อย. หนุนยาจากสมุนไพร รับ Thailand 4.0

ที่มา : หนังสือพิมพ์สยามรัฐ


อย. หนุนยาจากสมุนไพร รับ Thailand 4.0 thaihealth


แฟ้มภาพ


อย. หนุนยาจากสมุนไพร รับ Thailand 4.0 เพิ่มศักยภาพการผลิต พัฒนาเศรษฐกิจไทย


ตามนโยบายรัฐบาลที่ต้องการพัฒนาผลิตภัณฑ์สมุนไพรอย่างเป็นระบบและยั่งยืนตลอดห่วงโซ่ให้มีคุณภาพและสอดคล้องกับความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ โดยเพิ่มการใช้ยาจากสมุนไพรทดแทนยาแผนปัจจุบัน พร้อมกับตั้งเป้าพัฒนาให้ประเทศไทยเป็นเมืองสมุนไพร เริ่มจากเมืองสมุนไพรต้นแบบใน 4 จังหวัด คือ ปราจีนบุรี สุราษฎร์ธานี เชียงรายและสกลนคร เพื่อสร้างความมั่นคงในด้านสุขภาพและเศรษฐกิจอย่างเป็นรูปธรรม


สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) สนองนโยบายรัฐบาล ตามโมเดล Thailand 4.0 เดินหน้าส่งเสริมยาจากสมุนไพร และยกระดับมาตรฐานการผลิตยาจากสมุนไพรตามหลักเกณฑ์วิธีการที่ดีในการผลิตยา (GMP) พร้อมพัฒนาให้ผู้ผลิตยาทุกระดับผลิตยาให้ได้มาตรฐานสากล (PIC/S GMP) เพื่อสร้างความมั่นใจในการบริโภค ช่วยให้ประชาชนเข้าถึงยาจากสมุนไพร และเป็นการเพิ่มศักยภาพการแข่งขันในตลาดอาเซียนและนานาชาติ


นพ.วันชัย สัตยาวุฒิพงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า อย. ตระหนักถึงความสำคัญของภูมิปัญญาไทยส่งเสริมให้ผู้ผลิตยาแผนโบราณทุกระดับพัฒนาการผลิตยาให้ได้มาตรฐานด้านการผลิต และส่งเสริมให้ผู้ประกอบการมีศักยภาพในการผลิตสู่มาตรฐานสากล (PIC/S GMP) เพื่อสร้างโอกาสให้ยาจากสมุนไพรสามารถแข่งขันในตลาดต่างประเทศ โดยได้จัดประชุมและอบรมให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการ รวมทั้งให้คำแนะนำปรึกษาในส่วนที่เกี่ยวข้องเช่น แบบแปลนสถานที่ผลิตยาแผนโบราณ และแนวทางการปฏิบัติตามมาตรฐานสากล (PIC/S GMP) ปัจจุบันมีสถานที่ผลิตยาแผนโบราณหลายแห่งในประเทศไทยสามารถยกระดับและดำเนินการผลิตยาให้สอดคล้องตาม PIC/S GMP อาทิ โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร โดยมี "กลุ่มสมุนไพรบ้านดงบัง" เป็นแหล่งปลูกสมุนไพรสำคัญโดยส่งวัตถุดิบให้แก่โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรในการผลิตยาสมุนไพรและผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่ใช้วัตถุดิบจากพืชสมุนไพร


เลขาธิการฯ อย. กล่าวต่อไปว่า นอกจากการยกระดับคุณภาพการผลิตยาแล้ว อย. ยังให้ความสำคัญถึงประสิทธิภาพของยาที่ผ่านการขึ้นทะเบียนตำรับจาก อย. ดังนั้น ในการพิจารณาอนุญาตจึงต้องมีกระบวนการประเมินทะเบียนตำรับยาเพื่อให้มั่นใจได้ว่ายาดังกล่าวจะเป็นยาที่มีสรรพคุณตามที่ปรากฏบนฉลากยา ซึ่งถือเป็นกระบวนการคุ้มครองผู้บริโภคได้อย่างเป็นรูปธรรม ที่สำคัญกระบวนการพิจารณาอนุญาตทะเบียนตำรับยาดังกล่าวยังใช้กับทั้งยาจากสมุนไพรที่ผลิตในประเทศและนำเข้ามาจากต่างประเทศ เพื่อความโปร่งใสในยุคเปิดเสรีทางการค้า


"อย. มีมาตรการส่งเสริมการนำยาแผนไทยหรือยาที่ผลิตจากสมุนไพรไปใช้มากขึ้น อาทิ มีการบรรจุรายการยาจากสมุนไพรและยาแผนไทยไว้ในบัญชียาหลักแห่งชาติ เพื่อทดแทนการใช้ยาแผนปัจจุบันในสถานพยาบาลของรัฐ ทำให้ประชาชนรู้จักและมีการใช้ยาจากสมุนไพรเพิ่มมากขึ้น และยังมียาจากสมุนไพรอีกจำนวนหนึ่งที่ได้รับการขึ้นทะเบียนตำรับยาเป็นยาสามัญประจำบ้านแผนโบราณ เพื่อให้ประชาชนสามารถเลือกใช้ในการดูแลตัวเองจากอาการเจ็บป่วยที่ไม่รุนแรงได้เป็นอีกส่วนหนึ่งที่ทำให้การใช้ยาจากสมุนไพรเพิ่มมากขึ้นซึ่งมีส่วนที่จะเพิ่มมูลค่าทางการตลาดรวมไปถึงเพิ่มโอกาสการส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศ" เลขาธิการฯ อย. กล่าว


นอกจากนี้ อย. ได้ส่งเสริมผู้ประกอบการด้านอาหารทั้งขนาดเล็ก ขนาดกลาง ขนาดใหญ่ ให้สามารถผลิตผลิตภัณฑ์อาหารใหม่ๆ ออกสู่ท้องตลาดได้อย่างรวดเร็ว สร้างรายได้เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้ประเทศ ด้วยการปรับปรุงพัฒนาระบบและลดขั้นตอนการขออนุญาต เพื่อให้ผู้ประกอบการเกิดความสะดวกและคล่องตัวขึ้น ซึ่งมีผู้ประกอบการให้ความสำคัญในการพัฒนาการผลิตมากขึ้น เพื่อให้สินค้าไทยได้รับการยอมรับทั้งตลาดในและต่างประเทศ


เลขาธิการฯ อย. กล่าวว่า อย. มีหน้าที่กำกับดูแลผลิตภัณฑ์อาหารทั้งก่อนและหลังออกสู่ท้องตลาด จึงได้ปรับระบบให้พร้อมต่อการบริการด้านการขออนุญาตด้วยการนำระบบอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ในกระบวนการพิจารณา โดยระยะแรกได้นำร่องจากอาหารเสี่ยงต่ำ เช่น ขนมเค้ก วุ้นสำเร็จรูปและขนมเยลลี่ และผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีสาระสำคัญเป็นไปตามกฎหมาย ด้วยการยื่นผ่านระบบ E-submission ในปัจจุบันได้มีการพัฒนาให้ครอบคลุมอาหารทุกกลุ่มแล้วซึ่งเกิดผลดีคือไม่ต้องเสียเวลาเดินทางมายื่นคำขอที่ อย.ไม่ต้องจองคิวล่วงหน้าหลายวัน สามารถยื่นคำขอได้ตลอด24 ชั่วโมงของทุกวัน ไม่เว้นวันหยุดราชการ ไม่จำกัดจำนวนคำขอที่ยื่น โดยสมัคร Open ID เพียงครั้งเดียว ไม่ต้องแนบสำเนาเอกสารแสดงตนอีก ที่สำคัญแจ้งกำหนดการพิจารณาแล้วเสร็จทันทีที่ยื่น โดยแจ้งผลทางอีเมล และสามารถรับเลขสารบบอาหารออนไลน์ พิมพ์ออกจากระบบใช้เป็นหลักฐานได้ ไม่ต้องมารับที่ อย. อีกทั้งยังจัดทำคู่มือสำหรับประชาชนและแบบตรวจสอบคำขอ (Checklist) ในการยื่นคำขออนุญาตอาหาร ตลอดจนมีระบบบริการให้คำปรึกษาเพื่อให้ยื่นคำขออนุญาตได้อย่างถูกต้องและรวดเร็วอีกด้วย


"อย. ยังเดินหน้าส่งเสริมผู้ประกอบการอาหารทุกระดับที่มีการผลิตผลิตภัณฑ์อาหารที่ได้คุณภาพมาตรฐาน และเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยและความสมประโยชน์ของผู้บริโภค รวมทั้งคุณภาพและประสิทธิภาพของยาสมุนไพรไทย นำเศรษฐกิจไทยสู่ Thailand 4.0 หากผู้ประกอบการหรือผู้บริโภคท่านใดต้องการให้คำแนะนำงานที่เกี่ยวกับ อย. สามารถโทรแจ้งได้ที่สายด่วน อย. 1556 หรือผ่านสายด่วน Oryor Smart Application" เลขาธิการฯ อย. กล่าวในตอนท้าย


"นอกจากการยกระดับคุณภาพการผลิตยาแล้ว อย. ยังให้ความสำคัญถึงประสิทธิภาพของยาที่ผ่านการขึ้นทะเบียนตำรับจาก อย. ดังนั้น ในการพิจารณาอนุญาตจึงต้องมีกระบวนการประเมินทะเบียนตำรับยา เพื่อให้มั่นใจได้ว่ายาดังกล่าว จะเป็นยาที่มีสรรพคุณตามที่ปรากฏบนฉลากยา"

Shares:
QR Code :
QR Code