“อยากเลิกบุหรี่” โทรฟรี 1600

ไอซีที จับมือ ผู้บริการโทรศัพท์ทุกค่าย โทรฟรี สายด่วนเลิกบุหรี่ “1600” หวังช่วยสิงห์อมควันกลับใจ พบ 6 ใน 10 นักสูบอยากเลิก แต่ใจไม่แข็งพอ เหตุสูบซ้ำ ชี้ ต้องเร่งจัดบริการทางสุขภาพครบวงจร ทั้งบำบัด รักษา ให้คำปรึกษา ไปพร้อมกัน

เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ศูนย์บริการเลิกบุหรี่ทางโทรศัพท์แห่งชาติ บริษัทให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่/โทรศัพท์พื้นฐาน และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดแถลงข่าวพิธีลงนามความร่วมมือ “ยกเว้นค่าโทรศัพท์ 1600 สายเลิกบุหรี่” โดย น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กล่าวว่า การสูบบุหรี่เป็นการสร้างภาระโรค ทำให้รัฐต้องสูญเสียค่ารักษาพยาบาลที่เกิดจากการสูบบุหรี่ถึง 9,857 ล้านบาทต่อปี คิดเป็นร้อยละ 0.48 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (จีดีพี) และทำให้คนไทยเสียชีวิตถึง 48,244 คนต่อปี อายุสั้นลงประมาณ 20-25 ปี โดยในจำนวนผู้สูบบุหรี่ 12.5 ล้านคน หรือผู้สูบบุหรี่ 6 ใน 10 คนมีความต้องการอยากเลิกบุหรี่ ดังนั้น การสนับสนุนบริการเลิกบุหรี่จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่จะช่วยลดการกลับมาสูบบุหรี่ซ้ำได้ ซึ่งปัจจุบันมีประชาชนให้ความสนใจรับบริการปรึกษาการเลิกบุหรี่ทางโทรศัพท์จำนวนมาก การสนับสนุนให้ประชาชนสามารถเลิกบุหรี่ ถือเป็นหน้าที่ที่ทุกหน่วยงานต้องร่วมมือกัน

“การลงนามความร่วมมือยกเว้นค่าโทรศัพท์ “1600” สายเลิกบุหรี่ เป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน บริษัทผู้ให้บริการโทรศัพท์ทุกเครือข่าย ร่วมกันยกเว้นค่าบริการโทรศัพท์พื้นฐานและโทรศัพท์เคลื่อนที่ หากเรียกเข้าหมายเลข “1600” เพื่อให้บริการแก่ประชาชนที่ต้องการขอคำปรึกษาการเลิกบุหรี่ จากข้อมูลปี 2554 ประเทศไทยมีผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่รวม 75.35 ล้านราย มีผู้ใช้บริการโทรศัพท์ประจำที่รวม 6.66 ล้านเลขหมาย การเพิ่มช่องทางให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการได้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายจึงเป็นตัวกระตุ้นให้ประชาชนได้รับบริการมากขึ้น” น.อ.อนุดิษฐ์ กล่าว

นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากข้อมูลการสำรวจสถานการณ์การสูบบุหรี่ พบว่า โดยเฉลี่ยผู้ชาย 1 ใน 6 คน และผู้หญิง 1 ใน 25 คน จะเสียชีวิตจากการสูบบุหรี่ ทำให้สูญเสียปีสุขภาวะ (ปีที่มีสุขภาพดีจากการตายก่อนวัยอันควร หรือมีความพิการ) ราว 6 แสนปีสุขภาวะ หรือร้อยละ 11.1 ของภาระโรคทั้งหมด ในจำนวนนี้มาจากโรคหัวใจและหลอดเลือด และโรคมะเร็งปอด ซึ่งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตลำดับต้นๆ ของประเทศ ทั้งนี้ พบว่า สิทธิประโยชน์การประกันสุขภาพเรื่องการเลิกสูบบุหรี่ ทั้งในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ประกันสังคม และสวัสดิการราชการ ถือว่ายังไม่เป็นรูปธรรม ประชาชนเข้าถึงการบริการได้น้อย ภาครัฐจำเป็นต้องจัดการบริการให้ประชาชนสามารถเข้าถึงได้มากขึ้น การให้บริการสายด่วน ถือเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่จะทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการได้ง่ายขึ้น อย่างไรก็ตาม การให้คำปรึกษาและการรักษายังจำเป็นต้องทำควบคู่กัน

รศ.ดร.จินตนา ยูนิพันธุ์ ผู้อำนวยการศูนย์บริการเลิกบุหรี่ทางโทรศัพท์แห่งชาติ (ศบช.) กล่าวว่า ศบช. เริ่มดำเนินงานมาตั้งแต่ปี 2552 โดยมูลนิธิสร้างสุขไทย และรับการสนับสนุนจาก สสส. มีเป้าหมายเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการการเลิกบุหรี่ได้อย่างง่าย ปัจจุบันให้บริการประชาชนได้เต็มที่พร้อมกัน 30 คู่สาย ให้บริการได้เฉลี่ย 2,600 รายต่อเดือน โดยมีเจ้าหน้าที่ให้บริการที่ผ่านการอบรมเพื่อให้คำปรึกษาแก่ประชาชน โดยจะทำงานทั้งการบริการเชิงรับคือ รับสายผู้โทรเข้าหมายเลข 1600 และเชิงรุก คือ โทรออกไปยังผู้ที่ต้องการเลิกสูบที่ส่งต่อมาจากภาคีเครือข่าย โทรติดตามเยี่ยม 6 ครั้ง/คน (ในเวลา 1 ปี) และผู้ที่ขอใช้บริการผ่าน www.thailandquitline.or.th และขยายช่องทางให้บริการผ่าน SMS โทร 089-814-1600 ประชาชนสามารถส่งข้อความและนัดวันโทรให้เจ้าหน้าที่โทรกลับได้

“การเสพติดบุหรี่ ร่างกายจะต้องการนิโคตินอยู่ตลอดเวลา เมื่อนิโคตินในกระแสเลือดลดระดับลง ช่วง 3-5 วันแรกของการเลิกสูบบุหรี่ ผู้เลิกบุหรี่จะมีอาการ เช่น อารมณ์ถูกกระทบง่าย โกรธ รู้สึกเหนื่อยล้า วิตกกังวล หงุดหงิด เครียด ปวดศีรษะ พักผ่อนได้น้อย ไม่ค่อยมีสมาธิ เป็นต้น อาการดังกล่าวเป็นอาการในช่วงการปรับตัว แต่เป็นอาการสำคัญที่ทำให้คนที่ต้องการเลิกบุหรี่ไม่สามารถผ่านไปได้ จนกลับมาสูบบุหรี่ซ้ำ ซึ่งระหว่างนั้นหากได้รับคำแนะนำ การให้กำลังใจ  ก็จะสามารถผ่านช่วงเวลานั้นไปได้และเลิกบุหรี่ได้ในที่สุด” รศ.ดร.จินตนา กล่าว

 

 

ที่มา : สำนักข่าวสร้างสุข

Shares:
QR Code :
QR Code