อบจ.โคราชเดินหน้าป้องกันโรคระบาด
ที่มา: เดลินิวส์
แฟ้มภาพ
องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) นครราชสีมา ได้รับข้อมูลจากสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา กรมควบคุมโรค รายงานสถานการณ์ผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่ จำนวน 24,276 ราย ผู้ป่วยเสียชีวิต 39 ราย และมีการรายงานผู้ป่วย โรคอุจจาระร่วง ประมาณปีละ 100,000 คน คิดเป็นอัตราป่วยต่อประชากรแสนคน 1,497.34 คน
โดยพบว่าจำนวนผู้ป่วยสูงขึ้นในช่วงปลายปี 2560 จนถึงต้นปี 2561 จากกรณีดังกล่าว จังหวัดนครราชสีมา ได้ขอความร่วมมือในการเตรียมความพร้อมเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ อีกทั้ง กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ได้มีหนังสือขอความร่วมมือหน่วยงานในสังกัดเร่งรัดดำเนินการเฝ้าระวังป้องกัน และดำเนินการตามแนวทางการป้องกันควบคุมโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลันจากเชื้อไวรัสอย่างเข้มข้นใน ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก โรงเรียน สถานศึกษา และชุมชนด้วย
ร้อยตรีหญิง ระนองรักษ์ สุวรรณฉวี นายก อบจ.นครราชสีมา เปิดเผยว่า เพื่อเป็นการป้องกัน และแก้ไขปัญหาโรคระบาดในพื้นที่ อบจ.นครราชสีมา จึงได้จัดอบรมเชิงปฏิบัติการป้องกันและควบคุมโรคติดต่อประจำถิ่น ณ โกลเด้นท์แลนด์ รีสอร์ท อ.เมือง จ.นครราชสีมา โดยโครงการดังกล่าว ได้ตระหนักถึงปัญหาและการป้องกัน ควบคุมการระบาดของโรคติดต่อ โรคระบาด โรคไข้หวัดใหญ่ โรคอุจจาระร่วง รวมทั้งโรคไข้เลือดออก จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีการเพิ่มทักษะและฟื้นฟูความรู้ในการเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรค และเพิ่มองค์ความรู้ เพิ่มศักยภาพของผู้เข้ารับการอบรมให้เกิดความตระหนักและเฝ้าระวังตนเองได้เป็นอย่างดี
นายก อบจ.นครราชสีมา เปิดเผยอีกว่า สำหรับการอบรมดังกล่าวมีบุคลากร และนักเรียน จากสถานศึกษาในสังกัด อบจ.นครราชสีมา ทั้ง 58 แห่ง เข้าร่วมอบรมเพื่อให้ความรู้ด้านการป้องกันและควบคุมโรคติดต่อ แบ่งการอบรม จำนวน 8 รุ่น ซึ่ง ผู้เข้ารับการอบรมเป็นครูรับผิดชอบงานอนามัยโรงเรียน ๆ ละ 1 คน และตัวแทนนักเรียนในระดับ ม.ปลาย โรงเรียนละ 20 คน รวม 1,160 คน
ร้อยตรีหญิง ระนองรักษ์ เปิดเผยเพิ่มเติมว่า โดยได้รับความอนุเคราะห์ทีมวิทยากรจากสำนักงานสาธารณ สุข จ.นครราชสีมา, ศูนย์อนามัยที่ 5 นครราชสีมา และสำนักงานป้องกันและควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา ให้ความรู้ทั้งด้านวิชา การและกิจกรรมเข้าฐานที่จะเน้นการ ฝึกปฏิบัติให้เด็กนักเรียนรู้ทัน เข้าใจ เกี่ยวกับโรคติดต่อและโรคระบาด อาทิ โรคอุจจาระร่วง โรคไข้หวัดใหญ่ เป็นต้น ซึ่งภายหลังเสร็จสิ้นการอบรม นักเรียนจะได้นำความรู้ที่ได้รับ ขยายผลไปยังเพื่อนนักเรียนและชุมชน ในการป้องกันโรคระบาดในพื้นที่ต่อไป
การระบาดของโรค หากไม่มีการป้องกัน จะเกิดการแพร่กระจายไปทั่ว และอาจยากที่จะแก้ปัญหา ดังนั้นการป้องกัน พร้อมเฝ้าระวังไม่ให้เกิดจึงเป็นเรื่องดีที่สุด โดยเฉพาะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งอยู่ใกล้ชิดประชาชนที่สุด จึงเป็นหน่วยงานที่ต้องเข้าไปดูแลเพื่อไม่ให้เกิดโรคขึ้นได้.