อบรมจิตอาสาดูแลผู้สูงอายุ
กทม.เร่งจัดอบรมจิตอาสาเพื่อเปิดบ้านรับดูแลผู้สูงอายุเมืองกรุงแบบเช้าไปเย็นกลับ เพื่อแก้ปัญหาลูกหลานออกไปทำงานนอกบ้าน และขาดเวลาดูแลผู้สูงอายุ หวังรองรับผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นในอนาคต
แฟ้มภาพ
นางผุสดี ตามไท รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ในฐานะประธานคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ กทม.อย่างครบวงจร กล่าวว่า ข้อมูลปี 2557 มีผู้สูงอายุในพื้นที่ กทม.ทั้งหมด 890,000 คน ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2556 ประมาณ 80,000 คน ในจำนวนนี้เป็นผู้สูงอายุที่ติดสังคม คือ สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ และออกจากบ้านสู่สังคมอื่นๆ ได้ 92% เป็นผู้สูงอายุอยู่ติดบ้าน คือ สามารถช่วยเหลือตนเองได้ แต่ไม่สามารถออกนอกบ้านสู่สังคมได้ 6% และเป็นผู้สูงอายุอยู่ติดเตียงคือไม่สามารถช่วยเหลือตนเองในด้านใดๆ ได้เลย 2% ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าสังคมไทยปัจจุบันได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างรวดเร็วมาก อีกทั้ง กทม.ยังเป็นมหานครที่เต็มไปด้วยความหลากหลายและมีการเปลี่ยนแปลงสภาพของเมืองอย่างรวดเร็วจนส่งผลต่อการดำเนินชีวิตของกลุ่มผู้สูงอายุเป็นอย่างมาก
ดังนั้น กทม.จึงจัดทำแผนพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุในพื้นที่ กทม.เพื่อวางแนวทางการดูแลผู้สูงอายุอย่างเป็นระบบและทุกพื้นที่ให้สามารถดำเนินการในรูปแบบเดียวกันได้ โดยแผนพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุในระยะที่ 1 ปี 2557-2560 จะมีทั้งหมด 5 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ 1.ยุทธศาสตร์ทางด้านการส่งเสริมและพัฒนาผู้สูงอายุ 2.ยุทธศาสตร์ทางด้านระบบคุ้มครองทางสังคมสำหรับผู้สูงอายุ 3.ยุทธศาสตร์ทางด้านการเตรียมความพร้อมของประชากรใน กทม.ทุกช่วงวัยเพื่อวัยสูงอายุที่มีคุณภาพ 4.ยุทธศาสตร์ทางด้านการบริหารจัดการเพื่อการพัฒนางานด้านผู้สูงอายุอย่างบูรณาการของ กทม.และการพัฒนาบุคลากรด้านผู้สูงอายุ และ 5.ยุทธศาสตร์ทางด้านการประมวลพัฒนาและเผยแพร่องค์ความรู้ด้านผู้สุงอายุและการติดตามประเมินผลการดำเนินการตามแผนผู้สูงอายุของ กทม. ซึ่งแผนดังกล่าว กทม.มีการประกาศใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2557
รองผู้ว่าฯ กทม.กล่าวอีกว่า การใช้ 5 ยุทธศาสตร์ในการดูแลผู้สูงอายุในพื้นที่ กทม.นั้น จะส่งผลให้ กทม.สามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุทั้งมิติในด้านสุขภาพร่างกาย มิติทางเศรษฐกิจและสังคม ทั้งนี้เพื่อให้ผู้สูงอายุสามารถพึ่งพาตนเองได้ รวมถึงส่งเสริมการเตรียมความพร้อมของประชากรที่อยู่ในวัยเด็กและวัยแรงงานของ กทม.ให้เป็นผู้สูงอายุที่มีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ในอนาคตต่อไปด้วย อีกทั้งยังเป็นการลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ในการเข้าถึงระบบบริการสุขภาพและสวัสดิการด้านต่างๆ โดยการพัฒนาระบบส่งเสริมศักยภาพและการคุ้มครองผู้สูงอายุ ทั้งการส่งเสริมศักยภาพชุมชน ชมรมผู้สูงอายุ กลุ่มและองค์กรต่างๆ ในการมีส่วนร่วมเพื่อการดำเนินงานด้านผู้สูงอายุได้อย่างยั่งยืนและต่อเนื่อง หากเป็นไปตามเป้าหมายก็จะทำให้กลุ่มผู้สูงอายุในพื้นที่ กทม.มีวิถีชีวิตที่ดีขึ้นแน่นอน
นอกจากนี้ กทม.จัดฝึกอบรมบุคลากรผู้มีจิตอาสาดูแลผู้สูงอายุไปแล้วจำนวน 1,200 คน เพื่อให้สามารถดูแลผู้สูงอายุในรูปแบบการเป็นอาสาดูแลผู้สูงอายุภายในชุมชน ซึ่งเป็นผู้ที่คนในครอบครัวได้นำมาฝากดูแลที่บ้านของจิตอาสาคนนั้นๆ หรือที่ศูนย์สาธารณสุขของ กทม.และลูกหลานสามารถมารับผู้สูงอายุกลับบ้านในช่วงเย็นได้ทุกวัน โดยรูปแบบการดูแลผู้สูงอายุจะคล้ายกับเนิร์สเซอรี่ดูแลเด็ก ซึ่งศูนย์บริการสาธารณสุข กทม.ให้การช่วยเหลือในเรื่องของอุปกรณ์ในการดูแลคนชรา
ทั้งนี้เนื่องจากสภาพสังคมปัจจุบันชาว กทม.ส่วนใหญ่ต่างก็ต้องออกไปทำงานนอกบ้านในช่วงเวลากลางวัน ทำให้ไม่มีเวลาดูแลพ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย ซึ่งเป็นผู้สูงอายุในบ้าน โดย กทม.จะเร่งดำเนินการจัดฝึกอบรมบุคลากรจิตอาสาในการดูแลผู้สูงอายุอย่างต่อเนื่องเพื่อให้การดูแลกลุ่มผู้สูงอายุในเมืองกรุงให้เป็นไปอย่างยั่งยืนตลอดไปด้วย
ที่มา : หนังสือพิมพ์คมชัดลึก