อย่าตัดอนาคตแค่คำว่า "หนูท้อง"
ที่มา : คมชัดลึก
ภาพประกอบจาก สสส. เว็บไซต์คมชัดลึก และแฟ้มภาพ
อย่าตัดอนาคตแค่คำว่า'หนูท้อง' หยุดวงจร…ตั้งครรภ์-คลอด-ทิ้ง ทันทีที่ลูกสาวเพียงคนเดียววัย 18 ปีเดินมาหาและพูดว่า "แม่ หนูมีอะไรจะบอก" สิ่งที่นางสา (นามสมมุติ) ผู้เป็นแม่นึกขึ้นในใจคือ "ไม่นะ ๆ" กระทั่งลูกสาวบอกว่า "แม่ หนูท้อง หนูขอโทษ"
ณ วินาทีนั้น "สา" ทำได้เพียงดึงลูกมา กอดแนบอก ไม่มีคำพูดต่อว่าหรือ ดุด่าใด ๆ จนผ่านไปนานจึงบอกกับลูกว่า "มาช่วยกันหาทางออกนะลูก" จากวันนั้นถึงวันนี้ผ่านมา 3 ปี ลูกสาวเรียนจบและมีงานทำ ขณะที่ "สา" ช่วยเลี้ยงดูหลานชายระหว่างที่ลูกไปเรียน
นางสา วัย 47 ปี ชาวบ้านนาก๋วมเหนือ อ.เมือง จ.ลำปาง เล่าย้อนอดีตระหว่างที่ผู้ทรงคุณวุฒิสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ลงพื้นที่ติดตามเรื่องการตั้งครรภ์ไม่พร้อมพื้นที่ จ.ลำปาง ว่า ตัวเองเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวและเป็นอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมูบ้าน (อสม.) มีลูกสาว ที่ผ่านมาเข้าใจดีถึงเด็กวัยรุ่นที่จะต้องมีแฟนเป็นสิ่งที่ห้ามไม่ได้ จึงสอนลูกเสมอว่าหากมีแฟนก็จะต้องป้องกันด้วยการใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ จะช่วยป้องกันการตั้งครรภ์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เนื่องจากในใจลึก ๆ หวั่นมาตลอดตั้งแต่ได้ดูโฆษณาตัวหนึ่งทางโทรทัศน์ที่ลูกสาวเดินมาบอก "แม่หนูท้อง" ก็บอกตัวเองว่า "อย่าให้เรื่องนี้เกิดขึ้นกับตัวเอง"
หลังวันที่ลูกสาวบอกว่าท้อง นางสา ได้ไปหารือเรื่องนี้กับพ่อแม่ของฝ่ายชายแต่ได้รับการปฏิเสธ แต่ยังดีที่ญาติผู้ใหญ่ของฝ่ายชายทราบเรื่องและบอกว่าจะรับผิดชอบ ลูกสาวของสาและผู้ชายจึงได้ผูกข้อมือกันตามประเพณีชาวเหนือเป็นพิธีเล็ก ๆ แต่ก็ไม่ได้ให้ลูกสาวไปอยู่กินฉันสามีภรรยากันแต่อย่างใด สิ่งที่นางสาทำคือการไปปรึกษาครูที่สถาบันการศึกษาที่ลูกสาวเรียนอยู่ โชคดีที่ครูเข้าใจและบอกว่า "วิทยาลัยจะไม่ตัดอนาคตเด็กด้วยการให้เด็กออกจากเรียน หากเด็กสมัครใจที่อุ้มท้องมาเรียน ก็สามารถเรียนต่อได้"
