อสม. บทบาทสำคัญ ชวน-ช่วย-เลิกบุหรี่

ที่มา : เว็บไซต์แนวหน้า


ภาพประกอบจากเว็บไซต์แนวหน้าและแฟ้มภาพ


อสม. บทบาทสำคัญ ชวน-ช่วย-เลิกบุหรี่ thaihealth


ผู้อำนวยการ รพ.สต.โพรงมะเดื่อ นครปฐม เผย อสม.มีบทบาทสำคัญในการชวนช่วยเลิกบุหรี่


จากข้อมูลในระบบ 43 แฟ้มมาตรฐานด้านการแพทย์และสุขภาพ (Health Data Center : HDC) ของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครปฐม ประจำปีงบประมาณ 2562 พบว่า มีจำนวนประชากรอายุ 15 ปี ขึ้นไป ได้รับการคัดกรอง 208,701 คน มีผู้สูบบุหรี่ 11,413 คน ในจำนวนนี้ เข้ารับการบำบัด 7,145 คน และเลิกบุหรี่ได้ 1 เดือน 148 คน เลิกได้ 3 เดือน 113 คน เลิกได้ 6 เดือน 111 คน ขณะที่ในปีงบประมาณ 2561 จำนวนประชากรอายุ 15 ปี ขึ้นไป มีผู้สูบบุหรี่ 11,483 คน ในจำนวนนี้เข้ารับการบำบัด 7,205 คน และเลิกบุหรี่ได้ 1 เดือน 148 คน เลิกได้ 3 เดือน 113 คน เลิกได้ 6 เดือน 111 คน (ณ วันที่ 26 เมษายน 2562)


จังหวัดนครปฐม ดำเนินการ ชวน ช่วย เลิกบุหรี่ ผ่านกลไก รพ.สต.ที่เข้มแข็ง ตามแนวทางของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้สนับสนุนภาคีเครือข่ายต่าง ๆ เพื่อดำเนินการเกี่ยวกับการชวนและช่วยเลิกบุหรี่ โดยมุ่งหวังที่จะทำให้คนเลิกสูบให้ได้มากที่สุด   นอกจากนี้ยังรณรงค์ให้ประชาชนหันมาเลิกบุหรี่อย่างจริงจัง ผ่านกลไกสำคัญ อย่าง อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน หรือ อสม. เพราะถือเป็นกลุ่มที่กระจายอยู่ทุกหมู่บ้านทั่วประเทศ มีความใกล้ชิดประชาชนในระดับพื้นที่มากที่สุด โดยมีโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล หรือ รพ.สต. เป็นแกนกลางสำคัญในการสนับสนุนให้ อสม. ชวน และช่วยคนในชุมชนให้เลิกสูบบุหรี่ได้


อสม. บทบาทสำคัญ ชวน-ช่วย-เลิกบุหรี่ thaihealth


นางขนิษฐา ตั้งกิตติวัฒน์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล หรือ รพ.สต. โพรงมะเดื่อ จ.นครปฐม กล่าวถึงการดำเนินงานชวน ช่วย เลิกบุหรี่ ว่า อาสาสมัครสาธารณสุข หรือ อสม. ในพื้นที่จะมีบทบาทสำคัญในการดำเนินการ โดย รพ.สต. จะอบรมให้ความรู้ อสม.ถึงกระบวนการเลิกบุหรี่ โดยเริ่มจากแนะนำสมุนไพรตัวช่วยต่าง ๆ ให้ความรู้เรื่องสายด่วนเลิกบุหรี่ สอนวิธีนวดกดจุด จากนั้น อสม.จะทำการสำรวจจำนวนผู้สูบบุหรี่ในหมู่บ้าน เพื่อเข้าไปแนะนำกระบวนการทั้งหมด พร้อมติดตามผลในระยะ 1 เดือน 3 เดือน 6 เดือน เพื่อเป็นการกระตุ้นให้ผู้ที่เลิกได้หรือผู้ที่กำลังอยากเลิก สามารถเลิกได้อย่างยั่งยืนมากขึ้น โดยจำนวนผู้ติดบุหรี่ที่เชิญชวนเข้าโครงการ มีประมาณ 300 – 400 คน เลิกได้ประมาณ 61 คน   ซึ่งคนที่ยังเลิกไม่ได้ก็อยู่ระหว่างการติดตาม พูดคุย และให้กำลังใจ ให้เลิกบุหรี่ให้ได้ นอกจากนี้ยังมีการสำรวจร้านค้าที่จำหน่ายเหล้าและบุหรี่ในพื้นที่ โดยเจ้าหน้าที่ รพ.สต. จะร่วมกับผู้ใหญ่บ้าน เทศบาล และ อสม. ในการเข้าไปแนะนำการจำหน่ายและติดสติ๊กเกอร์ห้ามจำหน่ายให้เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปีที่ร้านค้า   นอกจากนี้ยังมี “โครงการวัยใสห่างไกลบุหรี่” ซึ่งเป็นความร่วมมือกับโรงเรียนในพื้นที่ให้คุณครูคัดกรองเด็กลุ่มเสี่ยงมาเข้าโครงการ


