ห่วงเดินทางข้ามพื้นที่หลังผ่อนปรน เฟส 2
ที่มา : มติชน
แฟ้มภาพ
สธ.ห่วงเดินทางข้ามพื้นที่หลังผ่อนปรน เฟส 2 แนะผู้ว่าฯออกเกณฑ์ควบคุม เฝ้าระวังคนจังหวัดเสี่ยงสูงเข้าจังหวัดเสี่ยงต่ำ
กรณีศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. การเตรียมเปิดกิจการ/กิจกรรมบางประเภทให้กลับดำเนินการกิจกรรมได้ ตามมาตรการผ่อนปรนระยะที่ 2 ซึ่งคาดว่าจะมีผู้เดินทางกลับมาทำงานที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) จำนวนมาก ทำให้มีความกังวลว่าจะเกิดการแพร่ระบาดโควิด-19 รอบ 2 หรือไม่
นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ตามหลักทฤษฎีหากมีการเดินทางจะจัดแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1 การเดินจากพื้นที่มีความเสี่ยงเท่ากัน เช่น ความเสี่ยงต่ำไปสู่ความเสี่ยงต่ำ ความเสี่ยงสูงไปยังความเสี่ยงสูง กลุ่มที่ 2 การเดินทางจากพื้นที่เสี่ยงสูงไปยังพื้นที่ความเสี่ยงต่ำ และกลุ่มที่ 3 การเดินทางจากพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่ำไปยังพื้นที่ความเสี่ยงสูง ลักษณะที่น่ากังวลที่สุดคือ การเดินทางในกลุ่มที่ 2 ซึ่งประเทศไทยมีพื้นที่มีความเสี่ยงสูง หรือจังหวัดที่เคยพบผู้ป่วยจำนวนมาก ขณะนี้ มีอยู่ประมาณ 9 จังหวัด เช่น กทม.และปริมณฑล จ.ภูเก็ต จ.เชียงใหม่ จ.ชลบุรี จ.สงขลา จ.ยะลา จ.นราธิวาส และ จ.ปัตตานี ซึ่งคาดเดาได้ยากว่าขณะนี้มีผู้ป่วยในพื้นที่หลงเหลืออยู่หรือไม่ ส่วนพื้นที่มีผู้ป่วยจำนวนไม่มาก เช่น พบ 1-2 ราย เชื่อว่าภายในจังหวัดสามารถจัดการกับผู้ป่วยได้หมดแล้ว อาจหมายความว่าไม่หลงเหลือผู้ป่วยแล้ว
"การเดินทางจากพื้นที่เสี่ยงต่ำไปยังพื้นที่เสี่ยงสูง ไม่น่ากังวล เนื่องจากเป็นการเดินทางจากพื้นที่ที่ไม่มีผู้ป่วยมายังพื้นที่มีผู้ป่วย ซึ่งขึ้นอยู่กับผู้ว่าราชการจังหวัดนั้นๆ จะออกคำสั่งกักกันผู้เดินทางมาจากนอกพื้นที่ สรุปได้ว่าการกักกันผู้เดินทางเชิงทฤษฎีควรกักกันผู้เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยงสูงที่เดินทางไปยังจังหวัดอื่นๆ หากมีผู้เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยงต่ำมายังพื้นที่ กทม. ก็ไม่มีความจำเป็นจะต้องกักกัน" นพ.ธนรักษ์กล่าว
นพ.ธนรักษ์กล่าวว่า การกักกันผู้เดินทางในมุมมองด้านวิชาการ หากมีการเดินทางจากจังหวัดที่มีความเสี่ยงเท่ากัน คือพื้นที่มีความเสี่ยงต่ำไปยังพื้นที่ความเสี่ยงต่ำ ตามทฤษฎีแล้วการกักกันผู้เดินทางจะมีประโยชน์น้อย ยกเว้นกรณีการเดินทางจากพื้นที่มีความเสี่ยงสูงไปยังพื้นที่เสี่ยงสูง เช่น เดินทางจาก จ.ภูเก็ต เดินทางมายังพื้นที่ กทม. หากจะกักกันผู้เดินก็สามารถดำเนินการได้ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัด ที่สามารถออกคำสั่งตามเห็นสมควรได้
"ขณะนี้เป็นห่วงอยู่เพียงไม่กี่จังหวัด เนื่องจากเป็นพื้นที่เคยมีการระบาดต่อเนื่องมาก่อน ตอบค่อนข้างยากว่าผู้ป่วยเกลี้ยงหมดหรือยัง หรือว่ามีผู้ป่วยเหลืออยู่แต่เราหาไม่เจอ ดังนั้น ตามหลักการ จังหวัดที่มีความเสี่ยงสูงเดินทางไปยังจังหวัดอื่นแล้วมีการกักกันก็เป็นเรื่องที่ดี และสมเหตุสมผล อย่างไรก็ตาม ขอให้ประชาชนไม่ต้องตื่นตระหนก" นพ.ธนรักษ์กล่าว