ลูกสาวของสาจึงได้เรียนต่อในสถาบันการศึกษาเดิม โดยมีเพื่อนที่สนิทให้ความช่วยเหลือร่วมกับเพื่อนในกลุ่มผู้หญิงที่ตั้งครรภ์อีกราว 6-7 คน ที่คอยแนะนำในการดูแลครรภ์ระหว่างการเรียนกันและกัน ขณะที่เพื่อน ๆ คนอื่น ๆ ในวิทยาลัยก็เข้าใจ ไม่ได้มีท่าทีรังเกียจแต่อย่างใด จนกระทั่งถึงกำหนดคลอดทารกเป็นเพศชาย นางสาจึงทำหน้าที่เป็นยายเลี้ยงหลานชายในระหว่างที่แม่เด็กไปเรียนหนังสือ
"สิ่งที่มารู้ตอนหลังที่ลูกบอกคือ เขาคิดฆ่าตัวตายด้วยเมื่อรู้ว่าผู้ชายไม่รับผิดชอบ แต่เขาคิดถึงแม่ เขาจึงไม่ได้ทำแบบนั้น และตัดสินใจเดินเข้ามาบอกแม่ตรง ๆ อยากฝากถึงพ่อแม่ที่อาจจะต้องพบเจอกับเรื่องเช่นนี้ อย่าดุด่าลูกกับเรื่องที่เกิดขึ้นเพราะจะยิ่งผลักเขาออกไปเผชิญกับปัญหาตามลำพัง สิ่งที่เราควรทำคือแสดงความรัก ความเข้าใจ ร่วมกันหาทางออกกับลูก และคอยชี้แนะแนวทางที่ถูกให้เขา ตอนนี้ลูกสาวเรียนจบระดับปวส.และมีงานทำเลี้ยงตัวเองและลูกได้แล้ว" นางสา กล่าว
ต่อเรื่องนี้ นพ.วิวัฒน์ โรจนพิทยากร ประธานอนุกรรมการที่ปรึกษาอิสระด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น แนะนำว่า สิ่งที่ยังไม่รู้ตอนนี้คือเด็กที่ตั้งครรภ์แล้วไปไหน เพราะส่วนใหญ่พบว่าต้องออกจากโรงเรียนเกือบทั้งหมด ทั้งที่เด็กมิสิทธิ์ที่จะได้เรียนต่อ โรงเรียนต้องไม่ให้เด็กออก เนื่องจากตามพ.ร.บ.การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นพ.ศ.2559 กำหนดไว้ชัดเจนว่าสถานศึกษาจะต้องจัดรูปแบบการศึกษาที่เหมาะสมให้นักเรียนกรณีที่เกิดการตั้งครรภ์ระหว่างเรียน โดยอาจจะให้เรียนในสถาบันการศึกษาเดิม หรือจัดหาสถาบันการศึกษาใหม่ให้เด็ก ทั้งนี้ขึ้นอยู่ความต้องการและสมัครใจของเด็กและผู้ปกครอง แต่หัวใจสำคัญคือต้องให้เด็กได้ศึกษาต่อไป
"ไม่ต้องกังวลว่าการให้เด็กที่ตั้งครรภ์ได้เรียนต่อในโรงเรียนเดิมแล้วจะเป็นการส่งเสริมให้เกิดการเลียนแบบ เพราะมีการศึกษาในต่างประเทศ พบว่าการให้เด็กนักเรียนที่ตั้งครรภ์ระหว่างเรียนได้เรียนต่อในโรงเรียนเดิม จะทำให้เพื่อน ๆ มีปัญหาตั้งครรภ์น้อยลง เพราะรับรู้แล้วว่าถ้าปล่อยให้ท้องจะมีปัญหาตามมาแน่ ๆ" นพ.วิวัฒน์กล่าว
นพ.วิวัฒน์ กล่าวอีกว่า ในกรณีที่ผู้ตั้งครรภ์มีความประสงค์ที่จะยุติการตั้งครรภ์ แพทย์สามารถให้บริการทางการแพทย์เรื่องนี้ได้โดยไม่ผิดกฎหมายอาญาหรือจรรยาบรรณทางการแพทย์ หากพบว่าการตั้งครรภ์ต่อไปนั้นส่งผลต่อสุขภาพของแม่ที่ตั้งครรภ์ไม่ว่าจะเป็นสุขภาพกายหรือสุขภาพจิต และปัจจุบันมียาที่แพทย์ในโรงพยายบาลสามารถสั่งจ่ายได้เพื่อยุติการตั้งครรภ์ตั้งแต่อายุน้อย ๆ มีความปลอดภัยต่อผู้ที่ตั้งครรภ์ อยู่ในการสนับสนุนของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) อยู่แล้ว
