“อนาคตของชาติ” กับ ภัยที่รุมเร้า
ปัญหาที่ผู้ใหญ่ต้องเร่งแก้ไข
คงต้องยอมรับกันว่า “เยาวชน” คือ “อนาคตของชาติ” แต่ปัจจุบัน “อนาคตของชาติ” กำลังถูก “รุมเร้า” ด้วยปัญหาต่างๆ มากมาย จากความไร้เดียงสา รู้เท่าไม่ถึงการณ์หรือจะด้วยปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ถึงแม้หลายหน่วยงานจะพยายามแก้ปัญหาทั้งหมด เพื่อหวังให้เยาวชนหลุดพ้นจากภาวะเสี่ยงต่างๆ เติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่ดีในอนาคต แต่ดูเหมือนปัญหากลับยิ่งทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ซึ่งเห็นได้จากหน้าหนังสือพิมพ์ในทุกวันนี้…
ซึ่งทุกปัญหาที่เกิดขึ้นล้วนแล้วแต่ต้องเร่งแก้แทบทั้งสิ้น โดยปัญหาอันดับแรกที่พบเห็นคือ “ปัญหาเด็กติดเกม” อย่าว่าแต่เด็กเลย ผู้ใหญ่อย่างเราๆ ยังติดกันงอมแงม จากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ระหว่างปี 2550-2551 ของเด็กและเยาวชนอายุระหว่าง 9-15 ปี จำนวน 2,452 คน ใน 5 จังหวัด คือ กรุงเทพฯ ราชบุรี สุรินทร์ และสุราษฎร์ธานี พบว่าร้อยละ 13.3 กลุ่มที่กำลังติดเกมมีอายุเฉลี่ย 11 ปี และมีภาวะติดเกมมาก โดยที่นิยมเล่นมากที่สุด คือ เกมบู๊ล้างผลาญ เกมเกี่ยวกับเพศ นุ่งน้อยห่มน้อย โดยเฉพาะเกม SF หรือ Special force ยังเป็นที่นิยม
โดย ผศ.น.พ.ชาญวิทย์ พรนภดล คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้กล่าวถึงปัจจัยที่มีผลต่อการติดเกมของเยาวชนว่า ประกอบด้วยตัวเด็กเอง ครอบครัวการเลี้ยงดูของผู้ปกครอง ด้านสิ่งแวดล้อมและเพื่อน โดยเด็กผู้ชายมีโอกาสเสี่ยงติดเกมสูงกว่าเด็กผู้หญิง 1.6 เท่า ความเครียด และการขาดทักษะในการจัดการกับความเครียดอย่างเหมาะสม เป็นสาเหตุสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้เด็กติดเกม นอกจากนี้ยังพบว่าบางรายเล่นเกมเพื่อคลายเครียดสูงเป็น 6 เท่าของเด็กที่ไม่ติดเกม และที่สำคัญเด็กที่ติดเกมมักเบื่อการเรียนเพราะรู้สึกไม่มีความสุขในชีวิต
ส่วนลักษณะนิสัยของเด็กที่สัมพันธ์กับการติดเกม ได้แก่ สมาธิสั้น ดื้อ ชอบเถียง ชอบต่อรอง เครียดง่าย ซน อยู่ไม่นิ่ง ชอบความตื่นเต้นท้าทาย และชอบเอาชนะ นอกจากนี้ยังพบว่าเด็กที่เล่นเกมออนไลน์มีความเสี่ยงต่อการติดเกมมากกว่าเด็กที่ไม่ได้เล่นเกมออนไลน์เกือบ 4 เท่า
