ห่วง “โรคไข้หวัดใหญ่” ทำคนกรุงป่วยเพิ่ม
ที่มา : เว็บไซต์ ASTV ผู้จัดการออนไลน์
แฟ้มภาพ
ชาวกรุงป่วย "ไข้หวัดใหญ่" แล้ว 5.4 หมื่นราย ตาย 2 ราย สูงเป็นอันดับ 2 ของประเทศ กลุ่มอายุ 0-14 ปีเสี่ยงเสียชีวิตง่าย แนะ 7 กลุ่มเสี่ยงฉีดวัคซีนป้องกันฟรี ศูนย์บริการสาธารณสุขใกล้บ้าน 68 แห่ง
พญ.วันทนีย์ วัฒนะ รองปลัดกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวว่า สถานการณ์โรคไข้หวัดใหญ่ตั้งแต่เดือน ม.ค.–ก.ค. 62 ในพื้นที่กรุงเทพฯ พบว่า มีผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ จำนวน 54,864 ราย เฉลี่ยเดือนละ 8,700 ราย เสียชีวิตแล้ว จำนวน 2 ราย ซึ่งเป็นผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เขตหลักสี่ 1 ราย และเขตบางพลัด 1 ราย ส่วนสถานการณ์โรคไข้หวัดใหญ่ของประเทศ พบว่า มีผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่มากกว่า 216,887 ราย เสียชีวิต จำนวน 16 ราย ทั้งนี้จากข้อมูลระบบเฝ้าระวังทางระบาดวิทยา กองควบคุมโรค สำนักอนามัย กทม. พบว่า อัตราป่วยในพื้นที่กรุงเทพฯ เป็นอันดับ 2 ของประเทศ และผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นเด็กที่อยู่ในกลุ่มอายุ 0–14 ปี ซึ่งมีโอกาสเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้ง่าย
พญ.วันทนีย์ กล่าวว่า กรุงเทพมหานคร มีความห่วงใยต่อสุขภาพของประชาชน จึงได้ดำเนินการป้องกันและเฝ้าระวังโรคไข้หวัดใหญ่ โดยสำนักอนามัยได้แจ้งสถานการณ์โรคไข้หวัดใหญ่และมาตรการในการควบคุมป้องกันโรคแก่ศูนย์บริการสาธารณสุขทั้ง 68 แห่ง สำนักการศึกษา สำนักพัฒนาสังคม และสำนักงานเขต พร้อมทั้งขอความร่วมมือทุกภาคส่วนรณรงค์ ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้และการป้องกันตนเองจากโรคไข้หวัดใหญ่แก่ประชาชนในพื้นที่ โดยหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับผู้ป่วยและเสมหะของผู้ป่วย ล้างมือบ่อยๆ หรือใช้แอลกอฮอล์เจลล้างมือเพื่อช่วยป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรค หากมีอาการเจ็บป่วยด้วยโรคไข้หวัดใหญ่ ควรปิดปากและจมูกเวลาไอหรือจาม และสวมหน้ากากอนามัย ควรหยุดงานหรือหยุดเรียนซึ่งจะช่วยลดการแพร่กระจายของเชื้อโรคได้
พญ.วันทนีย์ กล่าวว่า สำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเจ็บป่วยด้วย โรคไข้หวัดใหญ่ ได้แก่ 1. หญิงตั้งครรภ์ที่มีอายุครรภ์ 4 เดือนขึ้นไป 2. เด็กอายุ 6 เดือนถึง 2 ปี 3. ผู้มีโรคเรื้อรังประจำตัว เช่น ปอดอุดกั้นเรื้อรัง หัวใจ หืด ไตวาย หลอดเลือดสมอง เบาหวาน และผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ระหว่างการได้รับเคมีบำบัด 4. ผู้สูงอายุที่อายุ 65 ปีขึ้นไป 5. ผู้พิการทางสมองที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ 6. โรคธาลัสซีเมียและผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องจากการติดเชื้อเอชไอวี และ 7. ผู้ที่มีภาวะอ้วนน้ำหนักตั้งแต่ 100 กิโลกรัมขึ้นไป หรือดัชนีมวลกายตั้งแต่ 35 กิโลกรัมต่อตารางเมตร ซึ่งมีความเสี่ยงอาจจะเสียชีวิตด้วยโรคไข้หวัดใหญ่ได้ ควรไปรับวัคซีนไข้หวัดใหญ่เพื่อสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค