ห่วงวัยแรงงานเจ็บป่วย อุบัติเหตุ
ที่มา: เว็บไซต์เดลินิวส์
แฟ้มภาพ
สพฉ.ห่วงวัยแรงงานเจ็บป่วยฉุกเฉินเพียบ มากสุดคืออุบัติเหตุ-อ่อนเพลีย-อัมพาต วอนนายจ้างดูแลความปลอดภัยสถานที่ทำงาน เผยสัญญาณแรงงานเครียด สูบบุหรี่จัดทำหัวใจขาดเลือด ทำป่วยหัวใจขาดเลือดด้วย
นพ.ไพโรจน์ บุญศิริคำชัย รองเลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวว่า สพฉ.ได้รวบรวมสถิติตัวเลขของการแจ้งเหตุผู้ป่วยฉุกเฉินผ่านสายฉุกเฉิน 1669 ของประชาชนในวัยแรงงานตั้งแต่อายุ 20 – 60 ปี ขึ้นไป ระหว่างวันที่ 1 พ.ค.พ.ศ.2561 – จนถึงวันที่ 30 เม.ย.พ.ศ. 2562 พบว่า มีการแจ้งเหตุในเรื่องอุบัติเหตุยานยนต์มากที่สุดโดยได้รับแจ้งเหตุในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง คือ 148,377 ครั้ง ส่วนผู้หญิง 80,163 ครั้ง รองลงมาคือการได้รับแจ้งเหตุจาก อาการป่วย อ่อนเพลีย อัมพาตเรื้อรัง โดยเกิดกับเพศชาย ชาย66,460 ครั้ง หญิง 56,835 ครั้ง ขณะที่อันดับ 3 คืออาการปวดท้อง, หลัง, เชิงกราน ได้รับแจ้งเหตุในเพศชาย 42,301 ครั้ง และเพศหญิง 35,900 ครั้ง
นพ.ไพโรจน์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ยังพบการแจ้งเหตุผู้ป่วยฉุกเฉินผ่านสายฉุกเฉิน 1669 ที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของวัยแรงงานคือการพลัดตกหกล้ม อุบัติเหตุ เจ็บปวด ที่มีการแจ้งเหตุเข้ามามากถึง 42,127 คน ดังนัเนในโอกาสวันแรงงานที่จะถึงในวันที่ 1 พ.ค.นี้ ตนจึงอยากฝากเตือนไปถึงสถานประกอบการให้ใส่ใจในการดูแลสวัสดิภาพของแรงงานในการทำงานให้มีความปลอดภัยได้มาตรฐานตามหลักสากลด้วย นอกจากนี้ในส่วนของแรงงานเองหากใครที่ต้องทำงานในพื้นที่เสี่ยงก็อยากให้ตรวจดูอุปกรณ์ สิ่งแวดล้อมที่อยู่ในการทำงานของเราว่าพร้อมและปลอดภัยพอสำหรับการทำงานของเราหรือไม่ หากไม่พร้อมก็ให้รีบแจ้งผู้ประกอบการให้เข้ามาดูแลทันทีเพื่อเป็นการป้องกันอุบัติเหตุที่จะเกิดขึ้นกับเราและเพื่อนร่วมงาน และที่สำคัญแรงงานเองก็ต้องดูแลตัวเองให้พร้อมสำหรับการทำงานในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงด้วย
รองเลขาธิการ สพฉ.กล่าวอีกว่า อีกประด็นที่พบการแจ้งเหตุในวัยแรงงานคืออาการหายใจลำบากติดขัดที่มีการแจ้งเหตุเข้ามามากถึง 24,354 คน ซึ่งอาการหายใจลำบากติดขัดมักมีเกิดจากการเจ็บป่วยฉุกเฉินในหลายๆ โรค แต่โรคที่น่าเป็นห่วงที่สุดคือ โรคภาวะหัวใจขาดเลือด หรือกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน (STEMI) ซึ่งภาวะของโรคหัวใจขาดเลือดคือโรคที่เกิดขึ้นเนื่องจากหลอดเลือดเลี้ยงหัวใจตีบหรือตัน ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจมีเลือดไปเลี้ยงลดลงหรือไม่มีเลย เป็นผลให้การทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจผิดปกติ หากรุนแรงทำให้เกิดกล้ามเนื้อหัวใจตายได้ โดยอาการของผู้ป่วยนั้น จะมีอาการเจ็บแน่น จุกเสียดที่หน้าอกหรือท้องส่วนบน โดยเฉพาะในขณะออกแรง หรือมีอาการแน่นเหนื่อยอึดอัด บริเวณกลางหน้าอก หรือค่อนมาทางซ้าย และมีอาการเจ็บลึกๆ หายใจไม่สะดวกรวมถึงอาจมีอาการอื่นร่วมด้วยเช่นการ หอบเหนื่อย คลื่นไส้ อาเจียน เหงื่อแตก ใจสั่น หน้ามืด บางรายนอกจากแน่นหน้าอกแล้ว ยังอาจเจ็บร้าวไปที่หัวไหล่ แขน หรือ คอ
สำหรับแรงงานที่มีความเสี่ยงป่วยโรคดังกล่าว ได้แก่ มีคนในครอบครัวเคยป่วยโรคนี้ เครียด สูบบุหรี่จัด การมีโรคประจำตัวเช่น โรคความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง โรคเบาหวาน แรงงานที่มีภาวะอ้วนและไม่ค่อยได้ออกกำลังกายก็จะมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจขาดเลือดเพิ่มมากขึ้นด้วย ดังนั้นขอให้วัยแรงงานระมัดระวัง ดูแลสุขภาพตนเอง แบ่งเวลามาออกกำลังกายบ้าง และรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ตรวจสุขภาพประจำปี ไม่สูบบุหรี่ หรือดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ไม่เครียดและพักผ่อนให้เพียงพอ แต่หากเจ็บป่วยแจ้ง 1669 ฟรีตลอด 24 ชั่วโมง.