‘องค์กรการเงินชุมชน’ ปลดแอกหนี้ให้ชาวบ้าน

        หลายท่านอาจสงสัยว่า องค์กรการเงิน สถาบันการเงินชุมชน หรือแม้กระทั่งสวัสดิการชุมชน เกี่ยวข้องอะไรกับพระ และเหตุใดพระต้องมายุ่งเกี่ยวกับเรื่องการเงิน เพราะพระมักจะเสื่อมเสียด้วยเรื่องประเภท ‘2 ส.’ คือ สตรี และสตางค์ ซึ่งที่ผ่านมาปรากฏเป็นข่าวให้เห็นอยู่บ่อยครั้ง


‘องค์กรการเงินชุมชน’ ปลดแอกหนี้ให้ชุมชน thaihealth


        ในช่วงเริ่มแรกอาตมาเองก็ไม่อยากยุ่งเกี่ยวกับเรื่องเงินๆ ทองๆ มากนัก แต่เนื่องจากเห็นชาวบ้านประสบปัญหาหนี้สิน บ้างก็ถูกเก็บดอกเบี้ยร้อยละ 5 ร้อยละ 10 เดือดร้อนกันมาก จึงคิดขึ้นว่าทำอย่างไรจึงจะช่วยชาวบ้านได้


       จากการศึกษาทำให้พบว่า ปัญหาใหญ่ของชาวบ้านคือการจัดการเรื่องเงิน ส่วนมากมักเป็นลูกหนี้ธนาคาร ซึ่งระบบธนาคารทั่วไปนั้นถือได้ว่าเป็นธุรกิจการค้าเงิน โดยธนาคารจะรับซื้อเงินจากชาวบ้านร้อยละ 1 บาท แต่เวลาเราขอกู้กลับถูกคิดดอกเบี้ยร้อยละ 10-15 บาทต่อปี ทำให้ชาวบ้านเสียเปรียบอย่างมาก


       เมื่อคิดได้ดังนี้แล้วอาตมาจึงชักชวนชาวบ้านให้หันมาออมเงินร่วมกัน เดือนละ 10 บาท 100 บาท หากใครเดือดร้อนก็สามารถหยิบยืมไปใช้ได้ ถือว่าเป็นการทำบุญ ช่วงแรกชาวบ้านก็ไม่เข้าใจนักและกังวลว่าจะเกิดการโกงกันหรือไม่ ซึ่งต้องใช้เวลาอธิบายให้ทุกฝ่ายเกิดความเข้าใจตรงกัน และใช้หลักธรรมทางศาสนามาช่วยเทศนาว่า ชาวบ้านทุกคนต้องมาช่วยกันสร้าง ‘ทำนบกั้นเงิน’ ให้กับชุมชนของเรา


       จากปี 2539 ที่เริ่มต้นกันมา มีชาวบ้านรวมกลุ่มกันได้กว่า 100 คน มีเงินออม 7,000 บาท จนถึงวันนี้ผ่านไป 19 ปี มีคนเข้าร่วมประมาณกว่า 80,000 คน ครอบคลุมทุกอำเภอ รวมแล้วกว่า 300 หมู่บ้านทั่วทั้งจังหวัดจันทบุรี เกิดเป็นรูปธรรมของการออมเงินอย่างชัดเจน ออมคนละ 100 บาทต่อเดือน รวมกันแล้วปีละประมาณ 100 ล้านบาท และแต่ละปียังมีเงินออมสะสมเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนถึงวันนี้เรามีเงินกองทุนรวมแล้วประมาณ 1,200 ล้านบาท


       ต่อยอดสวัสดิการ ดูแลตั้งแต่เกิดจนตาย


      หลังจากกลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์ จังหวัดจันทบุรี ขยายแนวทางไปสู่พื้นที่ต่างๆ ทั่วจังหวัด และได้มีการชักชวนชาวบ้านในแต่ละชุมชนมาเข้าร่วม โดยใช้วัดเป็นศูนย์กลางในการทำงาน เพราะมีอุปกรณ์พร้อม ทั้งโต๊ะ เก้าอี้ สถานที่ประชุม ทำให้แทบจะไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย และถือเป็นโอกาสดีที่ทุกคนจะได้มาช่วยกันดูแลวัดด้วย จนกระทั่งเกิดเป็นเครือข่ายกว้างขวาง เมื่อมีสมาชิกมากขึ้น เงินจึงงอกเงยมากขึ้นตามไปด้วย ทำให้เกิดข้อกังวลว่า ยิ่งมีเงินสะสมพอกพูนเท่าใด อาจยิ่งเสี่ยงต่อการฉ้อโกงหรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้ต้องมีการอธิบายทำความเข้าใจกับชาวบ้านให้ชัดเจนว่า กำไรที่เกิดจากการบริหารจัดการนี้จะถูกนำมาใช้เป็นเงินสวัสดิการ ช่วยคนเจ็บ คนป่วย คนตาย ในชุมชนของเราเอง