นอกจากนี้ “ปัญหาเด็กติดเกม” อาจต่อยอดไปสู่ปัญหาอื่นๆ ได้อีก จากข้อมูลของศูนย์เฝ้าระวังภัยเทคโนโลยี ระบุว่า ได้รับแจ้งเด็กหายเนื่องจากติดเกมทั้งสิ้น 8 รายตลอดปี 52 ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นเด็กชายช่วงอายุระหว่าง 11-15 ปี บางรายมีปัญหาติดเกมจนไม่ยอมไปเรียน บางรายมีพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรง และบางรายหายตัวไปกับคนที่รู้จักกันในเกม รวมถึงเด็กที่ติดเกมอย่างหนักจนต้องลักขโมย บางรายยอมขอทานเพื่อนำเงินมาเล่นเกมออนไลน์และตู้เกมหยอดเหรียญ
นอกจากเกมออนไลน์ต่างๆ ในโลกของสังคมไซเบอร์ ยังมีการการแชตและเครือข่ายสังคมฮอตฮิตอย่าง Hi 5, Facebook ยังเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาเด็กหายของสังคมไทยด้วย จากข้อมูลจากศูนย์ฯ ระบุว่า ยอดเด็กหายเพราะการติดแชตทั้งทางอินเทอร์เน็ตและโทรศัพท์ในปี 52 มีทั้งสิ้น 37 ราย สูงสุดเป็นประวัติการณ์ คิดเป็นสัดส่วนเพิ่มขึ้นจากปี 51 ราว 3 เท่าตัว เป็นเด็กหญิง 36 ราย เป็นเด็กชายรายเดียว ทั้งหมดมีช่วงอายุระหว่าง 12–18 ปี
ซึ่งภัยจากการแชตในปี 52 ยังคงเพื่อล่อลวงเด็กหญิงไปขมขื่น ซึ่งแม้ไม่ใช่เรื่องใหม่ในสังคมแต่ก็เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก และในปี 53 มีแนวโน้มสูงขึ้นมากอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากความแพร่หลายของอินเทอร์เน็ตและอุปกรณ์มือถือที่อยู่รอบข้างเด็กไทยไม่ห่างกาย ประกอบกับการดำรงชีวิตที่พ่อแม่ส่วนใหญ่จะทำงานหามรุ่งหามค่ำจนไม่ค่อยมีเวลา ไม่ค่อยได้ทำกิจกรรมร่วมกัน ก็จะยิ่งเป็นปัจจัยสนับสนุนให้เด็กหันไปหาความสุขจากเทคโนโลยีมากขึ้น
ดังนั้น “ทางออก” ของปัญหานี้ ไม่ได้เริ่มจากใครอื่นไกลที่ไหน นั่นคือ “ครอบครัว” โดยเฉพาะผู้เป็นพ่อแม่ ควรมีเวลาให้ลูกมากขึ้น เริ่มด้วยการพูดคุยและรับฟังลูก ไม่ตำหนิรุนแรง ไม่ใช้คำพูดหยาบคาย มีการตกลงกติการ่วมกับระหว่างพ่อแม่ลูก ว่าเล่นเกมได้เวลาใดบ้าง มีรางวัลเมื่อทำได้และลงโทษเมื่อทำไม่ได้ จัดให้มีกิจกรรมสร้างสรรค์ทดแทน เพื่อสนับสนุนให้ลูกได้กล้าแสดงออก และแสดงความสามารถพิเศษ เช่น ดนตรี กีฬา ทำอาหาร หรืองานฝีมือ
มอบหมายงาน หรือกิจกรรมให้รับผิดชอบ เช่น ทำความสะอาดบ้าน ล้างจาน รดน้ำต้นไม้ เป็นต้น ผู้ปกครองควรสังเกตพฤติกรรมของลูก
ที่สำคัญ!! พ่อแม่ไม่จำเป็นต้องเล่นเกมเป็น ขอเพียงมีเวลาอยู่ใกล้ลูก ดูเขาเล่นเกมและศึกษาหา ข้อมูลเนื้อหาเกมแต่ละเกมเป็นอย่างไร รู้จักเกมยอดฮิตเพื่อจะได้พูดคุยกับลูกได้ และสอนลูกให้มีวินัย รู้จักแบ่งเวลาในการเล่นเกมตั้งแต่แรก จะทำให้ลูกมีความรับผิดชอบมากขึ้น
