ห้องเรียนธรรมชาติบ้านชะอม

/data/content/26853/cms/e_efglqruw3456.jpg


          30 ปีก่อน ชาวบ้าน ต.ชะอม อ.แก่งคอย จ.สระบุรี มีฐานะค่อนข้างยากจนส่วนใหญ่ยึดอาชีพทำนา ทำไร่ข้าวโพด ปลูกพืชเชิงเดี่ยว กระทั่งปี 2533 มีชัย วีระไวทยะ อดีตนายกสมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน (PDA) เข้ามาจุดประกายให้ทำอาชีพไม้ขุดล้อม ปัจจุบันหมู่บ้านแห่งนี้กลายเป็นโรงงานปลูกต้นไม้สำคัญแห่งหนึ่งของโลก ซึ่งมีตลาดทั้งในประเทศ และต่างประเทศทั่วโลก ขณะเดียวกันมีการรวมกลุ่มกันอย่างเข้มแข็ง  ส่งผลให้ธุรกิจเติบโตอย่างต่อเนื่อง สร้างฐานะมั่นคงให้แก่คนในชุมชนอยู่ดีกินดี


          ล่าสุด รศ.ทองทิพภา วิริยะพันธุ์ ประธาน CSR พอเพียง คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ผู้ทำการศึกษาวิจัยรูปแบบการดำเนินธุรกิจไม้ขุดล้อมของชาว ต.ชะอม ภายใต้การสนับสนุนทุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) นำนักศึกษา วิทยาลัยผู้ประกอบการ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และนักศึกษาจากคณะนิเทศศาสตร์และนวัตกรรมการจัดการ ภาควิชานิเทศศาสตร์เพื่อการพัฒนา สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เรียนรู้ประสบการณ์จริงจากปราชญ์ชาวบ้าน หรือเจ้าของกิจการที่มีความรู้แค่ ป.4 แต่สามารถสร้างรายได้เดือนละหลายล้านบาท


          ซึ่งผลการวิจัยพบว่า ปัจจัยหนึ่งที่นำไปสู่ความสำเร็จก็คือ จะยึดหลักความซื่อสัตย์ ตรงต่อเวลา รักษาคำพูด มีการรวมกลุ่มกันอย่างเข้มแข็งของคนภายในชุมชน และรักที่จะเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ที่สำคัญชาวบ้านที่นี่มีรูปแบบการบริหารธุรกิจที่แตกต่างจากที่อื่นๆ โดยมีกระบวนการดำเนินธุรกิจสอดคล้องกับกลยุทธ์การตลาดแบบ 7Ps ของ ฟิลลิป คอตเลอร์ ปรมาจารย์ด้าน การตลาด


          ลุงสายบัว พาศักดิ์ เกษตรกรดีเด่นระดับภาคกลางและภาคตะวันออกปี 2555 ปราชญ์ไม้ขุดล้อม และแกนนำบุกเบิกการทำอาชีพไม้ขุดล้อม ทำหน้าที่เป็นไกด์พานักศึกษาไปชมสวนต่างๆ เริ่มตั้งแต่สวนสายยูของ สุทธิรัตน์ ภักดีสูงเนิน เน้นขุดล้อมไม้ใหญ่โดยเฉพาะไม้ตระกูลปาล์ม ส่งออกไปขายตลาดต่างประเทศเป็นหลัก รายได้เดือนละหลายแสนบาท การที่ทำธุรกิจให้ประสบผลสำเร็จนั้น ต้องมีความขยัน ความอดทน ซื่อสัตย์ ตรงต่อเวลา ใจเขาใจเรา และมอบแต่สิ่งที่ดีให้ลูกค้า