‘องค์กรการเงินชุมชน’ ปลดแอกหนี้ให้ชุมชน thaihealth       ผลจากความร่วมไม้ร่วมมือกันของคนในชุมชน ทำให้เงินสวัสดิการที่จัดให้กับสมาชิกเติบโตมากขึ้นเรื่อยๆ เกิดเป็นระบบเครือข่ายจัดการดูแลซึ่งกันและกัน จากเดิมผู้ป่วยที่นอนพักรักษาในโรงพยาบาลจะได้สวัสดิการคืนละ 100 บาท เพิ่มเป็นคืนละ 300-500 บาท และหากสมาชิกรายใดตายก่อน ถือว่าถึงเส้นชัยก่อน จะได้รับรางวัล 100,000 บาท นอกเหนือจากนี้ยังมีการมอบทุนการศึกษาและสวัสดิการอื่นๆ อีกมาก ฉะนั้น ชาวบ้านจึงเห็นว่าเป็นเรื่องดี มีประโยชน์ เพราะฝากเงินแค่เดือนละ 100 แต่ได้ทั้งกำไร สวัสดิการ และยังสามารถขอกู้เงินได้อีก


      ปัจจุบันนี้ถ้ามีสมาชิกรายใดลาออก ทางกลุ่มจะมอบสิ่งของพิเศษด้วยข้าวสาร 1 กระสอบ ราคาประมาณ 3,000-4,000 บาท แต่ก็สมาชิกส่วนใหญ่ก็ไม่เคยคิดที่จะลาออก เพราะเมื่อเทียบกับเงินสวัสดิการที่ได้รับในระยะยาวแล้วเกิดประโยชน์มากกว่า


       ในเรื่องของระบบการตรวจสอบ ทุกวันนี้เครือข่ายสัจจะสะสมทรัพย์ประกอบไปด้วยกลุ่มย่อยๆ อีกประมาณ 140 กลุ่ม แม้บางกลุ่มอาจจะมีปัญหาเรื่องการจัดการ ปัญหาหนี้เสีย ปัญหาการโกง แต่เราก็อาศัยกระบวนการพัฒนาศักยภาพของคนให้มีความรู้ความสามารถและหาวิธีการป้องกัน รวมถึงมีการสร้างทีมพี่เลี้ยงลงไปช่วยเหลือในแต่ละกลุ่ม ทำให้กลุ่มองค์กรมีความเข้มแข็ง


     ไถ่ถอนที่ดิน


     กิจกรรมต่อยอดจากการออมเงิน หลังจากเริ่มมีเงินสะสมมากขึ้น เราตั้งปณิธานไว้ว่าจะไม่ฝากเงินกับธนาคาร เพราะถือว่าธนาคารคือธุรกิจที่สูบเลือดสูบเนื้อจากชาวบ้าน เราจึงพยายามบริหารจัดการกันเองโดยมีเครือข่ายหยิบยืมกันเองภายในกลุ่ม เรียกว่า ‘ธนาคารจังหวัด กลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์ จังหวัดจันทบุรี’ กลุ่มไหนมีเงินเหลือก็สามารถเอามากได้ เราให้ดอกเบี้ยร้อยละ 6 ต่อปี กลุ่มไหนเงินไม่พอก็มายืมได้ เราคิดแค่ร้อยละ 8 ต่อปี โดยเราจะกันเงินกองกลางไว้ 40-50 ล้าน เพื่อให้แต่ละกลุ่มมาหยิบยืมไปได้


      อีกหนึ่งปัญหาซึ่งเป็นปัญหาของชาวบ้าน คือการขาดแคลนที่ดินทำกิน หลายคนมีหนี้สิน ต้องนำที่ดินไปจำนองให้‘องค์กรการเงินชุมชน’ ปลดแอกหนี้ให้ชุมชน thaihealthกับนายทุน ดอกเบี้ยร้อยละ 5-10 ถ้าถึงคราวจ่ายไม่ไหวก็ถูกยึดบ้าน ยึดที่ดิน สุดท้ายเราจึงคิดหาวิธีช่วยเหลือ โดยเอาเงินกองกลางไปไถ่ถอนที่ดินจากนายทุนให้มาอยู่กับกลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์ คิดดอกเบี้ยเพียงร้อยละ 1 เป็นการช่วยเหลือชาวบ้านไม่ให้ต้องจ่ายค่าดอกเบี้ยสูงๆ และมีโอกาสลืมตาอ้าปากได้ แต่ทางกลุ่มเราก็มีขอบเขตข้อจำกัดอยู่บ้าง โดยจะรับจำนองที่ดินเฉพาะสมาชิกเท่านั้น ที่ดินแปลงไหนที่กำลังจะถูกยึด หรือเจ้าของที่ดินจ่ายไม่ไหว เราก็จะรับจำนองไว้