และสิ่งที่ผู้ปกครองไม่ควรทำเลยแม้แต่น้อย…อย่าใช้การพร่ำบ่น เพราะการบ่นมีแต่สร้างความรำคาญให้กับลูก แต่ไม่ได้แก้ปัญหา อย่าใช้วิธีห้ามปราม เพราะลูกจะต่อต้าน และนำไปสู่การโต้เถียงขัดแย้งกัน อย่าตั้งกฎเกณฑ์บังคับโดยพ่อแม่คิดเพียงฝ่ายเดียว และไม่ให้ลูกมีส่วนรวมทั้งๆ ที่เขาต้องเป็นผู้ปฏิบัติ อย่าทำเป็นเรื่องใหญ่ มองโลกในแง่ดีไว้ก่อน เกมก็เหมือนเหรียญสองด้าน มีทั้งด้านดี และด้านลบ ถ้ามองว่าเป็นปัญหาใหญ่ก็จะวิตกกังวล เร่งเร้าและเร่งร้อนที่จะแก้ปัญหา อาจทำให้หงุดหงิด ขาดความพิถีพิถันในการใช้สติพิจารณา แต่ถ้ามองว่าเป็นเรื่องเล็ก ก็จะใจเย็นลงการปรับพฤติกรรมเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา ไม่ใช่จะแก้ไขได้อย่างรวดเร็ว…
ปัญหาอันดับต่อมา คือ “การมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร” เกี่ยวกับเรื่องนี้ ศ.นพ.สุรศักดิ์ ฐานีพานิชสกุล คณบดีวิทยาลัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะผู้แทนสภาวิชาการคุมกำเนิดแห่งภาคพื้นเอเชียแปซิฟิกประจำประเทศไทย บอกว่า จากผลการสำรวจล่าสุดเกี่ยวกับทัศนคติการมีเพศสัมพันธ์และการคุมกำเนิดในวัยรุ่นหญิงและชายใน 15 ประเทศทุกทวีปทั่วโลก พบว่า กลุ่มตัวอย่างเฉลี่ยร้อยละ 31 ไม่มีการปรึกษาเรื่องการคุมกำเนิดก่อนมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรก โดยเฉพาะประเทศไทยมีอัตราสูงถึงร้อยละ 41 และร้อยละ 24 มีเพศสัมพันธ์กับคู่นอนใหม่โดยไม่ป้องกันและคุมกำเนิดเลย
ซึ่งสาเหตุหลักส่วนใหญ่มาจากการการไม่เตรียมอุปกรณ์ ถึงร้อยละ 31 รองลงมาคือ “ลืม” ร้อยละ 12 ตนเองและคู่นอนไม่ชอบป้องกัน ร้อยละ 12 และเมา ร้อยละ 11 ซึ่งถือเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงอย่างมาก
ส่วนในประเทศไทยบ้านเรา!!! ได้มีการสำรวจความคิดเห็นของวัยรุ่นชายหญิงที่กำลังศึกษาในระดับอุดมศึกษา ถึงสาเหตุหลักที่ทำให้ยอมมีเพศสัมพันธ์ในขณะอยู่ในวัยเรียนนั้นมาจาก “ความรักและปฏิเสธไม่ได้” ส่วนสถานที่ที่นำไปสู่การมีเพศสัมพันธ์มากที่สุด ได้แก่ หอพักหรืออพาร์ทเมนท์ ร้อยละ 44 โรงแรมหรือที่พักหลังจัดงานปาร์ตี้และเที่ยวกลางคืน ร้อยละ 28 และสถานที่ท่องเที่ยวต่างจังหวัด ร้อยละ 15
และที่น่าตกใจ เมื่อร้อยละ 36 – 43 ของวัยรุ่นหญิงชายมีเพศสัมพันธ์แล้ว แถมอายุการมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกมีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ ซึ่งพบมารดาวัยรุ่นอายุต่ำกว่า 20 ปี ถึงร้อยละ 19.2 ของการคลอดทั้งหมดหรือประมาณ 150,000 คนต่อปี ถือเป็นตัวเลขที่เป็นปัญหามากทีเดียว…
จากสถิติดังกล่าวนับเป็นปัญหาที่สำคัญและยังคงต้องเร่งแก้ไข โดยอาศัยความร่วมมือจากทั้งภาครัฐ เอกชน โดยเฉพาะสถาบันครอบครัว ต้องคอยสอดส่องดูแลลูกหลาน ให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการป้องกัน เพราะต้นตอของปัญหานี้มาจาก การขาดความรู้ความเข้าใจในเรื่องของการป้องกัน โดยพบว่าร้อยละ 36 ใช้วิธีหลั่งนอก ซึ่งจากผลการวิจัยพบว่า วิธีนี้มีประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดเพียงแค่ 70% ทำให้ความเสี่ยงในการตั้งครรภ์ ยังอยู่ในระดับที่สูง และที่น่าสนใจคือ วัยรุ่นส่วนใหญ่ มักจะปรึกษาเรื่องการคุมกำเนิดกับคู่นอนและเพื่อนมากที่สุด เพราะอายไม่กล้าปรึกษาพ่อแม่
และอีกเหตุผลสำคัญ…คือ ผู้หญิงมักมีจุดอ่อนที่การไม่กล้าปฏิเสธเพราะกลัวคนรักทิ้งและเมื่อยอมครั้งแรก ครั้งต่อๆ ไปก็ไม่ใช่เรื่องที่ยากเย็นอีกต่อไป ทำให้พลาดและตั้งท้องในที่สุด ดังนั้นนอกจากการเรียนรู้เรื่องการป้องกันแล้ว เยาวชนเองก็ควรเรียนรู้ถึงจิตวิทยาในการปฏิเสธด้วย เพื่อลดปัญหาการตั้งครรภ์โดยไม่พร้อม โดยควรตระหนักถึงการรักนวลสงวนตัวและวิธีการป้องกันตัวเองเมื่ออยู่ในสภาวะการถูกกดดันให้มีเพศสัมพันธ์
ปัญหาอันดับที่ 3 ก็ถือเป็นปัญหาใหญ่ไม่แพ้กัน นั่นคือ “ปัญหาความรุนแรง” ไม่ว่าจะเด็กเล็ก เด็กโต ผู้ใหญ่หรือแม้แต่คนชรา ก็เคยประสบกับปัญหาเช่นนี้ด้วยกันทั้งสิ้น เพราะความรุนแรงที่ว่านี้มันมีด้วยกันหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะความรุนแรงด้วยกาย วาจาหรือจิตใจ จากข้อมูลของสำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ รายงานตัวเลขความรุนแรงต่อเด็กและครอบครัว ตั้งแต่ปี 2548-2551 มีสูงถึงกว่า 1 หมื่นราย
ไม่ว่าจะเป็นการถูกทำร้ายร่างกาย ถูกข่มขืน ถูกอนาจาร ถูกทอดทิ้ง กักขัง หน่วงเหนี่ยว พรากผู้เยาว์ พยายามฆ่าและฆาตกรรม เป็นต้น โดยมาจากคนใกล้ชิด เช่น สามี บิดา มารดา บิดาเลี้ยงมารดาเลี้ยง ญาติ เพื่อน คนรู้จัก คนแปลกหน้าและนายจ้าง โดยในช่วง 30 วันที่ผ่านมา มีเหตุการณ์เกิดขึ้นทั้งสิ้น 13 เหตุการณ์
และที่น่าสนใจคือ จังหวัดที่มีการรายงานสถานการณ์ความรุนแรงมากที่สุด คือ กรุงเทพมหานคร โดยประเภทความรุนแรงที่เกิดขึ้นมากที่สุด คือการทำร้ายร่างกาย
นอกจากนี้ ในรั้วโรงเรียน ในความดูแลของครู อาจารย์ ที่ผู้ปกครองหลายคนคิดว่าปลอดภัย ก็ยังคงพบเจอกับความรุนแรงต่อเด็กอยู่ไม่น้อย เช่น การล้อเลียน เหยียดสีผิว การคุกคามทางเพศ รวมไปถึงการแย่งเงินทอง ทรัพย์สิน โดยที่น่าเป็นห่วงคือ เด็กนักเรียนที่ให้ข้อมูลกว่า 41.2% ยังระบุว่า ครูหรือผู้ใหญ่แทบไม่ให้ความช่วยเหลือแม้แต่น้อยเมื่อถูกกระทำความรุนแรง ยังไม่หมดเพียงเท่านั้น!!! มาตรการ “การลงโทษ” ของครูในยุคปัจจุบัน ก็กลับรุนแรงและผิดวิถีของการเป็นแม่พิมพ์ของชาติ
