อยู่อย่างมีความหมาย จากไปอย่างมีความสุข
เรื่องโดย : ดนยา สุเวทเวทิน Team Content www.thaihealth.or.th
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพและทีมชีวามิตร
“คนเราจะมีพรุ่งนี้ได้อีกกี่วัน เวลามีเหลือกันเท่าไหร่ คนเราจะมีลมหายใจอีกกี่ครั้ง ใครจะรู้…”
สัจธรรมในโลกนี้สอนให้รู้ว่าทุกอย่างเป็นสิ่งไม่เที่ยงและไม่มีอะไรแน่นอน ชีวิตคนเราก็เช่นกัน เมื่อถึงวันหนึ่งทุกคนต่างก็ต้องลาจากโลกนี้ไปด้วยกันทั้งสิ้น ไม่มีใครจะหลีกหนีความตายไปได้ เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้ววันนี้คุณเคยลองออกแบบวาระสุดท้ายของชีวิตคุณไว้หรือยัง?
ใช่แล้ว เราทุกคนสามารถออกแบบวาระสุดท้ายของตัวเองได้ แต่การออกแบบในที่นี้ไม่ได้หมายความว่าคุณสามารถเลือกสาเหตุหรือการหยั่งรู้ความตาย หากแต่เป็นการเลือกว่าในวาระสุดท้ายของชีวิตคุณอยากใช้เวลาที่เหลืออยู่แบบใด
Living will เลือกวิธีรักษาสุขภาพในวาระสุดท้ายของชีวิต
Living Will คือ เอกสารแสดงเจตนาล่วงหน้าเกี่ยวกับการเลือกวิธีการรักษาสุขภาพช่วงสุดท้าย และการตายดี (Advance Directive) ตาม พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 มาตรา 12 เพื่อทบทวนความต้องการเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ เมื่อผู้ป่วยเข้าสู่ช่วงสุดท้ายของชีวิต และสื่อสารความต้องการให้ครอบครัวและทีมสุขภาพได้รับรู้ ที่ระบุไว้ว่า “บุคคลมีสิทธิทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิตตน หรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วยได้”
ในทางการแพทย์ ตายดี น่าจะหมายถึง Dying without unnecessary suffering มีการเตรียมตัวและวางแผนการดูแลที่ดีเป็นกระบวนการหนึ่งของการดูแลทั้งร่างกาย จิตวิญญาณ และสังคมของผู้ป่วย ญาติ และผู้ดูแล
“Living Will ไม่มีแบบฟอร์มที่ตายตัว ทุกคนสามารถเขียนขึ้นมาเองได้ หรือจะดาวน์โหลดจากสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) เว็บไซต์ www.thailivingwill.in.th แล้วกรอกข้อมูลเพิ่มเติมก็ได้เช่นกัน และการเขียน Living will จะมีพยานเซ็นรับรองหรือไม่ก็ได้ แต่สิ่งสำคัญที่ห้ามลืมนั่นคือระบุ วัน เดือน ปี ที่คุณทำเอกสารขึ้นมา” ศ.ดร.แสวง บุญเฉลิมวิภาส คณะนิติศาสตร์และที่ปรึกษา ศูนย์กฎหมายสุขภาพและจริยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ความรู้ไว้ในการอบรมหลักสูตร ‘อยู่อย่างมีความหมาย จากไปอย่างมีความสุข’ ที่ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และบริษัทชีวามิตร ร่วมกันจัดขึ้น เพื่อต้องการส่งสารผ่านInfluencer ผู้เข้าอบรมให้เป็นกระบอกเสียงที่สร้างการรับรู้ ตลอดจนปรับเปลี่ยนทัศนคติในเรื่องของการสูญเสียจากไป
ยกตัวอย่างเนื้อหาหลักๆ ที่ควรมีอยู่ใน living will เช่น เลือกว่าจะกลับไปอยู่ที่บ้านแทนโรงพยาบาล เลือกว่าคุณจะหายใจด้วยตัวเองแทนการใช้เครื่องช่วยหายใจ งดการให้อาหารและน้ำทางสายยาง หรือประสงค์จะกลับไปเสียชีวิตที่บ้าน เป็นต้น