      ที่ดินทั้งหลายที่เรารับจำนอง นานวันเข้าก็เริ่มมีมากขึ้น เราจึงทำระบบจัดสรรที่ดินขายให้กับสมาชิกที่ต้องการที่ดินทำกินหรือไม่มีบ้านอยู่ จนถึงตอนนี้ใช้เงินลงทุนซื้อที่ดินไปแล้วกว่า 100 ล้าน เราแบ่งออกเป็น 2 ระบบ คือ ซื้อที่ดินเพื่อจัดสรรให้กับสมาชิก และซื้อที่ดินเพื่อเก็งกำไร ส่วนผลกำไรทั้งหมดก็กลับคืนสู่กลุ่ม กลับคืนสู่ชุมชน และนำไปเป็นสวัสดิการให้ชุมชน


     สร้างทำนบกั้นเงิน อุดรูรั่วไหล


      นักเศรษฐศาสตร์ก็ดี นักวิชาการก็ดี มักจะมองว่าเงินเป็นปัญหา พระพุทธเจ้าก็บอกว่าเงินเป็นอสรพิษ ทำอย่างไรเราจึงจะใช้เงินให้เป็น เงินนั้นเป็นที่คนเราสมมุติกันขึ้นมาเองว่าเงินคืออำนาจ สามารถซื้อได้ทุกสิ่งทุกอย่าง เราให้ความสำคัญกับเงินมาก สุดท้ายเงินก็กลับมาทำร้ายเราเอง เกิดเป็นปัญหาต่างๆ มากมาย ไม่ว่าระดับชุมชน อบต. เทศบาล ไปจนถึงระดับประเทศ เงินจึงกลายเป็นตัวสร้างปัญหา ฉะนั้น เราจะทำอย่างไรที่จะบังคับควบคุมให้เงินอยู่ในทิศทางที่เราต้องการได้


     อาตมาเองถือว่าเงินเป็นเพียงเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยให้คนได้มาพบปะพูดคุยกันและทำกิจกรรมอื่นเสริมต่อขึ้นไป เรามี ระบบช่วยเหลือ ดูแล และตรวจสอบกันเองภายในชุมชน โดยเครือข่ายสัจจะสะสมทรัพย์มิได้อิงกับหน่วยงานภาครัฐมากนัก ไม่ว่าจะเป็นธนาคารออมสินก็ดี ธ.ก.ส.ก็ดี แต่เราพยายามยืนให้ได้ด้วยลำแข้งของตัวเอง


     จริงๆ แล้ว การทำกลุ่มออมทรัพย์ก็เปรียบเสมือนการค้าเงิน เราซื้อเงินร้อยละ 1 ขายร้อยละ 10 บาท แต่กำไร 9 บาท ก็กลับคืนสู่เครือข่ายในชุมชนของเราเอง ซึ่งต่างจากการทำธุรกิจของธนาคาร เมื่อธนาคารได้กำไร ก็นำไปเป็นของธนาคารเอง แต่องค์กรการเงินชุมชนเมื่อได้กำไรก็กระจายให้กับทุกคน ไม่รั่วไหลออกนอกหมู่บ้านแม้แต่บาทเดียว


     ถ้าเรายังปล่อยให้ชาวบ้านเป็นหนี้เป็นสินแบบเดิมๆ ทำอย่างไรก็ไม่มีทางรวย เพราะต้องหมดไปกับค่าดอกเบี้ยให้ธนาคารหรือนายทุน สุดท้ายก็จะเสียเอกราชทางการเงิน คนไทยนั้นต่อให้ขยันแค่ไหน แต่ถ้าบริหารจัดการการเงินไม่เป็น ชีวิตก็ไปไม่รอด เราจึงจำเป็นต้องลุกขึ้นมาทำสิ่งนี้ เพราะทางรอดนั้นริบหรี่เหลือเกิน แต่ถ้าจัดการการเงินได้ก็มีทางรอด


     องค์กรการเงินและสวัสดิการชุมชนเป็นของคู่กัน ทำอย่างไรจึงจะสร้างทำนบกั้นเงินให้สูงขึ้นไปเรื่อยๆ ในทุกชุมชน เพื่อให้พอกินพอใช้ภายในชุมชนเอง ไม่เช่นนั้นจะต้องพึ่งพาภายนอกอยู่ตลอดจนขาดความเข้มแข็ง


      หากทุกชุมชนรู้จักการออมเงิน เศรษฐกิจชุมชนก็จะเข้มแข็งได้ สิ่งสำคัญที่ต้องเร่งทำก็คือ ทำอย่างไรให้คนออมได้ จากเดือนละ 10 บาท เป็น 100 บาท แล้วจะเกิดพลังมากขึ้นเรื่อยๆ ฉะนั้นต้องขยายแนวคิดให้เข้มแข็งขึ้นมาในทุกหมู่บ้านชุมชน สังคมไทยจะสามารถปลดแอกได้ เป็นเอกราชทางการเงินได้ ประเทศชาติก็จะมีความมั่นคงได้


 


 


     ที่มาบรรยายพิเศษ โดย พระอาจารย์มนัส ขันติธัมโม  สำนักสงฆ์จันทรารักษ์ (โพธิ์ทอง) ในงานเวทีฟื้นพลังชุมชนท้องถิ่นสู่การอภิวัฒน์ประเทศไทย ปี 5 

Shares:
QR Code :
QR Code