จากการสำรวจโครงการส่งเสริมสนับสนุนและคุ้มครองสุขภาพและมนุษยชนด้านเด็ก เยาวชนและครอบครัว ยังระบุถึงวิธีการลงโทษที่สร้างความรุนแรงต่อเด็กด้วยวิธีหลากหลาย ตั้งแต่การใช้มือ ผ้า สิ่งของ อุดปาก/จมูกของนักเรียน, ใช้ของร้อนจี้ ลวก อวัยวะต่างๆ ของนักเรียน, ใช้เท้าเตะ ถีบ ใช้ของไม่มีคมหรือกำปั้นทุบ ตีซ้ำหลายๆ ครั้ง, ขู่ให้กลัวด้วยมีดหรือปืน ขังนักเรียนไว้ในห้องมืดๆ ให้กินยาบางอย่างหรือเครื่องดื่มผสมแอลกอฮอล์, เอาพริกหรือสิ่งที่มีรสเผ็ด ขม มากๆ ใส่ปากเด็ก, บังคับให้อยู่ในท่าที่ไม่สบายหรือเสียศักดิ์ศรี, ตบหน้า ใช้เท้าเตะถีบ หยิก ดึงผม หรือให้ออกกำลังกายมากเกินควร เช่น วิดพื้น วิ่งรอบสนาม หรือใช้สิ่งของที่ร้อนนาบตามตัว
และที่สำคัญ!! ยังอีกพบว่า “ครู” ยังได้กระทำความรุนแรงทางจิตใจ ทั้งวิธีการดุด่า เยาะเย้ย ถากถาง ประจาน รวมถึงการบังคับ ข่มขู่ ให้มีเพศสัมพันธ์ ซึ่งถือเป็นเรื่องร้ายแรง ซึ่งสถานที่ที่มักพบว่าเกิดความรุนแรงมากที่สุดคือ ห้องเรียนเวลาครูไม่อยู่ รองลงมาทางเดินหน้าห้องเรียนหรือบันได สนามโรงเรียน โรงอาหาร ในห้องเรียนต่อหน้าครู ตามลำดับ
เมื่อปัญหาเกิดขึ้น “ครอบครัว” จึงถือเป็นสถาบันแรกที่สามารถแก้ไขเรื่องราวต่างๆ ได้ดีที่สุด เริ่มจากพ่อแม่เองที่จำเป็นต้องเรียนรู้ เข้าใจความต้องการของลูกในแต่ละช่วงวัย รับรู้ถึงอารมณ์ และความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับลูก ให้กำลังใจกับลูกเมื่อลูกทำผิด เพราะเมื่อเกิดปัญหาอะไร เช่นที่โรงเรียน ลูกจะได้กล้าพูด บอกเล่า อันนำไปสู่ทางออกของปัญหา รวมถึงพ่อแม่จำเป็นต้องแสดงออกถึงความรัก ความอบอุ่น และให้เวลาในการอบรมเลี้ยงดู เพื่อให้ลูกไม่รู้สึกต้องพึ่งพาสิ่งเร้าภายนอก ไม่ลงโทษ หรือใช้วิธีที่รุนแรงแบบไร้เหตุผล ซึ่งอาจใช้วิธีการพูดคุย แลกเปลี่ยน ตั้งกติการ่วมกันกับลูก…ซึ่งนั้นจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดได้
ปัญหาต่อมา “ปัญหาการสูบบุหรี่ของเด็กและเยาวชน” ซึ่งถือเป็นปัญหาระดับประเทศ ถึงแม้ว่าจะมีกฎหมายต่างๆ ออกมาคุมเข้มในเรื่องบุหรี่แต่ในความเป็นจริงกลับปรากฏว่า จำนวนคนสูบบุหรี่ ที่เป็นเด็กและเยาวชน กลับยังคงมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น จากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่ามีเยาวชนสูงถึง 1,605,211 คนที่สูบบุหรี่ ยิ่งไปกว่านั้นเมื่อมองดูอายุของผู้ที่เริ่มสูบกลับยิ่งน้อยลง เพียง 11 ปีเท่านั้น ซึ่งมีจำนวนมากถึง 7,176 คน
โดยศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ เปิดเผยว่า สถิติการสูบบุหรี่ของวัยรุ่นปัจจุบันจะเริ่มที่อายุ 11-15 ปี เยาวชนที่สูบบุหรี่ร้อยละ 38.4 เริ่มสูบบุหรี่เพราะความอยากลอง ซึ่งเป็นธรรมชาติของเยาวชนและวัยรุ่น ถึงแม้จะทราบว่าเป็นสิ่งที่ไม่ดีต่อสุขภาพก็ตาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กที่ไม่ได้อยู่กับผู้ปกครอง ทำให้ปัจจุบันประเทศไทยมีคนติดบุหรี่สูงหลายล้านคน และเยาวชนที่สูบบุหรี่ร้อยละ 35.9 เริ่มสูบบุหรี่เพราะเพื่อนชวน บางคนมีเจตคติที่ว่า ถ้าไม่สูบบุหรี่จะเข้ากับเพื่อนไม่ได้ เพื่อนจะไม่ยอมรับเข้ากลุ่ม และหลายคนไม่กล้าเลิกสูบบุหรี่ เพราะกลัวเพื่อนจะล้อเลียนและไม่ให้เข้ากลุ่ม ซึ่งเป็นค่านิยมแบบผิดๆ…
ซ้ำร้ายไปกว่านั้น…เพราะการสูบบุหรี่นอกจากจะทำลายสุขภาพของเด็กและเยาวชนแล้ว ยังเป็นต้นตอของการกระทำผิดเรื่องอื่นๆ อีก โดยจากข้อมูลของมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ พบว่าเมื่อเยาวชนสูบบุหรี่ จะเสี่ยงต่อการทำผิดในเรื่อง ดื่มสุราสูงถึง 88% เที่ยวกลางคืนอีก 68% มีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควรถึง 67% เล่นการพนันถึง 40% และใช้ยาเสพติดสูงถึง 17 % ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับเด็กและเยาวชนที่ต้องเร่งแก้ไขทั้งสิ้น
การป้องไม่ให้ลูกติดบุหรี่ไม่ใช่เรื่องยาก โดยพ่อแม่ต้องเป็นแบบอย่างที่ดีด้วยการไม่สูบ พยายามให้ลูกอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ปราศจากบุหรี่ หาสิ่งอื่นๆ ทำที่ให้ลูกรู้สึกว่าตัวเองมีค่าและมีสิ่งที่ภาคภูมิใจในตนเองได้ พยายามให้เวลาแก่ลูกในการพูดคุยเรื่องต่างๆ อยู่เสมอเพื่อให้เขาได้ระบายความเครียด พยายามชี้ให้เขาเห็นถึงโทษร้ายของบุหรี่ สอนให้รู้จักเลือกที่จะคบเพื่อนก็จะช่วยลดความเสี่ยงที่ลูกจะติดบุหรี่ได้…
และที่ตามมาติดๆ ก็คือ “ปัญหาการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์” ปกติก็สูงอยู่แล้ว ยิ่งปัจจุบันมีการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ เพิ่มสีสันและรสชาติให้น่าลิ้มลอง อย่าง “เหล้าปั่น” ทำให้ยอดการดื่มเพิ่มสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะผู้หญิง หันมาดื่มมากขึ้น ล่าสุดพบเด็กอายุ 7 ขวบเริ่มดื่มเหล้ากันแล้ว จากการสำรวจของเครือข่ายเยาวชนสร้างสรรค์รู้ทันแอลกอฮอล์ในพื้นที่รอบมหาวิทยาลัย 15 แห่งใน กทม. พบร้านขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เฉลี่ย 57 ร้านต่อ ตร.กม. เป็นร้านเหล้าปั่นเฉลี่ย 5-6 ร้าน ขณะที่เยาวชนอายุ 15-24 ปี ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้น 21.9% จากปีที่ผ่านมา ขณะที่เยาวชนที่ดื่มมากที่สุดคือ ผู้ที่อยู่ในช่วง ม.5 และ ปวช.2 ซึ่งเยาวชนชาย 40.4% ยอมรับว่าดื่มเหล้าจนเมาทุก 30 วัน ซึ่งถือว่าสถานการณ์การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของเยาวชนไทยอยู่ในภาวะวิกฤติแล้ว
