ห่วงฝุ่นพิษกระทบสุขภาพเด็กนักเรียน

ที่มา : ไทยรัฐ


ห่วงฝุ่นพิษกระทบสุขภาพเด็กนักเรียน thaihealth


แฟ้มภาพ


ผลสำรวจอนามัยโพล โดยกรมอนามัยระหว่างวันที่ 25-31 มกราคม 2564 พบว่า ผู้ที่มีอาการในพื้นที่ที่มีค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 เกินมาตรฐานมีอาการหายใจมีเสียงหวีดหัวใจเต้นเร็วผิดปกติ และไอมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยจังหวัดที่พบว่ามีอาการมากที่สุด ได้แก่ ราชบุรี รองลงมาคือ ตาก กรุงเทพมหานคร และเชียงราย ตามลำดับ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีการเปิดโรงเรียนในพื้นที่ในเขตกรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และต่างจังหวัดหลังจากมีมาตรการผ่อนคลายเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ที่การจราจรเริ่มติดขัดมากขึ้นอาจทำให้ปริมาณค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 เพิ่มสูงขึ้นและกระทบต่อสุขภาพของเด็กนักเรียนได้


ขณะที่ผู้ปกครองก็ยังมีความกังวลต่อสุขภาพของเด็กนักเรียนที่ต้องเดินทางมาโรงเรียนและอาจมีกิจกรรมกลางแจ้งในโรงเรียน จากการสอบถามความกังวลของผู้ปกครองในประเด็นสุขภาพเด็กและฝุ่นละออง ระหว่างวันที่ 22-31 มกราคม 2564 จำนวน 881 คน พบว่า 95.1% มีความกังวลว่าเด็กจะหายใจเอาอากาศที่ไม่สะอาดเข้าสู่ร่างกาย 93.1% มีความกังวลว่าฝุ่นจะทำให้เด็กมีอาการระคายเคืองตา จมูก และ 90.7% มีความกังวลว่าสถานการณ์ PM 2.5 อาจจะทำให้ต้องหยุดเรียนเรียนไม่ทันและสิ่งที่ต้องการเพื่อป้องกันผลกระทบต่อเด็ก คือ ความรู้ คำแนะนำในการป้องกัน ดูแลสุขภาพ สนับสนุนหน้ากากป้องกันฝุ่นในเด็ก รวมทั้งจัดให้มีห้องปลอดฝุ่นในโรงเรียนศูนย์เด็กเล็ก หรือในที่สาธารณะ


จากข้อมูลดังกล่าวกรมอนามัยจึงได้ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการจัดทำแนวทางลดและป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 สำหรับสถานศึกษา และจะมีการปฏิบัติการให้ความรู้ สร้างความเข้าใจแก่นักเรียน ผู้ปกครองและตรวจเยี่ยมความพร้อมของโรงเรียน เพื่อให้รับมือกับสถานการณ์ฝุ่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ และป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพของเด็กให้มากที่สุด


นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย บอกว่า ได้แนะนำแนวทางลดและป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพจาก PM 2.5 เพื่อให้โรงเรียน ครู ผู้ดูแลหรือผู้ปกครอง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ใช้เป็นแนวทางในการลดและป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพจาก PM 2.5 ในสถานศึกษา โดยเน้นย้ำให้มีการปฏิบัติการให้ความรู้ สร้างความเข้าใจแก่นักเรียน ผู้ปกครองและตรวจเยี่ยมความพร้อมของโรงเรียน เพื่อให้รับมือกับสถานการณ์ฝุ่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ และป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพของเด็กให้มากที่สุด


"สำคัญที่สุด คือ การให้ความรู้แก่นักเรียนถึงอันตรายและวิธีการป้องกันตนเองที่ถูกต้อง ติดตามและแจ้งเตือนสถานการณ์ทุกวัน และมีมาตรการ หรือแนวทางปฏิบัติสำหรับสถานศึกษาตามระดับฝุ่นละออง เช่น เมื่อค่า PM 2.5 อยู่ในระดับสีเหลืองส้มควรลดหรืองดกิจกรรมกลางแจ้ง ทั้งการเข้าแถวหน้าเสาธงหรือกิจกรรมพลศึกษา เด็กที่มีโรคประจำตัว หรือเด็กเล็กควรได้รับการดูแลเป็นพิเศษและเฝ้าระวังอาการอย่างใกล้ชิด หรือจัดให้มีห้องปลอดฝุ่นในโรงเรียนสำหรับในส่วนของผู้ปกครองนั้นควรดูแลป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพเด็กเมื่อต้องเดินทางมาโรงเรียน" นพ.สุวรรณชัย บอก


