อย.เผยตรวจพบอาหารนำเข้าไม่ได้มาตรฐาน
อย. เผยพบอาหารนำเข้าผิดมาตรฐาน สำหรับอาหารในประเทศ พบกรดซอร์บิกในซอสหอยนางรม พบวัตถุให้ความหวานแทนน้ำตาล โซเดียมซัยคลาเมต และซัคคาริน ในเชอร์รี่อบแห้งคลุกบ๊วย พบจุลินทรีย์ ที่ก่อให้เกิดโรค ในเม็ดอมรสนม นอกจากนี้ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมาได้ดำเนินคดีการโฆษณาผลิตภัณฑ์อาหาร ยา เครื่องสำอาง และเครื่องมือแพทย์ทางสื่อต่าง ๆ จำนวนมาก
ภญ.ศรีนวล กรกชกร รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัติต่าง ๆ ในช่วงเดือนมีนาคม – เมษายน 2556 ได้แก่ พระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 จำนวน 96 ราย พระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510 จำนวน 104 ราย พระราชบัญญัติเครื่องมือแพทย์ พ.ศ. 2551 จำนวน 8 ราย พระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ. 2535 จำนวน 4 ราย พระราชบัญญัติ วัตถุอันตราย พ.ศ.2535 จำนวน 4 ราย และพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 จำนวน 1 ราย รวมทั้งสิ้น 217 ราย คิดเป็นมูลค่า 1,775,8000 บาท
รองเลขาธิการฯ กล่าวต่อไปว่า จากการดำเนินคดีตามพระราชบัญญัติอาหาร ได้เปรียบเทียบปรับผู้กระทำผิด ในกรณีต่าง ๆ เช่น กรณีอาหารนำเข้าจากต่างประเทศ พบสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชกลุ่มออร์กาโนฟอสฟอรัส ในบรอกโคลีแช่แข็ง ใบเฉาก๊วย เม็ดเกาลัดดิบ แครอทสด กลุ่มออร์กาโนคลอรีน และกลุ่มออร์กาโนฟอสฟอรัส ในลูกแพรสด กลุ่มออร์กาโนคลอรีน ในส้มสด พริกหวานยักษ์รวมหั่นเส้นแช่แข็ง พบเชื้อจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโรคในปลาทูน่าสดแช่แข็ง พบสารปรอทในเนื้อปลาฉลามแล่สดแช่เยือกแข็ง ซึ่งมีคุณภาพมาตรฐานไม่เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด จึงได้ดำเนินคดีในข้อหานำเข้าเพื่อจำหน่ายอาหารผิดมาตรฐาน นอกจากนี้ยังตรวจพบวัตถุเจือปนอาหารชนิด กรดซอร์บิก และกรดเบนโซอิก ใน chocolate dipping sauce และ white chocolate dipping sauce พบกรดซอร์บิก ใน yamasa soy sauce รวมทั้ง แยมแยม สตรอว์เบอร์รี่ และ แยมแยม คาราเมล และพบซัลเฟอร์ไดออกไซด์ในเห็ดหูหนูขาวแห้ง ซึ่งไม่เป็นไปตามที่กำหนดและยังไม่ได้รับความเห็นชอบการใช้จาก อย. พบวัตถุให้ความหวานแทนน้ำตาล โซเดียมซัยคลาเมต และซัคคาริน ในพุทราเชื่อมไม่มีเมล็ด
สำหรับอาหารในประเทศ พบกรดซอร์บิกในซอสหอยนางรม พบวัตถุให้ความหวานแทนน้ำตาล โซเดียมซัยคลาเมต และซัคคาริน ในเชอร์รี่อบแห้งคลุกบ๊วย พบจุลินทรีย์ ที่ก่อให้เกิดโรค ในเม็ดอมรสนม นอกจากนี้ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมาได้ดำเนินคดีการโฆษณาผลิตภัณฑ์อาหาร ยา เครื่องสำอาง และเครื่องมือแพทย์ทางสื่อต่าง ๆ จำนวนมาก ทั้งทางนิตยสาร หนังสือพิมพ์ เว็บไซต์ และโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม ซึ่งมีแนวโน้ม เพิ่มมากขึ้น โดยพบโฆษณาในลักษณะโอ้อวดสรรพคุณเกินจริง และไม่ได้ขออนุญาตโฆษณา เช่น ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ในลักษณะสร้างภูมิคุ้มกัน รักษาอาการหอบหืด ภูมิแพ้ เป็นต้น ซึ่งล้วนเป็นการโฆษณาที่ไม่ได้รับอนุญาตและเข้าข่ายหลอกลวงโอ้อวดเกินจริงทั้งสิ้น เพราะผลิตภัณฑ์อาหารไม่ใช่ยา ไม่สามารถอวดอ้างรักษาโรคได้
ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า