          สวนของป้าติ๋มกับผู้ใหญ่เสริม ป้าติ๋ม เล่าให้นักศึกษาฟังว่า ตอนแรกที่ลงมือทำไม่มั่นใจเท่าไหร่ ลองผิดลองถูกอยู่นาน 6 ปี จึงประสบความสำเร็จ ทุกวันนี้สวนของป้ามีพื้นที่ปลูกกว่า 30 ไร่ รายได้ต่อเดือนประมาณ 100,000 กว่าบาท ป้าติ๋ม บอกว่า สิ่งสำคัญในการประกอบอาชีพนี้ คือ ต้องยึดหลักความซื่อสัตย์ จริงใจ ตรงต่อเวลา อย่าทิ้งลูกค้าให้/data/content/26853/cms/e_bfgjnsuxyz58.jpgบริการหลังการขาย ต่อไปเขาก็กลับมาอุดหนุนเราอีก


          ปิดท้ายที่ สวนลุงสายบัว วันนี้นอกจากทำหน้าที่เป็นไกด์พานักศึกษาไปชมห้องเรียนธรรมชาติไม้ขุดล้อมตามสวนต่างๆ ยังสาธิตและสอนวิธีการทำไม้ขุดล้อมให้น้องๆ นักศึกษาได้ลงมือทำกันอย่างจริงจังอีกด้วย ก่อนจากกันลุงบอกน้องๆ ว่าชาว ต.ชะอมมีวันนี้ได้เพราะได้รับความช่วยเหลือจาก


          ดร.มีชัย ที่สอนให้ทำอาชีพแบบค่อยๆ เรียนรู้จากประสบการณ์ และลองผิดลองถูกจากการลงมือทำ ปรับเปลี่ยนจากการขายผ่านคนกลางมาเป็นการปลูกเองขายเอง และการรวมกลุ่มตั้งแผงไม้ใกล้ๆ กันเพื่อสร้างพลัง


          ชัยวัฒน์ โกยสันติสุข อายุ 21 ปี  นักศึกษาชั้นปีที่ 3 วิทยาลัยผู้ประกอบการ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย บอกว่า ที่นี่เป็นแหลงเรียนรู้สำคัญสำหรับคนที่อยากประกอบธุรกิจ สิ่งหนึ่งที่คนที่นี่มีเหมือนกันคือ ความซื่อสัตย์ ตรงต่อเวลา จริงใจ ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน มีการรวมตัวกันอย่างเข้มแข็ง ทำงานกันเป็นทีม จนนำพาให้ธุรกิจเจริญเติบโตมาจนทุกวันนี้ อย่างลุงสายบัว มีความรู้เพียงแค่ ป.4 แต่มีวิธีคิดที่ดีและสามารถบริการจัดการอย่างเป็นระบบ ผสานกับความมุมานะ จนพาตัวเองก้าวขึ้นมายืนอยู่แถวหน้าในพื้นที่ตลาดไม้ขุดล้อม ซึ่งไม่ใช่เรื่องธรรมดา


          ปิดท้ายที่ นายนคร พูนสวรรณ์ อายุ 44 ปี นักศึกษาปริญญาโท คณะนิเทศศาสตร์และนวัตกรรมการจัดการ ภาควิชานิเทศศาสตร์เพื่อการพัฒนา สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) บอกว่า ไม่ได้สนใจว่าใครทำอะไรแล้วรวย แต่สนใจว่าชุมชนนี้เคยยากจนมาก่อน แต่วันนี้กลับกลายมาเป็นผู้ประกอบการธุรกิจไม้ขุดล้อม และเป็นพื้นที่ที่ได้ชื่อว่าเป็นโรงงานปลูกป่าของโลกนั้น เพราะว่าคนที่นี่อาจจะคิดต่างจากที่อื่นคือ ไม่ได้หวังรวยคนเดียว แต่อยากให้คนอื่นรวยด้วย จึงทำให้เกิดการรวมกลุ่มกันอย่างเข้มแข็ง ทั้งยังวางรากฐานเชื่อมโยงไปสู่รุ่นลูกรุ่นหลาน ผมคิดว่า เมื่อชุมชนเข้มแข็ง มันจะเอื้อประโยชน์ทั้งทางด้านสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมของบ้านชะอมให้ขยายตัวและเติบโตอย่างยั่งยืน


 


 


          ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก


          ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต

Shares:
QR Code :
QR Code