ห่วงใยผู้สูงวัย ใส่ใจพลัดตกหกล้ม
ที่มา: มติชนสุดสัปดาห์
แฟ้มภาพ
การพลัดตกหกล้มในผู้สูงอายุเป็นปัญหาสำคัญที่พบบ่อย ทุกๆ ปี จะมีผู้สูงอายุประมาณ 1 ใน 3 หรือมากกว่า 3 ล้านคน ที่พลัดตกหกล้ม ในจำนวนนี้มีผู้ที่ได้รับบาดเจ็บสูงถึง 6 แสนคน โดยครึ่งหนึ่งหรือกว่า 3 แสนคน มีบาดแผล ฟกช้ำ ถลอก และได้รับบาดเจ็บรุนแรงจนกระดูกข้อมือหักกว่า 11,000 คน สะโพกหักสูงเกือบ 3,000 คน และซี่โครงหัก มากกว่า 1,200 คน ส่งผลให้คุณภาพชีวิตลดลง ต้องพึ่งพาผู้อื่นจากความพิการ
ทั้งนี้ จากการสำรวจพบว่า ผู้สูงอายุเกือบครึ่งต้องใช้บันไดขึ้นลงทุกวัน แต่มีเพียง 1 ใน 4 ของผู้สูงอายุ ที่มีการดัดแปลงโครงสร้างของบ้านให้เหมาะสมกับ สภาพร่างกาย โดยมีราวจับในห้องส้วมเพียงร้อยละ 15.2 ส่วนราวจับในห้องนอนมีน้อยมาก เพียงร้อยละ 5.8 และมีร้อยละ 45 ที่ใช้โถส้วมแบบชักโครกหรือนั่งราบ
สาเหตุของการพลัดตกหกล้มในผู้สูงอายุ ส่วนใหญ่เกิดจากลื่น สะดุด หรือก้าวพลาด บนพื้นระดับเดียวกัน มากถึงร้อยละ 60 แต่มีเพียงร้อยละ 5.8 เกิดจากการตกหรือล้มจากบันไดและขั้นบันได และเมื่อพิจารณาสถานที่พลัดตกหกล้ม พบว่า ส่วนใหญ่ทั้งเพศชายและ เพศหญิง หกล้มนอกบริเวณบ้านมากถึงร้อยละ 65
นายแพทย์เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า การป้องกันพลัดตกหกล้มในผู้สูงอายุที่สำคัญ คือ
1. การประเมินความเสี่ยงต่อการพลัดตกหกล้ม โดยเฉพาะผู้ที่เคยมีประวัติหกล้มมาก่อน และการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม โดยเน้นฝึกการทรงตัวและออกกำลังกายเพื่อเพิ่มความแข็งแรง ของกล้ามเนื้อ
2. กรณีที่ผู้สูงอายุ มีโรคประจำตัวและกินยา หลายชนิด ควรจะรู้และ ตระหนักถึงผลข้างเคียงของยาที่ใช้
3. ปรับสิ่งแวดล้อม ในบ้านให้ปลอดภัยต่อ การดำเนินชีวิตของผู้สูงอายุ เช่น ควรอยู่บ้านชั้นเดียว กรณีบ้าน 2 ชั้น ควรจัดให้อยู่ชั้นล่าง เตียงนอนควรมีความสูงระดับ ข้อพับเข่าเพื่อให้ลุกยืนได้สะดวก เก็บบ้านให้เป็นระเบียบ พื้นไม่ลื่น ไม่เปียก มีแสงสว่างเพียงพอทั้งทางเดินและบริเวณบ้าน มีราวจับ ภายในบ้านและห้องน้ำ ควรมีที่นั่งสำหรับอาบน้ำ ใช้โถส้วมแบบชักโครกหรือนั่งราบ และไม่ควรล็อคประตูขณะใช้ห้องน้ำ
4. ให้ผู้นำชุมชนและคนในชุมชนมีส่วนร่วมในการสำรวจสิ่งแวดล้อมเสี่ยงและปรับปรุงแก้ไข เช่น พื้นทางเดิน ถนน สถานที่สาธารณะ เป็นต้น และการสนับสนุนกิจกรรมเพื่อป้องกัน การพลัดตกหกล้ม เช่น การ ออกกำลังกายแบบไทเก็ก โยคะ รำมวยจีน เป็นต้น
กรมควบคุมโรค ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาการ พลัดตกหกล้มในผู้สูงอายุ จึงได้ทำแบบประเมินความเสี่ยงต่อการ พลัดตกหกล้มในผู้สูงอายุ ออนไลน์ เพื่อให้ผู้สูงอายุ ผู้ดูแลผู้สูงอายุ ผู้ที่สนใจ และบุคลากรสาธารณสุข นำไปใช้ประเมินและรู้สถานะความเสี่ยงต่อการพลัดตกหกล้มของตนเอง บุคคลในครอบครัว ชุมชน สามารถป้องกันและจัดการกับปัจจัยเสี่ยงของการพลัดตกหกล้มได้ทันท่วงที
"การพลัดตกหกล้มในผู้สูงอายุ สามารถป้องกันได้…. ด้วยการประเมินและจัดการความเสี่ยงฯ"