อย่าเชื่อผลิตภัณฑ์สุขภาพอวดสรรพคุณเกินจริง

/data/content/25389/cms/e_ceghijmpvw14.jpg


          อย.เตือนภัยผู้บริโภค อย่าหลงเชื่อผลิตภัณฑ์สุขภาพที่อวดอ้างสรรพคุณเกินจริง หลอกขายผ่านทางโซเชียลมีเดีย (Social media) หรือทางอินเทอร์เน็ต ล่าสุดได้ออกมาตรการเฝ้าระวัง ตรวจสอบ และปราบปรามการจำหน่ายผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมายอย่างเคร่งครัด


          อย่าหลงเชื่อข้อความโฆษณาผลิตภัณฑ์อาหารอวดสรรพคุณทางยาใช้รักษาโรค ลดน้ำหนัก ผิวขาวใสฯลฯ เพราะอาจได้รับผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของสารอันตรายที่มีผลข้างเคียงสูงติดตามดูรายชื่อและภาพผลิตภัณฑ์สุขภาพผิด กฎหมายที่หน้าเว็บไซต์ www.oryor.com หรือทาง www.facebook.com/FDAThai


          นพ.บุญชัย สมบูรณ์สุข เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยต่อสื่อมวลชนว่า ปัจจุบันพบการจำหน่ายผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ยา เครื่องสำอาง ขายผ่านทางโซเชียลมีเดีย (Social media) เป็นจำนวนมาก ซึ่งมีการโฆษณาที่อวดอ้างสรรพคุณเกินจริง หลอกขายให้ผู้บริโภคสั่งซื้อมาใช้ อาทิ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่อวดอ้างสรรพคุณทางยาว่า ช่วยบำบัด บรรเทา รักษาหรือป้องกันโรคต่างๆ หรืออ้างว่าสามารถเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของร่างกาย เช่น ทำให้หน้าเล็ก เรียว แหลม เพิ่มส่วนสูง ขยายหน้าอก ลดริ้วรอย ลดฝ้า กระ จุดด่างดำ ผลิตภัณฑ์ที่ทำให้ผิวขาวเนียนอมชมพู มีออร่าช่วยปรับสภาพผิวเนียนนุ่มใสวิ้ง


          บางครั้งพบว่า อวดอ้างเป็นยาเสริมสมรรถภาพทางเพศยาเพิ่มหรือขยายขนาดอวัยวะเพศ หรือเป็นเพียงผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางแต่กลับอ้างว่า สามารถรักษาสิวโดยไม่ต้องทานยา รักษาอาการเข่าเสื่อม เป็นต้น ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่อวดอ้างต่างๆ เหล่านี้มักจะเป็นผลิตภัณฑ์ที่ไม่ผ่านการขออนุญาตจาก อย.


          อีกทั้งยังมีการอวดอ้างสรรพคุณเกินจริง บางผลิตภัณฑ์โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางเป็นเพียงการจดแจ้งกับ อย. แต่มักจะนำไปโฆษณาว่าผ่าน อย. แล้ว ทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดว่า อย. รับรองสรรพคุณผลิตภัณฑ์ที่อวดอ้างสรรพคุณเกินจริงด้วย จึงขอเตือนผู้บริโภค ให้ระวังขออย่าได้หลงเชื่อคำโฆษณาและซื้อมาใช้โดยเด็ดขาด เพราะมักพบว่าผลิตภัณฑ์ที่อวดอ้างสรรพคุณเกินจริงนั้นมักลักลอบใส่ยาหรือสารอันตรายลงไปในผลิตภัณฑ์และไม่ได้รับคุณภาพมาตรฐาน อาจได้รับอันตรายจากการใช้ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่หลอกขายผ่านทางโลกโซเชียลมีเดีย


          เลขาธิการฯ อย. กล่าวว่า อย.ได้ร่วมมือกับเครือข่ายต่างๆ โดยเฉพาะตำรวจ บก.ปคบ.(กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค) และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดต่าง ๆดำเนินการเฝ้าระวัง ตรวจสอบ และปราบปรามการจำหน่ายผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมาย พร้อมทั้งออกมาตรการป้องกัน/แก้ไขปัญหาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ไม่ปลอดภัยและการโฆษณาโอ้อวดเกินจริงหรือหลอกลวงให้ผู้บริโภคหลงเชื่อในทางที่ไม่สมควรมาโดยตลอด โดยมีการรวบรวมผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมาย ที่มีการตรวจจับจากสถานที่ผลิตสถานที่จำหน่ายรวมถึงผลิตภัณฑ์ที่มีการ หลอกขายผ่านทางโซเชียลมีเดียและอินเทอร์เน็ต


          รวบรวมจัดทำรายชื่อไว้ที่หน้าเว็บไซต์ www.oryor.com รวมทั้ง www.facebook.com/FDAThai และจะดำเนินการเช่นนี้ต่อไป เพื่อเป็นการย้ำ เตือนให้ผู้บริโภคอย่าได้ซื้อผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่ผิดกฎหมายโฆษณาอวดอ้างสรรพคุณมาใช้โดยเด็ดขาดเพราะนอกจากจะเสียเงินโดยใช่เหตุแล้ว อาจได้รับอันตรายจากการใช้ผลิตภัณฑ์ที่ผสมสารอันตรายอีกด้วยดังนั้น ก่อนตัดสินใจซื้อผลิตภัณฑ์ใด ๆ ขอให้ผู้บริโภคพิจารณาอ่านฉลากให้ถี่ถ้วนเสียก่อน


          หากผู้บริโภคต้องการตรวจสอบว่าผลิตภัณฑ์สุขภาพดังกล่าว ผ่านการขออนุญาตจาก อย.แล้วหรือไม่ ขอให้สังเกตฉลากผลิตภัณฑ์ โดยบนฉลากผลิตภัณฑ์อาหารต้องแสดงเลขสารบบในกรอบเครื่องหมาย อย. ผลิตภัณฑ์ยาต้องมีเลขทะเบียนตำรับยา เช่น ทะเบียนยาเลขที่ G 70/48 และผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางต้องมีเลขที่ใบรับแจ้ง 10 หลัก


          ทั้งนี้ อาจตรวจสอบได้ที่ www.fda.moph.go.th คลิกที่ "สืบค้นข้อมูลผลิตภัณฑ์" อย่างไรก็ตาม หากผู้บริโภคพบเห็นการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่อวดอ้างสรรพคุณเกินจริง หรือได้รับอันตรายจากการใช้ผลิตภัณฑ์สุขภาพ ขอให้ร้องเรียนมาได้ที่ สายด่วน อย.โทร. 1556 หรือ E-mail: [email protected] ตู้ ปณ. 1556 ปณฝ. กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี 11004 และร้องเรียน ผ่าน Oryor Smart Application เพื่อ อย.จะดำเนินการปราบปรามและดำเนินคดีตามกฎหมายกับผู้กระทำผิดต่อไป


 


 


          ที่มา: เว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์


          ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต

Shares:
QR Code :
QR Code