ห่วงแม่และเด็ก ถูกทำร้ายจาก ควันบุหรี่มือสอง

ที่มา : เว็บไซต์ไทยรัฐ


ห่วงแม่และเด็ก ถูกทำร้ายจาก ควันบุหรี่มือสอง thaihealth


แฟ้มภาพ


จากการสำรวจพฤติกรรมการสูบบุหรี่และการดื่มสุราของประชากร พ.ศ.2557 พบว่า พฤติกรรมการสูบบุหรี่ในตัวบ้านของสมาชิกที่อยู่อาศัยในครัวเรือน เกือบร้อยละ 40 มีการสูบบุหรี่ภายในตัวบ้าน ซึ่งราวร้อยละ 28 ของกลุ่มนี้ระบุว่า สูบบุหรี่ในตัวบ้าน “ทุกวัน” และราวร้อยละ 7 ระบุว่าสูบบุหรี่ในบ้านอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่ายังมีผู้สูบบุหรี่อีกจำนวนมากที่ไม่ได้คำนึงถึงสุขภาพของสมาชิกในบ้าน ที่ต้องถูกทำร้ายด้วย “ควันบุหรี่มือสอง” ทั้งนี้ เชื่อว่ามีคนไทยที่มีโอกาสได้รับควันบุหรี่ มือสองในบ้านถึงกว่า 15.89 ล้านคนเพื่อรู้ เท่าทันถึงภัย “ควันบุหรี่มือสอง”


พญ.ปานทิพย์ โชติเบญจ มาภรณ์ ผอ.สำนักควบคุมการบริโภคยาสูบ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้อธิบายว่า บุหรี่ หรือยาเส้น ก็มีพิษภัยเหมือนกัน มีสารก่อมะเร็งเท่ากัน และควันยาสูบมือสองก็ก่อพิษเท่ากันกับทุกคนที่รับควัน หากมีคนสูบอยู่ในบ้าน โดยเฉพาะเด็กจะเป็นกลุ่มที่รับพิษภัยจากควันยาสูบไปเต็มๆ มีผลวิจัยมากมายที่ระบุชัดเจนว่า เด็กที่รับควันมือสองมีโอกาสเสี่ยงสูงมากที่จะเป็นโรคปอด มีการติดเชื้อในหูชั้นกลาง เป็นโรคระบบทางเดินหายใจ หอบหืด และจะมีอาการรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ และหากในครอบครัวมีหญิงตั้งครรภ์ พิษจากควันมือสองจะส่งผลโดยตรงต่อพัฒนาการของลูกในท้องมีความเสี่ยงสูงที่จะแท้ง หรือคลอดก่อนกำหนด และหากคลอดออกมาแล้วลูกจะน้ำหนักตัวน้อย ระบบทางเดินหายใจผิดปกติ


รศ.นพ.สมบัติ มุ่งทวีพงษา เลขาธิการสมาพันธ์เครือข่ายโรคไม่ติดต่อแห่งประเทศไทย กล่าวในงานประชุมวิชาการบุหรี่กับสุขภาพ ครั้งที่ 17 ว่า ผู้หญิงที่บริโภคยาสูบ หรือได้รับควันยาสูบมือสองและใช้ยาเม็ดคุมกำเนิด มีอัตราเสี่ยงของโรคหลอดเลือดสมองสูงถึง 7.2 เท่า เนื่องจากสารพิษจากควันยาสูบส่งผลโดยตรงกับยาคุมกำเนิด ทำให้เลือดแข็งตัวง่ายและเกิดการอุดตันของหลอดเลือดง่ายขึ้นด้วย ซึ่งการสูบ หรือได้รับควันยาสูบมือสองเป็นปัจจัยสำคัญที่ก่อโรคหลอดเลือดสมอง แต่สามารถหลีกเลี่ยงและป้องกันได้โดยการหยุดสูบ หากผู้ป่วยเป็นผู้บริโภคยาสูบเอง แต่หากเป็นผู้ที่รับควันยาสูบมือสอง ต้องเลี่ยงสถานที่ที่อาจได้รับควันยาสูบ รวมทั้งทำให้บ้านเป็นสถานที่ปลอดควันยาสูบได้ก็จะดีที่สุด หรือการขึ้นภาษีบุหรี่มวนเองจะช่วยลดจำนวนนักสูบได้มากขึ้น และช่วยคุ้มครองสุขภาพ “แม่” และ “เด็ก” จากควันมือสองได้มากขึ้นด้วย


 

Shares:
QR Code :
QR Code