อย.เตือนสบู่คลอรีน ไม่สามารถทำให้ผิวขาวได้
ที่มา : เว็บไซต์ oryor.com
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ
อย. เตือนผู้บริโภค อย่าหลงเชื่อเครื่องสำอางโฆษณาอวดอ้างสรรพคุณเกินจริง ใช้แล้ว ขาวใส รวดเร็วทันใจ สถานที่ขายไม่เป็นหลักแหล่ง อาจลักลอบใส่สารอันตรายให้ผิวขาวเร็ว
ภก.ประพนธ์ อางตระกูล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และในฐานะโฆษก อย. เปิดเผยว่า จากกรณีที่มีกระแสข่าวเกี่ยวกับสบู่คลอรีน โฆษณาอวดอ้างสรรพคุณเกินจริง ใช้แล้ว ผิวขาวใส ขายกัน อย่างแพร่หลายทางอินเทอร์เน็ต สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) มีความห่วงใยผู้บริโภค จึงได้ดำเนินการตรวจสอบผลิตภัณฑ์ดังกล่าวพบว่า สบู่คลอรีน (Chlorine Soap) มีการจดแจ้งด้วยระบบอัตโนมัติ เลขที่ ใบรับแจ้ง 10-1-5856095 และ 10-1-5855918 โดยสูตรที่มาแจ้งกับทาง อย. ไม่มีสารฟอกสีในกลุ่มคลอรีน เช่น Sodium hypochlorite, Calcium hypochlorite เป็นส่วนผสมแต่อย่างใด นอกจากนี้ ทาง อย. ได้มีการลงพื้นที่ตรวจสอบสถานที่ผลิต และได้มีการสั่งซื้อทางอินเทอร์เน็ตและนำตัวอย่างผลิตภัณฑ์ไปส่งตรวจวิเคราะห์ เพื่อหาสารที่เป็นอันตรายต่อไป
คลอรีนเป็นสารที่มีการกัดกร่อนรุนแรง ไม่สามารถใช้กับผิวหนังได้ เพราะจะทำให้เกิดการระคายเคือง ทำให้ผิวหนังอักเสบได้ และเป็นสารห้ามใช้ในเครื่องสำอางตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กำหนดวัตถุ ห้ามใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตเครื่องสำอาง ลงวันที่ 26 มีนาคม 2551 และในส่วนของการโฆษณาสรรพคุณของ เครื่องสำอาง ไม่สามารถแสดงสรรพคุณฟอกสีผิว หรือทำให้ผิวขาวกว่าสีผิวตามธรรมชาติได้ ตามคำสั่ง คณะกรรมการเครื่องสำอาง ฉบับที่ 1/2549 เรื่อง ข้อความที่ห้ามใช้ในการโฆษณาเครื่องสำอาง “ห้ามใช้ภาพหรือ ข้อความโฆษณาเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางว่าสามารถทำให้ผิวสีมีการเปลี่ยนแปลง หรือทำให้สีผิวขาวขึ้น มากกว่าหรือแตกต่างจากสีผิวเดิมตามธรรมชาติ หรือใช้ข้อความอื่นที่มีความหมายในทำนองเดียวกัน
รองเลขาธิการฯ กล่าวต่อไปว่า การเลือกซื้อเครื่องสำอาง ควรเลือกซื้อจากแหล่งที่เชื่อถือได้ เช่น จาก ร้านค้าที่มีหลักแหล่งแน่นอน จะได้ไม่เสี่ยงต่อการได้รับเครื่องสำอางที่อาจลักลอบใส่สารห้ามใช้หรือสารที่เป็นอันตรายต่างๆ เพราะหากมีปัญหาจากการใช้จะได้สามารถติดตามหาผู้รับผิดชอบได้ ควรเลือกซื้อเครื่องสำอางที่มีฉลาก ภาษาไทยบอกรายละเอียดครบถ้วน มีชื่อที่ตั้งผู้ผลิตหรือผู้นำเข้าแสดงอยู่อย่างชัดเจน มีเลขที่ใบรับแจ้ง 10 หลัก ถึงแม้จะเป็นเครื่องสำอางที่นำเข้ามาจากต่างประเทศก็ต้องมีฉลากภาษาไทย และสามารถตรวจสอบเลขที่ใบรับแจ้ง 10 หลักของเครื่องสำอางได้ทางเว็บไซต์ อย. www.fda.moph.go.th หรือที่ Oryor Smart Application ว่าตรงกับข้อมูลที่แสดงที่ฉลากหรือไม่ ควรทดสอบการแพ้ก่อนใช้โดยทา ที่ท้องแขน 24-48 ชั่วโมงก่อนใช้เครื่องสำอาง หากใช้ แล้ว มีความผิดปกติต้องหยุดใช้ทันที แล้วนำผลิตภัณฑ์ไปปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร อย่าหลงเชื่อคำโฆษณาว่า อยากสวยต้องอดทนต่อการระคายเคืองต่างๆ
นอกจากนี้ การซื้อเครื่องสำอางที่อ้างว่าทำให้ขาวรวดเร็วที่ขายออนไลน์ มีความเสี่ยงสูงในการติดตามหาผู้รับผิดชอบกรณีใช้แล้วมีปัญหาและถ้าไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับผู้ผลิต ผู้นำเข้า หรือฉลาก ไม่ครบถ้วน ไม่มีภาษาไทย ไม่มีเลขที่ใบรับแจ้งหรือมีเลขที่ใบรับแจ้งแต่มีการโฆษณาโอ้อวดเกินจริง ก็ไม่ควรเสี่ยงซื้อมาใช้ ทั้งนี้หากผู้บริโภคได้รับอันตรายจากการใช้เครื่องสำอางหรือต้องการแจ้งเบาะแสเครื่องสำอางผิดกฎหมาย สามารถแจ้งร้องเรียนได้ที่สายด่วน อย. 1556 ตลอด 24 ชั่วโมง หรือที่ E-mail: [email protected] หรือ ตู้ปณ. 1556 ปณฝ. กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี 11004 หรือร้องเรียนผ่าน Oryor Smart Application หรือ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อ อย. จะดำเนินการปราบปราม และดำเนินคดีตามกฎหมายกับผู้กระทำ ผิดต่อไป รองเลขาธิการฯ อย. กล่าวในที่สุด