ขณะที่ นายไตรภพ เครือคำน้อย ประธานชมรมทูบีนัมเบอร์วันเทศบาลนครลำปาง บอกว่า วิธีการหนึ่งที่ชมรมนำมาใช้ในการป้องกันการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ คือ การให้เด็กเยาวชนเข้าถึงถุงยางอนามัย โดยชมรมจะมีการอบรมแกนนำนักเรียนในสถาบันการศึกษาต่าง ๆ แล้วมอบถุงยางอนามัยไว้ให้แกนนำ เพื่อแจกให้เพื่อน ๆ ในโรงเรียนซึ่งถุงยางอนามัยจะได้รับการสนับสนุนฟรีจากโรงพยาบาล เทศบาล หรือหน่วยงานต่าง ๆ
"การที่ให้เด็กในโรงเรียนนั้น ๆ รู้ว่าเขาสามารถมาขอถุงยางอนามัยจากเพื่อนที่เป็นแกนนำได้ จะทำให้เขากล้าที่จะมาขอเพราะเป็นการรู้กันเพียง 2 คน แต่หากให้เขาไปซื้อตามร้านสะดวกซื้อหรือแม้แต่การติดตั้งตู้ขายถุงยางอนามัยในโรงเรียน ก็คงจะทำให้เด็กส่วนน้อยที่จะกล้าไปซื้อ เพราะมันโจ่งแจ้งเกินไป ก็จะทำให้เขาไม่ถึงวิธีการป้องกันแบบนี้อยู่ดี อย่างไรก็ตาม การจะให้เพื่อนที่เป็นแกนนำพกถุงยางอนามัยนั้น ครูในโรงเรียนคือปัจจัยสำคัญที่จะต้องเข้าใจและไม่เพ่งเล็งว่าเด็กคนนั้นเป็นคนไม่ดีหรือส่งเสริมเพื่อนทางที่ผิด" นายไตรภพ กล่าว
การป้องกันและช่วยเหลือเด็กเยาวชนที่ต้องเผชิญปัญหา "ท้องไม่พร้อม" อย่างเข้าใจ ย่อมมีทางเลือกเป็นทางออกหลายช่องทาง โดยไม่จำเป็นต้องให้ออกจากการศึกษา ซึ่งจะเป็นเหมือนการตัดอนาคตของเด็ก หรือผลักให้เด็กเผชิญปัญหาเพียงลำพัง จนนำมาสู่วังวันเดิม ๆ ท้อง คลอด และทิ้งทารก
การสื่อสารเชิงบวกกับวัยรุ่น
1.ใช้คำพูดที่ดีต่อกัน ไม่เอาแต่ดุว่า ประชดประชัน หรือตำหนิลูก
2.การบอกความรู้สึกที่แท้จริง เช่น เป็นห่วง คิดถึง กังวล ไม่สบายใจ จะช่วยลดความเข้าใจผิดต่อกัน และสร้างความสัมพันธ์ในครอบครัวให้เข้มแข็ง อบอุ่น
3.ลดการกล่าวโทษและการสั่งการ คำพูดกล่าวโทษและคำสั่งมักใช้ไม่ได้ผลกับลูกวัยรุ่น วัยที่กำลังเชื่อมั่นในตัวเอง กำลังต้องการมีตัวตน และการยอมรับจากสังคม ควรพูดกับลูกในทางที่เข้าใจลูก ชี้แนะเสนอความคิดเห็น
4.ฟังลูกให้มากขึ้น ลองฟังมุมมองจากลูกบ้าง ลดการบ่น ฟังเหตุผลของลูกเพื่อที่จะเข้าใจ ไม่ด่วนสรุปคิดไปเอง และจะได้ชี้แนะแนวทางได้ตรงความต้องการของลูกมากขึ้นด้วย