ศ.ดร.แสวง บอกต่อว่า เพียงแค่เมื่อคุณจรดปากกาแสดงความประสงค์ลงในแผ่นกระดาษเรียบร้อยแล้ว ก็ถ่ายสำเนาและเซ็นกำกับไว้ นำชุดที่ถ่ายสำเนาให้ฝ่ายเวชระเบียน (ในกรณีที่คนที่คุณรู้จักผู้ป่วยและมี living will) ในกรณีที่คุณยังสบายดี สามารถใช้ชีวิตประจำได้ก็เพียงแต่พกเอกสารไว้ติดตัวไปตลอดก็เท่านั้น เพราะเมื่อคุณเกิดเหตุฉุกเฉินจนอาจถึงวาระสุดท้าย ทีมเจ้าหน้าที่พยาบาลจะได้ทราบถึงเจตนาในการรักษาสุขภาพของคุณนั่นเอง
เลือกจากไปอย่างสงบ ด้วยการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายแบบประคับประคอง (Palliative Care)
แนวคิดและหลักการของการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายแบบประคับประคอง (Palliative Care) เป็นแนวทางในการดูแลที่ให้ความสำคัญเพื่อการบรรเทาความเจ็บปวดที่เกิดขึ้น ครอบคลุมทั้งการดูแลจิตใจทั้งของผู้ป่วยและญาติให้สามารถเผชิญหน้ากับเสี้ยววินาทีสุดท้ายของชีวิตอย่างปราศจากความกลัวและกังวลอย่างมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ที่สำคัญคือเป็นการคืนสิทธิการเลือกตายโดยผู้ป่วยเอง
ศ.ดร.แสวง กล่าวต่อไปว่า “ย้ำว่าใช้สำหรับ ‘วาระสุดท้าย’ ที่หมายถึงสภาวะเจ็บป่วยหรือบาดเจ็บจนไม่สามารถรักษาให้หายจากโรคดังกล่าวได้” หรือสรุปง่ายๆ ว่า เป็นการปฏิเสธการรักษาพยาบาลที่เป็นเพียงเพื่อยืดการตายโดยใช้เทคโนโลยีต่างๆ เข้าช่วยโดยที่ตัวผู้ป่วยเองมีคุณภาพชีวิตย่ำแย่ เช่น นอนไม่รู้สึกตัว มีความทรมานทั้งทางร่างกายและจิตใจ หรือแม้กระทั่งความทรมานที่เกิดจากการต่อเครื่องมือแพทย์ต่างๆ เข้ากับร่างกาย
วิธีที่จะช่วยให้ผู้ป่วยไม่เกิดความทุกข์ทรมานมากนักและจะทําให้จากไปอย่างสงบก็คือ การดูแลบรรเทาโรคตามอาการ (symptom control) การบรรเทาความเจ็บปวด (relief pain) ตลอดจนการดูแลทางด้านจิตใจ (spiritual healing) ให้แก่ผู้ป่วย รวมถึง (support) ด้านจิตใจญาติของผู้ป่วยด้วย
เมื่อเลือกการดูแลแบบ Palliative Care แล้ว ญาติหรือผู้ดูแลต้องเข้าใจสภาวการณ์ที่เข้าสู่ช่วงสุดท้ายของชีวิต เช่น ความอ่อนเพลีย (เป็นสิ่งที่ควรยอมรับและไม่จำเป็นต้องให้การรักษาใดๆ ระยะนี้ควรให้ผู้ป่วยพักผ่อนให้เต็มที่) เบื่ออาหาร (ในระยะนี้ผู้ป่วยจะมีอาการเบื่ออาหาร ทานน้อยลงหรือไม่อยากทานเลย ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่ดี เพราะร่างกายจะได้หลั่งสารคีโตนที่มีช่วยบรรเทาอาการเจ็บปวดได้ ผู้ป่วยจะได้รู้สึกสบายขึ้น) ดื่มน้ำน้อยลง (ภาวะขาดน้ำในผู้ป่วยระยะนี้ไม่ได้ทำให้ผู้ป่วยทรมานมากขึ้น หากผู้ป่วยมีภาวะขาดน้ำ ริมฝีปากแห้ง จมูกแห้ง ให้หมั่นทาสีผึ้งและทำความสะอาด) ไม่รู้สึกตัว (ไม่ควรคิดว่าผู้ป่วยไม่สามารถรับรู้หรือได้ยิน เพราะผู้ป่วยอาจจะรับรู้ได้ แต่ไม่สามารถสื่อสารได้เท่านั้น) การร้องครวญคราง/ ใบหน้าบิดเบี้ยว (อาจไม่ได้เกิดจากความเจ็บปวดเสมอไป แท้จริงแล้วเกิดจากความเปลี่ยนแปลงทางสมอง ซึ่งสามารถให้ยาระงับอาการได้) และ การมีเสมหะมาก (ควรให้ยาลดเสมหะแทนการดูดเสมหะ ได้ผลมากกว่าและลดอาการเจ็บปวด)
“หมอมีหน้าที่รักษาก็จริง แต่ไม่มีหมอคนไหนจะสามารถรักษาให้คนไข้ที่ต้องตายให้ไม่ตายได้” ศ.ดร.แสวง บุญเฉลิมวิภาส ทิ้งท้าย
ทำไม Palliative Care ต้องดูแลญาติของผู้ป่วย?
