ห่วงโซเชียลเน็ตเวิร์คทำเด็กเสียตัวเพิ่ม

 

ห่วงโซเชียลเน็ตเวิร์คทำเด็กเสียตัวเพิ่ม เร่งดำเนินการออกนโยบายประเมินโรงเรียนปลอดภัย หลังเด็กตายซ้ำในรถตู้ พร้อมออกกฏหมายเอาผิดพ่อแม่ปล่อยปละละเลยลูก

เมื่อวันที่ 23 พ.ค. น.ส.ลัดดา ตั้งสุภาชัย นักวิเคราะห์นโยบายและแผนเชี่ยวชาญ กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เปิดเผยว่า ตนได้ร่วมกับ ดร.นพดล กรรณิกา ผอ.เอแบคโพลล์ แถลงผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง “เด็กเล็กเสียชีวิต เด็กโตเสียตัว” ในมุมมองของพ่อแม่และผู้ปกครองในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล จำนวนทั้งสิ้น 1,531 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 20 -22 พ.ค. ที่ผ่านมา  พบว่า พ่อแม่ผู้ปกครองส่วนใหญ่หรือร้อยละ 92.4 ได้ยินข่าวอันตรายต่อชีวิตที่เกิดขึ้นกับเด็กเล็กผ่านสื่อมวลชนบ่อยมากถึงมากที่สุด  นอกจากนี้ ร้อยละ 86.4 ระบุว่าคุณครู พี่เลี้ยง พนักงานขับรถยังไม่ดูแลชีวิตของเด็กนักเรียนได้ดีเพียงพอ ร้อยละ 77.8 ระบุรัฐบาลยังไม่มีมาตรการดูแลความปลอดภัยในชีวิตของเด็กนักเรียนได้ดีเพียงพอ และร้อยละ 55.6 ระบุพ่อ แม่ ผู้ปกครอง ยังดูแลชีวิตของลูกๆ ไม่ดีเพียงพอ

น.ส.ลัดดา กล่าวต่อไปว่า ที่น่าสนใจคือร้อยละ 55.7 เห็นด้วยถ้ารัฐบาลออกกฎหมายเอาผิด พ่อแม่ ผู้ปกครองที่ปล่อยให้เด็กเล็กอยู่บ้านเพียงลำพัง อย่างไรก็ตาม ร้อยละ 85.1 เห็นด้วย ถ้าสื่อมวลชนช่วยผลักดันนโยบายสาธารณะที่ช่วยดูแลความปลอดภัยในชีวิตของเด็กเล็ก นอกจากนี้ เมื่อสอบถามพ่อแม่ ผู้ปกครองถึง ประเภทสื่อในสังคมไทยยุคปัจจุบันที่เสี่ยงอันตรายทำให้เด็กโตเสียตัว พบว่า ร้อยละ 76.2 ระบุเป็น สังคมออนไลน์ โซเชียลเน็ตเวิร์ค มากที่สุด รองลงมา ร้อยละ 66.2 ระบุเป็น การชักชวนพูดคุย กันในโลกออนไลน์ ร้อยละ 64.9 ระบุเป็นภาพยนตร์ แผ่นหนังโป๊ ร้อยละ 55.4 ระบุเป็นละครโทรทัศน์ในฉากเลิฟซีน เพศสัมพันธ์ ในขณะที่ร้อยละ 40.2 ระบุเป็นการเสนอภาพข่าวโทรทัศน์ข่มขืน ลวนลามทางเพศ และร้อยละ 33.4 ระบุเป็น หนังสือพิมพ์ นิตยสาร ตามลำดับ

ด้าน ดร.นพดล กล่าวว่า ปัญหาสังคมไทยเป็นปัญหาที่นำเอาข้อเท็จจริงมาเล่นแร่แปรธาตุปั่นให้เป็นกระแสชั่วคราวและก็มอดดับไปแต่ปัญหายังคงทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้น จึงเสนอให้รัฐบาลหันมาสนใจปัญหาสังคม โดยเฉพาะการออกนโยบายสาธารณะและกฎหมายที่ทำให้เด็กและเยาวชนได้รับการดูแลความปลอดภัยมากขึ้น

ดังนี้ ให้มีกฎหมายดำเนินการเอาผิดกับพ่อแม่ผู้ปกครองที่ปล่อยให้เด็กเล็กอยู่บ้านตามลำพัง เสนอให้รัฐบาลมีนโยบายสาธารณะให้หน่วยงานของรัฐที่ทำหน้าที่ประเมินคุณภาพโรงเรียนผ่านเกณฑ์ด้านมาตรการดูแลความปลอดภัยของนักเรียนด้วยตัวชี้วัดต่างๆ รวมทั้งเสนอให้เว็บไซต์กระทรวงศึกษาธิการ เว็บไซต์จังหวัด หรือเว็บไซต์หน่วยงานรัฐที่ทำการตรวจมาตรฐานโรงเรียนประกาศรายชื่อโรงเรียนที่ผ่านและไม่ผ่านเกณฑ์ดูแลความปลอดภัยของเด็กนักเรียนให้สาธารณชนรับทราบ ในส่วนพ่อแม่ผู้ปกครองก็ต้องดูแลบุตรหลานอย่างใกล้ชิด

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์

Shares:
QR Code :
QR Code