อสม. บทบาทสำคัญ ชวน-ช่วย-เลิกบุหรี่ thaihealth


ด้าน นายบวรรัตน์ ตันตระกูล ประธาน อสม.โพรงมะเดื่อ จังหวัดนครปฐม ระบุว่า คนที่ติดบุหรี่ในพื้นที่ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มวัยรุ่น ส่วนคนที่ต้องการจะเลิกเป็นคนในวัยผู้ใหญ่ ซึ่งที่ผ่านมาพยายามชักชวนให้คนที่ติดบุหรี่ในพื้นที่หันมาเลิกบุหรี่ โดยเริ่มจากตัว อสม.เป็นต้นแบบก่อน เน้นเรื่องกีฬา เนื่องจากตนเองเป็นประธานชมรมเปตอง จึงกำหนดกติกาว่า คนที่จะเข้ามาเล่นห้ามสูบบุหรี่ ถ้าสูบบุหรี่ในสนามจะปรับเป็นเงินมาเข้าชมรม พร้อมระบุว่าตัวเองเป็นคนหนึ่งที่สูบบุหรี่


“แรงบันดาลใจในการเลิกคือ วันที่ทิ้งก้นบุหรี่ ปรากฎว่าลูกอายุประมาณ 3 ขวบก็ไปหยิบขึ้นมาสูบ จากภาพวันนั้นจึงตัดสินใจเลิกทันที และใช้เรื่องนี้มาเป็นแรงบันดาลใจให้คนหันมาเลิกบุหรี่ แม้จะยังมีการต่อต้านบ้าง แต่เราก็จะใช้สภาพสังคมเป็นตัวกดดัน เพราะปัจจุบันนี้สังคมไม่ยอมรับคนสูบบุหรี่แล้ว”   นายบวรรัตน์ กล่าว


อสม. บทบาทสำคัญ ชวน-ช่วย-เลิกบุหรี่ thaihealth


ขณะที่ นางจริยาพันธ์ รุจิรัชกุล สาธารณสุขจังหวัดนครปฐม เปิดเผยว่า จากข้อมูลปี 2560 พบว่า จำนวนผู้ที่สูบบุหรี่ในจังหวัดนครปฐม มีจำนวน 120,000 คน เข้ามารับบริการที่หน่วยบริการทุกแห่ง ประมาณ 5,000 คน ซึ่งถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับจำนวนคนที่สูบบุหรี่ และคนที่สูบบุหรี่ส่วนใหญ่จะอยู่ในชุมชน ไม่ได้มาโรงพยาบาล ดังนั้นจึงต้องทำให้สถานบริการสาธารณสุข อย่าง รพ.สต. มีศักยภาพในการคัดกรอง ให้คำแนะนำประชาชนที่มาใช้บริการเลิกบุหรี่ได้ ซึ่งสิ่งสำคัญคือการติดตามคนไข้ ขณะที่จังหวัดได้สนับสนุนกระบวนการเลิกบุหรี่ สนับสนุนเวชภัณฑ์ช่วยเลิกบุหรี่ โดยโรงพยาบาลนครปฐมที่เป็นแม่ข่ายผลิตน้ำยาช่วยเลิกบุหรี่ และส่งให้กับรพ.สต.ทุกแห่ง นอกจากนี้ ยังประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรู้ถึงพิษภัยบุหรี่ รวมทั้งจัดสถานที่ต่าง ๆ ทั้งจังหวัดก็จะช่วยให้ประชาชนเลิกบุหรี่ได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ยังขยายการดำเนินการเลิกบุหรี่ไปยังสถานประกอบการในพื้นที่ด้วย ซึ่งจากการดำเนินการพบว่า มีจำนวนพนักงานที่สูบบุหรี่ 598 คน เข้าร่วมกิจกรรมเลิกบุหรี่ 206 คน ในจำนวนนี้ เป็นพนักงานที่เลิกบุหรี่ได้ ในระยะเวลา 0 – 3 เดือน 11 คน ระยะเวลา 3 – 6 เดือน 1 คน และ เลิกได้มากกว่า 6 เดือน 10 คน


นางจริยาพันธ์ กล่าวด้วยว่า   สิ่งสำคัญที่จะทำให้คนเลิกบุหรี่ได้สำเร็จคือการติดตามอย่างต่อเนื่อง โดยมี อสม.เป็นผู้ติดตามทุกวันภายในสัปดาห์แรกที่เข้ามาเลิก เพราะถ้าเลิกได้ในช่วงสามวันแรกก็จะเลิกได้อย่างถาวร แต่ถ้านานกว่านั้นอาจเลิกไม่ได้จึงต้องติดตามอย่างใกล้ชิดทุกวัน

Shares:
QR Code :
QR Code