อธิบดีกรมอนามัยได้แนะนำแนวทางและวิธีปฏิบัติของกลุ่มต่างๆ คือ ผู้อำนวยการโรงเรียน 1.ประกาศนโยบายและแนวปฏิบัติการป้องกัน PM 2.5 2.สื่อสารประชาสัมพันธ์การลดและป้องกัน PM 2.5 เกี่ยวกับนโยบายมาตรการแนวปฏิบัติ ให้แก่ครู นักเรียน ผู้ปกครอง รวมถึงบุคลากรภายในโรงเรียน 3.กำหนดมาตรการในการจัดการกรณี PM 2.5 เกินมาตรฐาน ตามระดับความเข้มข้นของสถานการณ์ PM 2.5 และ 4.มีการกำกับติดตามการดำเนินงานอย่างเคร่งครัด


ในส่วนของครู และผู้ดูแลนักเรียน ให้ติดตามและแจ้งเตือนสถานการณ์ PM 2.5 ทุกวัน, สื่อสารข้อมูลสถานการณ์และวิธีการป้องกันตนเองทุกวันและสังเกตอาการนักเรียน, ดูแลเด็กที่มีโรคประจำตัวอย่างใกล้ชิด หากมีอาการผิดปกติให้รีบพาไปพบแพทย์ และดูแลเด็กปฏิบัติตามมาตรการที่กำหนดตามระดับสถานการณ์


ส่วนนักเรียนเองก็ต้องดูแลตัวเอง ด้วยการสวมหน้ากากป้องกันฝุ่นทุกครั้งเมื่ออยู่นอกอาคาร, หากค่าฝุ่นสูง ให้ลดหรืองดกิจกรรมนอกอาคารหรืออยู่นอกห้องเรียนให้น้อยที่สุด, จัดเวรทำความสะอาดห้องเพื่อลดการสะสม PM 2.5, สังเกตอาการตนเอง หากพบว่ามีอาการผิดปกติส่วนแกนนำนักเรียน เป็นนักเรียนอาสาสมัครช่วยแจ้งสถานการณ์ ดูแลสุขภาพเพื่อนนักเรียน รวมถึงแจ้งเหตุการณ์ปัญหาฝุ่นในชุมชน บ้านเรือน และโรงเรียนด้วย


ด้าน ดร.วีระ แข็งกสิการ รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ บอกว่า ได้ประกาศจัดตั้งศูนย์ประสานงานเพื่อเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 เพื่อให้หน่วยงานและสถานศึกษาใช้เป็นแนวทางการปฏิบัติ ประกอบด้วย 2 มาตรการ คือ 1.มาตรการเร่งด่วน เช่น ให้หน่วยงานที่กำกับดูแลสถานศึกษาทั้งของรัฐและเอกชน และสถานศึกษา ติดตามสถานการณ์และตรวจสอบคุณภาพอากาศประเทศไทยทางเว็บไซต์ air4thai.pcd.go.th หรือแอปพลิเคชัน Air4thai ของกรมควบคุมมลพิษเป็นประจำทุกวัน


หากพบว่าคุณภาพอากาศอยู่ในเกณฑ์มีผลกระทบต่อสุขภาพให้พิจารณาเปิด-ปิดสถานศึกษาตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยปีการศึกษาการเปิดและปิดสถานศึกษา พ.ศ.2549 และระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยปีการศึกษา การเปิดและปิดสถานศึกษา (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2558 และให้สถานศึกษา รวมทั้งผู้ปกครอง และนักเรียนปฏิบัติตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด ในกรณีที่มีค่าฝุ่น PM 2.5 สูงเกินมาตรฐาน และ 2. มาตรการระยะยาว รณรงค์ให้นักเรียน นักศึกษา ผู้บริหาร ครู อาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา เดินทางโดยระบบขนส่งมวลชนแทนการใช้รถยนต์ส่วนตัว หรือวางแผนการเดินทางโดยใช้รถยนต์ร่วมกัน


รวมทั้งหน่วยงานและสถานศึกษา รณรงค์และสร้างแรงจูงใจให้ดำเนินกิจกรรมที่เกี่ยวกับการดูแลรักษาต้นไม้ รวมถึงการเพิ่มและจัดการพื้นที่สีเขียวเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และให้ความสำคัญกับการเพิ่มพันธุ์ไม้ฟอกอากาศและจัดการเรียนการสอนเกี่ยวกับอนามัยสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เกิดความตระหนักรู้ จิตสำนึกที่ดีและมีส่วนร่วมในการควบคุม ป้องกัน แก้ไขและลดปัญหา อันจะนำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน.

Shares:
QR Code :
QR Code