ห่วงเด็กไทยไอคิวไม่กระเตื้อง

 

ประธานคณะอนุกรรมมาธิการพิจารณาศึกษาปัญหาสุขภาพฯ เผย สำรวจไอคิวเด็กไทยอายุ 6-15 ปี ในโรงเรียนทั่วประเทศทุกสังกัด ทั้งของรัฐและเอกชน พบว่านักเรียนหลายหมื่นคนไอคิวเฉลี่ยไม่ถึง 100 คะแนน ซึ่งถือว่าเป็นไอคิวที่ต่ำ

พญ.พรพันธุ์ บุณยรัตพันธุ์ ส.ว.สรรหา ในฐานะประธานอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาปัญหาสุขภาพของคนไทยและปัจจัยที่เกี่ยวข้อง วุฒิสภา เปิดเผยว่า ผลสำรวจระดับสติปัญญาเด็กไทย (ไอคิว) ปี 2554 ของกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ซึ่งสำรวจไอคิวเด็กไทยอายุ 6-15 ปี ในโรงเรียบนทั่วประเทศทุกสังกัด ทั้งของรัฐและเอกชน พบว่านักเรียนหลายหมื่นคนไอคิวเฉลี่ยไม่ถึง 100 คะแนน ซึ่งถือว่าเป็นไอคิวที่ต่ำเพราะปกติแล้วไอคิวจะต้องเกิน 100 คะแนน จากปัญหาดังกล่าวทำให้ กมธ.สาธารณสุข รู้สึกกังวล เนื่องจากเปรียบเทียยไอคิวของเด็กไทยเมื่อ 10 ปีก่อน ก็เฉลี่ยไม่ถึง 100 คะแนน สะท้อนว่าแม้ผ่านมาถึง 10 ปี แต่ไอคิวเด็กไทยไม่ได้ดีดขึ้น

“การที่เด็กไทยไอคิวต่ำส่งผลด้านการศึกษาด้วย เพราะจะทำให้การศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาลดน้อยลง แถมยังส่งผลต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (จีดีพี) ของเราก็จะต่ำด้วยหากปล่อยให้เป็นเช่นนี้ การแข่งขันและพัฒนากับนานาชาติก็คงเป็นไปได้ยาก เพราะทรัพยากรบุคคลของเรามีไอคิวที่ต่ำกว่าประเทศอื่น อย่างประเทศสิงคโปร์ มาเลเซีย ไอคิวเฉลี่ยสูงกว่าเด็กไทยมาก อีกทั้งมีความฉลาดทางอารมณ์ (อีคิว) แต่เด็กไทยมีแนวโน้มต่ำลงเช่นกัน เช่นเรื่องของจริยธรรม การปรับตัวและการเข้าใจคนอื่น นับเป็นปัญหาใหญ่ทุกฝ่ายต้องร่วมกันหาทางออกอย่างจริงจัง” พญ.พรพันธุ์ กล่าว

พญ.พรพันธุ์ กล่าวอีกว่า ตัวอย่างจากประเทศภูฏานให้ความสำคัญกับการพัฒนาระดับสติปัญญาของเด็กในประเทศอย่างมาก โดยรัฐบาลมีนโยบายสอนภาษาอังกฤษให้เด็กตั้งแต่ระดับชั้นประถมศึกษาตอนต้น อีกทั้งในช่องฟรีทีวี ทุกรายการมีคำแปลภาษาอังกฤษด้านล่างให้เด็กได้เรียนรู้ภาษาอังกฤษไปพร้อมกัน เพราะภาษาอังกฤษถือเป็นประตูไปสู่วิชาการด้านต่างๆ ในโลก ขณะเดียวกันรายการส่วนใหญ่เน้นสาระประโยชน์ เช่น บีบีซี ซีเอ็นเอ็น รับชมฟรี แต่ประเทศไทยรายดีต้องเสียค่าบริการ อีกทั้งเด็กไทยมีทั้งอินเทอร์เน็ตและแท็บเล็ต แต่ก็นิยมนำมาใช้เล่นเกมมากกว่า

 

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์คมชัดลึก 

 

Shares:
QR Code :
QR Code