินหายออกจากห้องเรียน
ปัญหาเด็กออกกลางคันไม่เพียงเกิดจากวัยว้าวุ่นของตัวเด็กเอง แต่ผูกร้อยตั้งแต่ความยากจน เมืองโตเดี่ยว และหลักสูตรการศึกษาที่ไม่ผูกอิงกับความอยากรู้ของชุมชน เป็นโจทย์หนึ่งที่คณะทำงานด้านการศึกษาของจังหวัดสุรินทร์พยายามจะขับเคลื่อน
อรรถพร สิงหวิชัย ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ กล่าวว่า หลังจากที่ยกระดับภารกิจเรื่องการศึกษาให้เป็นวาระเร่งด่วนของจังหวัดแล้ว ทุกส่วนราชการจะต้องประสานงานร่วมกัน เพื่อชักชวนให้เด็กกลับเข้ามาในสถานศึกษา โดยจะเน้นหนักด้านการฝึกฝนอาชีพ เนื่องจากสุรินทร์มีวิทยาลัยการอาชีพจำนวนมาก รวมถึงการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) เป้าหมายสำคัญคือ ทำอย่างไรให้เด็กมีทักษะอาชีพติดตัว สามารถหาเลี้ยงชีพได้ นอกเหนือจากมีความรู้ด้านวิชาการ
เครื่องมือแรกที่จังหวัดสุรินทร์นำมาใช้คือ "ระบบฐานข้อมูลเด็กและเยาวชน" ที่สะท้อนข้อเท็จจริงและสามารถนำมาใช้ร่วมกันทั้งจังหวัด หลังจากนั้นคือตั้งทีมขับเคลื่อนการทำงานไว้ 2 ระดับ คือ คณะกรรมการระดับจังหวัด และคณะกรรมการระดับพื้นที่ โดยมีการทำงานร่วมกันของ 5 ภาคส่วน เรียกว่า "เครือข่ายความร่วมมือปัญจภาคี" อาทิ เด็กและผู้ปกครอง ท้องถิ่น (อปท.) ท้องที่ (กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน) ภาคประชาสังคม องค์กรเอกชน มูลนิธิ สภาเด็กและเยาวชน สถานประกอบการ เป็นต้น
จักรฤทธิ์ ทองเกิด นศ.ผู้เข้าร่วมโครงการเล่า เรียนจบ ม.3 แต่ไม่ได้ศึกษาต่อ ว่าเพราะฐานะทางบ้านไม่สู้ดี เลยหยุดเรียนไป 2 ปี เพื่อช่วยทางบ้าน หลังจากนั้นผู้ใหญ่บ้านมาชวนให้ผมเข้าอบรมวิชาชีพระยะสั้น สาขาช่างยนต์ แล้วเกิดความสนใจ เลยอยากเรียนต่ออย่างจริงจัง ขณะนี้ จักรฤทธิ์ เรียนและฝึกงานที่สถานประกอบการซ่อมบำรุงเครื่องยนต์แห่งหนึ่ง หลังจากเรียนเฉพาะทฤษฎีตลอดหนึ่งปีในห้องเรียน ปีที่สองในสถานะนักเรียนอีกครั้ง เขาต้องฝึกงานและรับงานซ่อมเป็นครั้งคราวอยู่บ้าง
ทั้งนี้หลักสูตรระยะสั้นที่ว่าคือ คอร์ส 75 ชั่วโมง มีตั้งแต่วิชาทำขนม เรื่อยไปยังวิชาเครื่องยนต์ และเมื่อจบหลักสูตรแล้ว เด็กๆ จะได้ใบประกาศนียบัตรประกอบอาชีพชั้นต้นให้ หลักสูตรเหล่านี้เด็กๆ ที่ออกจากระบบการศึกษาภาคปกติมีความต้องการ