ห่วงรักษาฟันเถื่อนเสี่ยงติดเชื้อ
ที่มา : เว็บไซต์กระทรวงสาธารณสุข
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ
แฟ้มภาพ
“กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ” เตือนประชาชน ทำฟันกับหมอทำฟันปลอม ระวังติดเชื้อ และอาจถึงขั้นกลายเป็นมะเร็งในช่องปาก
นายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรมสบส.) กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ขณะนี้สถานการณ์โรคฟันของคนไทย ยังเป็นปัญหาโดยเฉพาะการสูญเสียฟัน ทำให้ประชาชนจำนวนมากฟันหลอ ผลสำรวจสภาวะสุขภาพช่องปากระดับประเทศ โดยกรมอนามัย ครั้งล่าสุดในปี 2555 พบผู้ที่มีอายุ 35-44 ปี ถอนฟันเฉลี่ย 3.7 ซี่ต่อคน ส่วนอายุ 60-74 ปี ถอนเฉลี่ย 13.2 ซี่ต่อคน ทั้ง 2 กลุ่มนี้พบในเขตเมืองมากที่สุด รองลงมาคือเขตกทม. จึงทำให้มีผู้ฉวยโอกาส เปิดร้านทำฟันปลอมโดยมีการตั้งโต๊ะรับทำในตลาดสด รวมทั้งในหมู่บ้านจัดสรร หรือออกไปรับทำตามบ้าน โดยรับทำราคาถูกกว่าคลินิก ซี่ละประมาณ 500 บาท และไม่ต้องรอนานเหมือนทำกับทันตแพทย์ ส่วนใหญ่ช่างที่รับทำจะบอกว่า เคยเป็นลูกจ้างหมอฟัน วัสดุที่ใช้ทำฟันปลอมเป็นประเภทและชนิดเดียวกับที่ทันตแพทย์ใช้ทำให้ประชาชนหลงเชื่อและใช้บริการ
อธิบดีกรม สบส.กล่าวว่า ตามกฎหมายคือพระราชบัญญัติสถานพยาบาลพ.ศ. 2541 กำหนดให้ผู้ที่สามารถทำฟันปลอมให้บริการประชาชนได้นั้นจะต้องเป็นทันตแพทย์ ที่มีใบประกอบโรคศิลปะเท่านั้น และต้องทำในสถานพยาบาลที่มีมาตรฐาน มีเครื่องมือและขั้นตอนในการใส่เพื่อทดแทนฟันธรรมชาติและพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ที่สูญเสียฟัน ให้สามารถใช้เคี้ยวบดอาหารได้ ยิ้มอย่างมั่นใจ สวยงาม หากเป็นบุคคลอื่นทำ จะถือว่าผิดกฎหมาย เข้าข่ายทันตแพทย์เถื่อนและคลินิกเถื่อน ขอย้ำเตือนประชาชนที่ไปใช้บริการทำและใส่ฟันปลอมกับผู้ที่ไม่ใช่ทันตแพทย์ ระวังอันตราย มีโอกาสติดเชื้อเนื่องจากเครื่องมือเครื่องใช้ไม่สะอาด ที่สำคัญคือไม่มีการเตรียมช่องปากให้สะอาด ไม่มีการออกแบบฟันให้เหมาะสมกับช่องปาก จะส่งผลทำให้การบดเคี้ยวอาหารไม่ดี มีผลกระทบต่อระบบการย่อยอาหารตามมา อาจทำให้โรคในช่องปากลุกลาม ได้สั่งการให้สำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ และสำนักงานสนับสนุนบริการสุขภาพเขต 12 เขตทั่วประเทศ ดำเนินการกวาดล้างร้านและช่างทำฟันปลอมเถื่อนให้หมดไป ขอความร่วมมือประชาชน หากพบเห็นแจ้งที่สายด่วน 02-193-7999 หรือเฟชบุ๊คสารวัตรสถานพยาบาลออนไลน์/มือปราบสถานพยาบาลเถื่อน
ด้านทันตแพทย์อาคม ประดิษฐสุวรรณ ผู้อำนวยการสำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ กรม สบส.กล่าวว่า ผู้ที่เปิดร้านและรับฟันปลอม จะมีโทษตามพระราชบัญญัติสถานพยาบาลพ.ศ. 2541 มี 2 กระทง ประการแรกเข้าข่ายเป็นทันตแพทย์เถื่อน ไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ประการที่ 2 ข้อหาเปิดร้านทำฟันโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ทันตแพทย์อาคม กล่าวต่อว่า การใส่ฟันปลอมจากผู้ที่ไม่มีความรู้ ไม่ใช่ทันตแพทย์ มีความเสี่ยงอันตราย บางครั้งช่างทำฟันเถื่อนอาจเชื่อมฟันปลอมติดกับซี่ฟันดีเลียนแบบตามที่ทันตแพทย์จริงใส่ ฟันปลอมชนิดนี้ไม่สามารถถอดออกมาทำความสะอาดได้ หากฟันที่ยึดติดกับฟันปลอมมีปัญหาโยกคลอน หรือมีหินปูนเกาะ หรือมีปัญหาผุ เชื้อจะหมักหมมอยู่ภายใต้ฟันปลอม เชื้อโรคจากฟันที่ผุ หรือเชื้อจากเหงือกที่อักเสบจากคราบหินปูน จะลุกลามอักเสบ เป็นหนอง จนไม่สามารถเก็บฟันแท้ซี่นั้นต่อไป ประการสำคัญ ฟันผุที่ไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง การผุก็จะลุกลาม ลงสู่โพรงประสาทฟัน ทำให้เกิดการติดเชื้อและแพร่กระจายออกจากฟันไปสู่เนื้อเยื่ออื่นๆ ลุกลามไปยังบริเวณที่สำคัญ เช่น ที่ใต้คาง ใต้ตา อาการปวดและบวมจะเพิ่มความรุนแรงขึ้น ซึ่งอาจมีอันตราย ถึงแก่ชีวิตได้ ผลที่ได้จึงไม่คุ้มเสีย นอกจากนี้ฟันปลอมที่ใส่ลวดยึดฟันที่ทำจากหมอฟันเถื่อน หากไม่พอดี ลวดอาจจะครูดกับเหงือก ทำให้เป็นแผล หากเป็นแผลเรื้อรัง เสี่ยงเป็นมะเร็งช่องปาก โดยโรคมะเร็งในช่องปากนี้ สาเหตุ 1 ใน 10 มาจากการใส่ฟันปลอมที่ไม่ได้มาตรฐาน