ห่วงปัญหาเด็กเตินยา แนะสังเกตพฤติกรรมลูก

ที่มา : MGR Online 


วิธีสังเกตพฤติกรรมลูกข้องแวะยาเสพติด thaihealth

แฟ้มภาพ


จิตแพทย์ห่วงปัญหา "เด็กเดินยา" เหตุอายุน้อย ขาดวุฒิภาวะ ถูกล่อลวงง่าย ชี้คนใกล้ชิด "เพื่อนบ้าน-โรงเรียน-ญาติ" มีโอกาสทั้งหมด แนะวิธีสังเกตพฤติกรรมลูกเอี่ยวยาเสพติด วอนพ่อแม่อย่าโทษตัวเอง


นพ.กิตต์กวี โพธิ์โน ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจิตเวชนครพนมราชนครินทร์ กล่าวถึงกรณีข้อมูลการนำเด็กอายุ 7 ขวบมาเป็นเด็กเดินยา ว่า เด็กเล็กยังขาดความยับยั้งชั่งใจ และขาดวุฒิภาวะในการพิจารณา จึงถูกล่อลวงได้ง่าย สิ่งสำคัญคือ พ่อแม่ต้องสังเกตพฤติกรรมลูก โดยเฉพาะเด็กเล็กอายุไม่ถึง 10 ปี โดยอาจสังเกตได้จากพฤติกรรมการรับประทานอาหาร กินข้าวน้อยลง กระวนกระวายมากขึ้น ที่สำคัญมีเงินซื้อของเล่นใหม่ๆ ทั้งที่พ่อแม่หรือญาติไม่ได้ซื้อให้ ประกอบกับร่างกายซูบผอม นอนหลับน้อยลง และหงุดหงิดง่าย ก้าวร้าวกับพ่อแม่ เป็นต้น หากพบพฤติกรรมเหล่านี้ต้องพูดคุยกับลูก


"พ่อแม่ต้องเข้าใจว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นความเสี่ยงที่เกิดขึ้นได้ ไม่ใช่ความผิดของพ่อแม่ เพราะบางคนมักโทษตัวเอง กลายเป็นโรคซึมเศร้า ความจริงคือเราต้องมีจิตใจมั่นคง เพราะพวกเขายังเด็กย่อมถูกล่อลวงได้ แต่เราสามารถแก้ไขได้ เพียงแต่หากพ่อแม่รับฟัง เพราะลูกอยากคุย อยากมีคนช่วยเหลืออยู่แล้ว ซึ่งพ่อแม่สามารถโทรปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิต 1323 หรือปรึกษาได้ที่ศูนย์ให้คำปรึกษาปัญหาสารเสพติดตามโรงพยาบาลทุกแห่ง" นพ.กิตต์ทวี กล่าว


นพ.กิตต์กวี กล่าวว่า สำหรับกรณีเด็กเล็กที่ถูกหลอกให้เดินยานั้น สิ่งที่ต้องระวังคือ ผู้ใกล้ชิด ทั้งเพื่อนบ้าน หรือโรงเรียน หรือแม้แต่ญาติก็มีโอกาสทั้งนั้น จึงต้องระมัดระวังและสังเกตพฤติกรรมเด็กด้วย ทั้งนี้ ปัญหายาเสพติดพบได้ทุกช่วงวัย อย่างที่โรงพยาบาลจิตเวชนครพนมฯ เคยพบอายุน้อยสุดระหว่าง 12-13 ปี แต่ส่วนใหญ่จะพบในอายุ 18-30 ปี ขณะเดียวกันเคยพบผู้เสพที่อายุมากสุดคือ 60 ปีก็มี เนื่องจากเพื่อนท้าทายให้ลองเสพ แต่ขณะนี้ได้เข้ามาบำบัด ซึ่งอยากบอกว่า ทุกช่วงอายุมีความเสี่ยงติดยาเสพติดได้ทั้งนั้น อยู่ที่ว่าจะมีสติรับมือได้หรือไม่


 

Shares:
QR Code :
QR Code