ห่วงสังคมไทย ชินชากับความรุนแรง

ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์


ห่วงสังคมไทย ชินชากับความรุนแรง thaihealth


แฟ้มภาพ


     "การใช้ความรุนแรง" เป็นเรื่องที่ไม่อาจยอมรับได้ในสังคมไทย และสังคมโลก ถึงขั้นมีบทลงโทษผู้ที่ก่อความรุนแรงเอาไว้ด้วย แต่ถึงอย่างนั้นก็ไม่อาจจะสกัดกั้นไม่ให้ความรุนแรงเกิดขึ้นได้ ถามว่าเหตุใดคนเราถึงกล้าทำร้าย คนอื่น หรือสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ได้ มีรายงานว่าคนที่เคยถูกหรือเห็นความรุนแรงบ่อย ๆ จะมีความเฉยชาต่อความรุน แรงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต สามารถความก่อรุนแรงได้โดยมองว่าเป็นเรื่องปกติ และจะทำรุนแรงขึ้น

          ในเด็กจะมีทั้งประสบการณ์ความรุนแรงในครอบครัว และเรากลัวเรื่องการเล่นวิดีโอเกม การเห็นเลือดเห็นการต่อสู้รุนแรง พิสดาร อาจจะเป็นบ่อเกิดความรุนแรงในอนาคตได้ ยิ่งเป็นภาพเหมือนก็ยิ่งกลัวมาก จึงต้องมีการจัดอันดับเกมให้อยู่ในหลักการที่ถูกต้อง

          อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันการเข้าถึงสื่อมีหลากหลายช่องทาง โดยเฉพาะโซเชียลมีเดียที่ไร้การควบคุม มีการส่งต่อผลิตซ้ำความรุนแรง ซ้ำไปซ้ำมา แน่นอนว่าทำให้เกิดข้อกังวลว่าคนจะเฉยชากับความรุนแรงเหล่านี้ ทำให้ทางกรมสุขภาพจิตเตรียมบรรจุเรื่องการส่งเสริมป้องกันปัญหานี้จากการนำเสนอสิ่งต่าง ๆ เอาไว้ในกฎหมายลูกที่จะออกตามพ.ร.บ.สุขภาพจิตด้วย การจะห้ามคน นำเสนอสิ่งต่าง ๆคงเป็นไปได้ยากแต่อย่างน้อยต้องมีขอบเขต และสร้างสรรค์ ไม่ก่อให้เกิดความรุนแรง เช่น กรณีฆ่าหั่นศพต่อให้มีการเบลอภาพ ปรับมาใช้แอนิเมชั่นแทนก็ยังเห็นว่านี่เป็นความรุนแรงก่อความเสียหายจนลุกลามเป็นความชินชา ต่อความรุนแรงที่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นภาวะที่ไม่ควรเกิดขึ้น

          นพ.ศรุตพันธุ์ จักรพันธุ์ ณ อยุธยา ผอ.สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ อธิบายต่อว่า ความ รุนแรงมีหลายรูปแบบ ไม่ใช่แค่การทำความรุนแรงทางกายเท่านั้น แต่ความรุนแรงทางวาจาเป็นปัญหาไม่ยิ่งหย่อน โดยเฉพาะกับเด็กซึ่งตอนนี้มีปัญหาเรื่องการบูลลี่ หรือการ กลั่นแกล้งกันมากขึ้น โดยเฉพาะในโซเชียล มีเดีย

          นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต ระบุว่าการบูลลี่กันนั้นมีมานานแล้วแต่ปัจจุบันรุนแรงขึ้น เพราะสังคมเปลี่ยนแปลง ความสนิทลดลง มีการแบ่งกลุ่มกันมากขึ้น ที่สำคัญการกลั่นแกล้งยังพบมากในโลกออนไลน์ ทั้งการโพสต์ข้อ ความโจมตี คุกคามทางเพศ เป็นต้น

ส่วนผลกระทบแล้วแต่การปรับตัวของแต่ละคน ส่วนใหญ่คนที่อ่อนแอกว่ามักจะเกิดการถดถอย เครียด ซึมเศร้า แต่บางคนอาจเกิดการถดถอยช่วงแรกแล้วมีการสู้กลับด้วยพฤติกรรมที่รุนแรงทางกายตามมา และปัญหาเหล่านี้อาจจะส่งผลถึงตอนเป็นวัยผู้ใหญ่ด้วย ขณะที่นักเรียนที่รังแกคนอื่นเมื่อทำบ่อยครั้งจนกลายเป็นความเคยชิน จะมีปัญหาในเรื่องความก้าวร้าว ความรุนแรงต่อผู้อื่น ใช้ความรุนแรงแก้ปัญหา เป็นอันธพาลหรืออาชญากรได้

          ทั้งนี้จะเห็นว่าความรุนแรงไม่ว่าจะเริ่มต้นด้วยรูปแบบใดย่อมส่งผลกระทบทั้ง 2 ฝ่าย ดังนั้นโปรดอย่าสนุก อย่าชินชากับความรุนแรงทุกรูปแบบ แม้กระทั่งคำพูดคำจา "คนพูดสนุก แต่คนฟังไม่สนุกด้วย"

Shares:
QR Code :
QR Code