“เราเคยเจอเคสหนึ่งที่ญาติคนไข้เลือกให้พ่อที่เป็นผู้ป่วยระยะสุดท้ายเจาะคอและกลับไปรักษาตัวที่บ้าน หลังจากนั้นทราบว่าผู้ป่วยเสียชีวิต มันทำให้ลูกคนนั้นฝังใจว่าเป็นเพราะเขาที่เลือกวิธีนี้เลยทำให้พ่อตาย เมื่อเวลาผ่านไปแม่ของเขาป่วยต้องเลือกเหมือนเดิมว่าจะเจาะคอหรือไม่ มันทำให้เขาไม่กล้าตัดสินใจ” พว.สุรีย์ ลี้มงคล หัวหน้าหน่วยและพยาบาลชำนาญการพิเศษ หน่วยการพยาบาลต่อเนื่อง ฝ่ายการพยาบาล ร.พ.ศิริราช เล่าเรื่องราวการทำงานจากชีวิตจริงให้ฟัง
หรือจะเป็นคำพูดในทำนองว่า “พ่อแม่ป่วยขนาดนี้ทำไมยังให้อยู่บ้าน ทำไมไม่ให้ไปอยู่โรงพยาบาล” สิ่งเหล่านี้มันสะท้อนว่าความคิดของคนส่วนใหญ่ยังขาดความเข้าใจกับเรื่องนี้ เพราะถ้าสังคมเข้าใจจะไม่มีเสียงสะท้อนกลับมาที่ญาติหรือผู้ดูแล
“แน่นอนว่าทุกการสูญเสียมันย่อมมีความโศกเศร้า แต่เราต้องทำให้ความโศกเศร้านั้นค่อยๆ จางหายไป ให้ทุกอย่างก้าวข้ามผ่านไปได้ เพราะทุกคนต้องดำเนินชีวิตต่อไป”
แนวทางการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย
“ปัญหาของการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย เป็นเรื่องที่ไม่ค่อยมีการพูดถึงหรือวางแผนกันไว้ก่อน ทำให้ผู้ป่วยมักไม่มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ การรักษาปัจจุบันเน้นที่การรักษาของโรค มากกว่าการรักษาคน เป้าหมายการรักษาอยู่ที่การรักษาให้หายและมีชีวิตอยู่นานที่สุด ทำทุกอย่างให้ดีที่สุด ผู้ป่วยระยะสุดท้ายมักได้รับการรักษาที่ไม่จำเป็นและไม่มีประโยชน์มากเกินไป และได้รับการรักษาดูแลที่มีประโยชน์น้อยเกินไป” รศ.นพ. ฉันชาย สิทธิพันธุ์ รองคณบดี ฝ่ายวางแผนและพัฒนา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนึ่งในวิทยากร เล่า
สรุปได้ว่า ในการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย ควรเน้นดูแลชีวิต ยอมรับการตายว่าเป็นเรื่องธรรมชาติ ไม่เร่ง และไม่ยืดความตาย สิ่งที่ควรทำในการดูแลผู้ป่วย คือ 1) ความต้องการของผู้ป่วย/ คุณภาพชีวิตให้มี Physical Activity ได้นานที่สุด 2) ลดอาการเจ็บปวดทรมานทางกาย เช่น อาการปวด เหนื่อย หอบ 3) ดูแลญาติและผู้ดูแล 4) ดูแลจิตใจ ความเชื่อ ลดสิ่งที่ค้างคาใจ และ 5) หยุดการรักษาที่ไม่เกิดประโยชน์
