อบต.เจดีย์ชัย สานพลังชุมชน ขับเคลื่อนสุขภาวะเด็กปฐมวัย
ที่มา : ข่าวสด
ภาพโดย สสส.
การพัฒนาและเสริมสร้างความรู้ให้แก่เด็กปฐมวัย ถือเป็นจุดเริ่มต้นในการเติมข้อมูลและให้การศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการที่จะให้พวกเขาก้าวต่อไปเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพในอนาคต หากแต่กระบวนการดังกล่าวต้องอาศัยการเชื่อมประสานของหลายภาคส่วนที่รับผิดชอบ
องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เป็นหนึ่งในระบบบริหารที่ใกล้ชิดชุมชนมากที่สุด เปรียบเสมือนตัวกลางในการสนับสนุนและตัวช่วยในการขับเคลื่อนประเด็นสุขภาวะของพื้นที่ที่รับผิดชอบในทุกมิติ หนึ่งในนั้นคือมิติของการศึกษาในเด็กปฐมวัย ทำอย่างไรที่จะช่วยเติมเต็มให้เด็กในวัยนี้มีคุณภาพชีวิตที่ดีไปพร้อมกับการเติมเต็มความรู้
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงได้สนับสนุนส่งเสริม อปท. ในการถอดบทเรียน พัฒนาองค์ความรู้เพื่อเป็นต้นแบบ ให้แก่ อปท. อื่น ๆ เช่นเดียวกับตำบลเจดีย์ชัยอำเภอปัว จังหวัดน่าน ที่ประกอบไปด้วย 9 หมู่บ้าน มีประชากรกว่า 7,000 คน กลไกสำคัญที่ทำให้ตำบลนี้น่าอยู่คือ ความร่วมมือของคนในตำบลหรือที่เรียกว่าเป็นกลไกหลัก ทั้งราชการและภาคประชาชน หากตำบลใดสามารถเชื่อมร้อยการทำงานของกลไกหลักนี้ให้ทำงานร่วมกันจะสามารถขับเคลื่อนประเด็นปัญหาต่างๆ และสร้างความเข้มแข็งภายในชุมชนได้
นายสมาน วังแสง นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเจดีย์ชัย กล่าวว่า สิ่งที่ได้ทำและสร้างมาตลอดคือ การให้ความสำคัญกับ 4 ภาคีหลัก ได้แก่ ท้องที่ (ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน) ท้องถิ่น (องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น) ราชการ (หน่วยงานต่างๆ ที่ทำงานอยู่ในตำบล เช่น รพสต. ) และภาคประชาชน (เช่น อสม. สภาเด็กฯ วัด) อันดับแรกชุมชนต้องให้ความสำคัญกับโรงเรียนก่อน โดยให้โรงเรียน ชุมชน และคุณครู เป็นหนึ่งในภาคีหลัก เพราะฉะนั้นบทบาทของชุมชน ในการช่วยเหลือโรงเรียน และบทบาทของโรงเรียน ที่ได้ใช้ศักยภาพของตนเองทำงานร่วมกับชุมชนถือเป็นการทำงานร่วมกัน
นายสมาน เล่าต่อว่า "ในการพัฒนาเด็กปฐมวัย สุขภาวะเป็นเรื่องของทั้งตำบล ไม่ใช่แค่เรื่องของโรงเรียนเพียงอย่างเดียว สังคมทั้งระบบจะต้องรับผิดชอบเด็ก เพราะกลุ่มเป้าหมายเหล่านี้ไม่ใช่เป้าหมายเฉพาะของโรงเรียน แต่ต้องเป็นเป้าหมายของชุมชนด้วย ทรัพยากรที่มีอยู่จึงต้องใช้ร่วมกัน เช่น ศูนย์พัฒนาครอบครัว รพสต. อบต. ต้องมาช่วยกันแก้ปัญหา แม้ว่าทางโรงเรียนจะรับผิดชอบในเรื่องของการอ่านออกเขียนได้ แต่เรื่องของภาวะทางโภชนาการ น้ำหนักก่อนเกณฑ์ หรือการเรียนรู้ เป็นสิ่งที่ รพสต. ต้องร่วมกับ อบต. รับผิดชอบ ส่วนเรื่องความรุนแรงในครอบครัวผู้รับผิดชอบคือ ศูนย์ครอบครัว เป็นต้น"
ปัญหาสำคัญที่เป็นจุดเริ่มต้นในการร่วมพัฒนาเด็กในพื้นที่ตำบลเจดีย์ชัย คือ ทุกฝ่ายทำงานบนฐานข้อมูลที่ตนเองมี ไม่มีการแบ่งปันข้อมูลหรือทรัพยากรของตนเอง ทำให้การทำงานไม่ครอบคลุมรอบด้าน จึงต้องจัดทำระบบการจัดข้อมูลในเชิงประโยชน์ร่วมกันทั้งตำบล ซึ่ง อปท. จะเป็นศูนย์กลางของข้อมูลนี้และทุกฝ่ายสามารถสืบค้นได้
ในขณะที่ด้านของครูผู้สอน มีการสนับสนุนอย่างเต็มที่ในการพัฒนาศักยภาพผ่านการอบรมหลักสูตรต่าง ๆ รวมถึงการเปลี่ยนบทบาทมาเป็น "โค้ช" โดยเปลี่ยนจากครูเป็นผู้สอนมาเป็นผู้นำ เป็นผู้ควบคุมการเล่นและพัฒนาทักษะด้านการเข้าสังคม มากกว่าการสอนแบบท่องจำ นอกจากนี้ อปท.ยังเข้าไปสอนเรื่องการเป็นบุคคลตัวอย่าง การเป็นผู้นำ การทำหลักสูตรร่วมกับชุมชน สร้างนวัตกรรม ไม่ว่าจะเป็นสื่อ หรือแม้กระทั่งนวัตกรรมเชิงระบบอีกด้วย
"กระบวนการดังกล่าว เราได้ทำในชุมชนแล้ว และพบว่า เด็กร่าเริงมีความสุขกับการเรียนโดยไม่ได้หวังเรื่องของคะแนน ซึ่งในเกณฑ์การวัดผลเรามองในเรื่องของสุขภาพ ดัชนีมวลกาย การเข้าสังคม และความสุขของเด็กเป็นหลัก เพื่อให้เขามีพัฒนาการที่ดี นอกจากนี้ การปรับแนวคิดจากครูเป็นโค้ช และการทำงานที่ไม่มุ่งเน้นการผลิตผลงานวิชาการก็ทำให้ครูมีความสุขมากขึ้น" นายสมาน กล่าว
การติดตามการทำงานด้วยแบบสอบถาม การวัดผล การเก็บสถิติปลายปี และการจัดทำโครงการเฉพาะกรณีเป็นการชี้วัดปัญหาเหล่านี้ ดังนั้น ทุกการขับเคลื่อนที่เกิดขึ้นภายในชุมชนจึงเป็นความรับผิดชอบร่วมกันของสังคม เมื่อเกิดปัญหา ทุกหน่วยงานจะถือเป็นภาระหน้าที่ การประสานพลังจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยเปลี่ยนแปลงและขับเคลื่อนให้เกิดเรื่องราวดี ๆ ในชุมชนนั่นเอง