หากจะกล่าวถึงการป้องกันไม่ให้มีจำนวนนักดื่มหน้าใหม่เพิ่มขึ้น คงต้องเริ่มจากครอบครัวโดยผู้ปกครองไม่ควรดื่มเหล้าเป็นตัวอย่างให้ลูกเห็น เพราะเด็กจะรู้สึกว่าการดื่มเหล้าเป็นเรื่องธรรมดาและเลียนแบบพฤติกรรม ขณะเดียวกันผู้ปกครองไม่ควรให้เด็กลิ้มลองอาหารที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ เนื่องจากขณะนี้มีขนม เช่น ช็อกโกแลตที่มีส่วนผสมของเหล้าจะทำให้เด็กรู้สึกคุ้นเคยกับรสชาติของสุรา และนำไปสู่การดื่มเหล้า ดังนั้นผู้ปกครองจึงควรให้ความรู้เกี่ยวกับโทษของสุรา ตั้งแต่เด็กเพื่อให้เขารู้เท่าทันปัญหาที่จะเกิดขึ้น
ส่วนครอบครัวที่มีลูกติดสุราอยู่แล้ว ควรให้กำลังใจเด็กในการเลิกเหล้า ขณะเดียวกันควรให้เวลาในการดูแลอย่างใกล้ชิด เนื่องจาก ระยะแรกของการเลิกจะรู้สึกหงุดหงิด ดังนั้นผู้ปกครองจึงควรพาเขาไปทำกิจกรรมอื่นๆ เพื่อสร้างความเพลิดเพลิน…
นอกจากนี้ ปัญหาของเยาวชนที่พบในปี 52 ที่ผ่านมายังคงมีอีกมากไม่ว่าจะเป็น “การติดโทรทัศน์” ที่อาจส่งผลให้เด็กเกิดการพัฒนาที่ล้าช้า แถมยังพบความรุนแรงในละครโทรทัศน์อีกด้วย ซึ่งอาจทำให้เด็กเกิดพฤติกรรมลอกเลียนแบบและกลายเป็นเด็กก้าวร้าวในที่สุด นอกจากนี้ยังรวมไปถึง “ปัญหาเด็กอ้วน” ซึ่งขณะนี้เด็กไทย 1 ใน 10 คน ตั้งแต่วัย 4-5 ขวบ จนถึงช่วงวัยรุ่น ส่วนใหญ่มีปัญหาไขมันในเลือดสูงกว่าเกณฑ์ปกติทั่วไป ความดันสูง น้ำตาลสูง โดยเฉพาะในช่วง 1-7 ขวบ ซึ่งไม่ใช่เฉพาะเด็กไทยเท่านั้น แต่เป็นปัญหาไปทั่วโลก องค์การอนามัยโลกเคยออกมาแสดงความห่วงใยในเรื่องนี้ ที่ประชากรเด็กในโลกอุตสาหกรรมบริโภคขนมไม่มีประโยชน์เป็นอาหารขยะมากเกินไป ขาดการออกกำลังกายที่สมวัย…
ทุกปัญหาย่อมมีทางออกเสมอ…เมื่อหลายหน่วยงานต่างช่วยกันหาทางออกก็ถือเป็นเรื่องที่ดี แต่สิ่งที่จะเป็น “กุญแจ” สำคัญในการแก้ไขปัญหาของเยาวชนขั้นแรก คือ “ครอบครัว” เมื่อคนในครอบครัวช่วยกันสอดส่องดูแลซึ่งกันและกัน รู้จักเข้าหากัน พูดคุยกันในทุกๆ เรื่อง ร่วมกันแก้ปัญหา รักใคร่กลมเกลียวแล้วล่ะก็…อย่าว่าแต่ปัญหาของเด็กเลย ปัญหาของผู้ใหญ่ระดับชาติก็สามารถแก้ไขได้…
เรื่องโดย: ณัฏฐ์ ตุ้มภู่ Team content www.thaihealth.or.th
Update:06-01-53
อัพเดทเนื้อหาโดย: ณัฏฐ์ ตุ้มภู่