และสิ่งที่ไม่ควรทำ นั่นคือ 1) การรักษาเพื่อสนองความต้องการของญาติ 2) การให้ความหวังที่เกินจริง 3) การรักษาที่เป็นการยืดชีวิตออกไป 4) เกิดความไม่เข้าใจระหว่างญาติ/แพทย์ 5) การเจาะเลือดหรือการให้ยาที่ไม่จำเป็น และ 6) การรักษาที่ทำให้เกิดผลเสียกับผู้ป่วย
“การสูญเสียมันไม่ใช่สิ่งเลวร้ายเสมอไป บางการจากลาสอนให้คนที่ยังอยู่ได้มารวมตัวกัน บางครอบครัวไม่เคยกินข้าวพร้อมกัน ไม่เคยรวมญาติกัน แต่กลับได้มาเจอกันในวาระสุดท้าย และหลายๆ ครั้งการสูญเสียก็สะสางความไม่เข้าใจกันของคนเราให้หายไปได้”
ฟังเรื่องเล่าก่อนการสูญเสีย จาก influencer ผู้เข้าอบรม ‘ท็อป ดารณีนุช ปสุตนาวิน’
“ตอนที่คุณแม่เสียเมื่อรักษาจนสุดความสามารถแล้ว เราก็ให้ท่านจากไปอย่างสงบ พอถึงคราวคุณพ่อท่านก็รักษาอย่างเต็มที่ ท็อปสังเกตได้อย่างหนึ่งในช่วงนั้นคือ เรามักจะคุ้นชินกับความเชื่อที่ว่า ในช่วงสุดท้ายควรเปิดเพลงธรรมะ หรือบทสวดธรรมะให้ผู้ป่วยฟัง แต่พอเราเปิด เราสังเกตเห็นว่าท่านมีอาการหงุดหงิด เราจึงถามพ่อว่าพ่อไม่ชอบฟังเหรอแล้วท่านตอบสนองกลับมา พอเราลองเปิดเพลงของวงสุนทราภรณ์ท่านก็ฟังปกติ ดูจะมีความสุขกว่าด้วยซ้ำนะคะ” ท็อป ดารณีนุช ปสุตนาวิน influencer ร่วมแชร์ประสบการณ์ในการอบรม
ในฐานะของผู้ดูแลหรือญาติ ต้องหมั่นคอยสังเกตผู้ป่วย ต้องอาศัยความใส่ใจในสิ่งที่เขาต้องการ เพื่อที่จะได้ทำในสิ่งที่เขาปรารถนา ไม่ใช่ทำเพื่อตามใจตัวเราเอง ก่อนอื่นต้องรู้ว่าพื้นฐานของผู้ป่วยเป็นอย่างไร ชอบหรือไม่ชอบอะไรเป็นพิเศษ พื้นฐานครอบครัวเป็นอย่างไร
สุดท้าย ท็อป ดารณีนุช เล่าทิ้งท้ายไว้ว่า “โชคดีที่ครอบครัวเราเข้าใจเรื่องพวกนี้ ท็อปเคยคุยกับลูกว่า ถ้าอนาคตแม่เป็นอะไรไปแล้วหมดหนทางรักษา แม่ไม่ต้องการเจาะคอเพื่อใส่เครื่องช่วยหายใจนะลูก”
"คนเราจะมีพรุ่งนี้ได้อีกกี่วัน เวลามีเหลือกันเท่าไหร่ คนเราจะมีลมหายใจอีกกี่ครั้ง ใครจะรู้…” เมื่ออ่านจนจบถึงบรรทัดนี้แล้ว ในฐานะผู้เขียนขอฝากแง่คิดไว้ว่า ในแต่ละวันคนเราทุกคนมีเวลาเท่ากัน 24 ชั่วโมง ในบางวันเราอาจจะใช้เวลาหนักไปกับการทำงาน การนอน การเที่ยว หรือแม้แต่การท่องโลกผ่านหน้าจอสมาร์ทโฟน แล้วจะมีวันไหนบ้างไหมที่คุณเคยออกแบบวาระสุดท้ายของตัวเองเอาไว้ เพราะเราก็ไม่รู้เลยว่า ‘วันนั้น’ ที่ใครเขาว่ากันจะมาถึงเมื่อไหร่